29 พ.ค. 2020 เวลา 03:44 • ท่องเที่ยว
ที่มาของอาชีพมัคคุเทศก์ เริ่มขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่19 เมื่อบริษัทโทมัส คุก (Thomas Cook) จัดนำเที่ยวโดยทางรถไฟในประเทศอังกฤษ และต่อมาได้ขยายไปในที่อื่น ๆ ด้วย ซึ่งการนำเที่ยวให้แก่คนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จำเป็นต้องมีมัคคุเทศก์คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ จึงมักจะจัดหาคนที่มีความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่นั้นไว้คอยอธิบายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑:๒)
สำหรับประเทศไทยอาชีพมัคคุเทศก์แพร่หลายขึ้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจผู้เกี่ยวข้องในวงการทหาร สงครามเวียดนามมีผลทำให้ทหารอเมริกันเป็นจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทยทั้งที่มาอยู่ประจำและที่มาพักผ่อนจากการรบ ซึ่งมีผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีบริษัทนำเที่ยวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ แม้สงครามเวียดนามจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ยังคงมีมากขึ้น เนื่องจากความสะดวกในการเดินทาง นอกจากจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ ทำให้เกิดความต้องการมัคคุเทศก์ที่รู้ภาษาต่างๆ
ปัจจุบันได้มีการขยายการอบรมมัคคุเทศก์ไปยังสถาบันการศึกษาส่วนภูมิภาคด้วย โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์ หลักสูตรประเภทต่าง ๆ มีการอบรมและทดสอบความสามารถเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบอาชีพที่ได้มาประชุมพบปะกัน
นิยามอาชีพ : นำนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มคณะเพื่อชมสถานที่ต่าง ๆ หรือทัศนาจรตามแผนการที่กำหนดไว้ หรือตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ดูแลอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบาย เดินทางไปพร้อมกับนักท่องเที่ยวเพื่อนำชม และศึกษาสถานที่ต่าง ๆ อธิบายเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ อธิบายจุดที่น่าสนใจทั้งหมด และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว ตอบคำถามของนักทัศนาจรและให้ข่าวสารหรือความรู้อื่น ๆ ตามที่ต้องการ
ลักษณะของงานที่ทำ : ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ จะต้องศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นำเที่ยว รวมทั้งความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จารีตประเพณี วัฒนธรรม วางแผนกำหนดเส้นทาง จัดกำหนดการนำเที่ยวให้เหมาะสมกับฤดูกาลและระยะเวลา ติดต่อสถานที่พักแรม หรือเตรียมอุปกรณ์เพื่อการพักแรมในสถานที่ที่จะนำเที่ยว นำนักท่องเที่ยวชมสถานที่ และบรรยายให้นักท่องเที่ยวได้ทราบความเป็นมาของสถานที่และท้องถิ่น แหล่งธรรมชาติที่น่าชมและน่าสนใจ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเป็นอยู่ของประชาชน จัดการเรื่องที่พักแรม และดูแลให้ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในระหว่างการนำเที่ยว โดยพยายามจัดการให้บริการที่ต้องสร้างความพอใจ และต้องมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
สภาพการจ้างงาน : ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนประจำ หรือ ค่าจ้างเป็นเที่ยว ในการพานักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยว ซึ่งจะคิดค่าจ้างเป็นรายวันเฉลี่ยประมาณวันละ 1,500 – 3,000 บาท (ขั้นต่ำ1,000บาท ตามข้อกำหนด) และอาจจะได้รับค่าตอบแทนถึง 1000,000 บาท เป็นค่านายหน้าจากบริษัท หรือร้านที่นักทัศนาจรมาซื้อของที่ระลึก
ผู้ทำงานมัคคุเทศก์มีกำหนดเวลาทำงานที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับโครงการ และแผนการนำเที่ยวซึ่งกำหนดไว้ในแต่ละรายการ ผู้ปฏิบัติงานนี้จะต้องผ่านการอบรมวิชาชีพมัคคุเทศก์ และมีความรู้ภาษาต่างประเทศซึ่งสามารถใช้งานได้ดี
สภาพการทำงาน : มัคคุเทศก์ จะทำงานตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการนำเที่ยวมีระยะเวลาตั้งแต่ 1วัน ถึง3หรือ4สัปดาห์ และในขณะพานักท่องเที่ยวทัศนาจรต้องดูแลนักท่องเที่ยวตลอดเวลา นำนักทัศนาจรหรือ นักท่องเที่ยว ตั้งแต่คนเดียวจนถึงเป็นกลุ่ม หรือกลุ่มใหญ่ไปชมสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดตามที่กำหนดไว้ในแผนการนำเที่ยว การเดินทางอาจจะมีทั้งระยะใกล้ ไกล อาจใช้ยานพาหนะทุกประเภท
คุณสมบัติ : 1. พูดภาษาต่างประเทศได้
2. มีความรู้ทั่วไป และเป็นผู้ที่ขวนขวายหาความรู้สม่ำเสมอ
3. รักการเดินทางท่องเที่ยว และงานบริการ ปรับตัวได้ และเป็นนักแก้ไขปัญหาได้ดีในทุกสถานการณ์
4. มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม และมีลักษณะอบอุ่นโอบอ้อมอารีเป็นที่ไว้วางใจของผู้เดินทางร่วมไปด้วย
5. มีความเป็นผู้นำ มีความกล้า มีความรอบคอบและไม่ประมาท
6. ทัศนคติดี ร่าเริง มีความเสียสละซื่อสัตย์ ซื่อตรง และอดทน
7. สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มีไหวพริบและปฏิภาณดี
8. มีความคิดสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
9. เป็นนักสื่อสารที่ดี รักการอธิบาย และการบรรยายความรู้ต่าง ๆ
10. เป็นนักจัดเก็บข้อมูลที่ดีทั้งข้อมูลการท่องเที่ยว ความนิยมของลูกค้า และรายชื่อลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว
 
ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : มัคคุเทศก์ท้องถิ่น
เป็นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ ชั้นมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า และได้รับการอบรมเพิ่มเติม เพื่อรับวุฒิบัตร
มัคคุเทศก์นำเที่ยวชาวต่างประเทศ
ปัจจุบันเป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ต้องเข้ารับการ อบรม และมีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากสถาบันที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การรับรอง หรือ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะ หรือสาขาวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ : ความก้าวหน้าในอาชีพนี้ไม่ได้วัดกันที่ตำแหน่ง แต่สามารถวัดได้จากความสามารถทางด้านภาษา ความอดทน ความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ผู้ที่สนใจต้องการประกอบอาชีพนี้สามารถติดต่อได้ที่บริษัทจัดท่องเที่ยว เมื่อมีประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายข้อมูลทางด้านการท่องเที่ยวได้มาก และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ก็สามารถเปิดบริษัทเองได้
*หมายเหตุ บทความอื่นๆ ถูกย้ายไปที่เพจ Guide Talk แล้วนะคะ
สามารถเข้าไปติดตามอ่านได้ที่หน้าเพจตามลิงค์นี้เลยค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
: สำนักงานธุรกิจการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์
: สาขาการจัดการการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยรังสิต
: มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตกรุงเทพฯ
โฆษณา