29 พ.ค. 2020 เวลา 05:18
"สุวิทย์ เมษินทรีย์" เสนาบดีประจำกระทรวงคนแรก นักยุทธศาสตร์มือโปร!
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.)
โลกใบใหม่หลังโควิด -19 โฉมหน้าเป็นอย่างไร มวลมนุษยชาติทุกคน
ต้องสละเวลาเปิดอ่านหนังสือ “โลกเปลี่ยน คนปรับ : หลุดจากกับดัก
ขยับสู่ความยั่งยืน”
เป็นการทิ้งทวนบรรจงเขียนเล่มสุดท้าย ของดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
เจ้ากระทรวง อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กระทรวงน้องใหม่ อันดับที่ 20 สถาปนาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562
เน้นขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย สร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม
เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันบนเวทีโลก
ผ่านด่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีประจำสำนัก
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 
งานปฏิรูปไม่ต้องพูดถึง..มันอยู่ในสายเลือด เพราะอยู่ในทีมขับเคลื่อน
ปฏิรูปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
หนึ่งในทีมเศรษฐกิจสมัย “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นหัวหน้าทีม
เศรษฐกิจดึงมาร่วมหัวจมท้ายด้วย
ชีวิตวัยเรียน...คว้าปริญญา 3 ใบ “ด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์”
เปิดวิธีคิด...ฐานวิทยาศาสตร์ “เภสัชศาสตร์บัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล”
ขยายมุมมอง..เชิงสังคมศาสตร์
“บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การตลาด) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ต่อยอด...การตลาด ในระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น
ประเทศสหรัฐอเมริกา “Ph.D. in Marketing: Kellogg School of Management, Northwestern University. USA”
เป็นลูกหม้อของ ฟิลิป คอตเลอร์ “Philip Kotler” ศาสตราจารย์กิตติคุณ
ด้านการตลาดระหว่างประเทศ
และร่วมเขียนหนังสือด้านการตลาดกับปรมาจารย์คอตเลอร์ และ
ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “The Marketing of Nations: A Strategic
Approach for Building the National Wealth”
เมื่อเอาสปอร์ตไลท์ไปส่องของสะสมแสนรักของ “ดร.สุวิทย์”
ฉายฐานรากทางความคิด (Mindset) นักยุทธศาสตร์มือโปร!..ที่วางส่วน
ผสมระหว่าง “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ การศึกษาในยุคนิว นอร์มอล
(New Normal)” ได้อย่างลงตัว
สะสม “วัตถุโบราณ” กว่าร้อยชิ้น
มีทั้งพระพุทธรูปสมัยทวารวดี เทวรูปอินเดีย พระพิฆเนศเขมร ศิวลึงค์เขมร
จานชามสมัยสุโขทัย ปลาไม้โบราณจากพม่า เสาหินจีน รูปปั้นควายสำริด
กระเบื้องเขมร ชิ้นส่วนเสลี่ยงและคานโบราณ
มองว่าการสะสมของเก่า นอกเหนือความงามเชิงศิลปวัตถุแล้ว ยังเป็นเรื่อง
ของพลังศรัทธา ปัญญา และเงื่อนไขทางการเงิน ที่ใช้เวลาเก็บเล็กผสม
น้อยทยอยสะสมมานับสิบปี ๆ
จากความรักงานศิลปะที่เกิดขึ้นในสมัยวัยเด็ก ช่วงประถมศึกษาปีที่ 5-6
เริ่มต้นด้วยงานปั้นพระพุทธรูป
ขณะที่เรียนเภสัชฯ มหิดล ได้ปั้นปราสาทนครวัดตามจินตนาการ
จนอาจารย์เอ่ยปากขอผลงานปั้นไปตั้งโชว์ที่บ้านจนถึงทุกวันนี้
แล้วช่วงเวลาที่เข้ามาเติมเต็มโลกแห่งประสบการณ์เรียนรู้ จากการตั้ง
คำถาม..วัตถุโบราณและโบราณสถานต่าง ๆ มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร?
ตอนทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างชาติที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมวัตถุโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
โดยศูนย์การค้า ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก (River City Bangkok) เป็นสถานที่หนึ่งที่ชอบ
ไปเดิน ได้ดูทั้งของเก่าและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับของเก่าแต่ละชิ้น จากเจ้าของร้าน
“Wow Amazing!!” ก่อนการตัดสินใจว่า..สะสมดีหรือไม่!?
“ผมเป็นพวกสะสมของเก่าแบบสะเปะสะปะ ไม่มี Theme ยังห่างไกลจาก
นักสะสมจริง ๆ”
ในทุกเรื่องราวการเรียนรู้จากวัตถุโบราณผ่านคำบอกเล่าของเหล่าผู้รู้ และ
การค้นคว้าข้อมูล
ทำให้ค้นพบหลักแห่งความสมดุลระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์
มีฐานรากจากความเชื่อในพลังศรัทธาอย่างแรงกล้า และปัญญา
ศาสตร์ทุกศาสตร์บนโลกนี้ สามารถนำมาต่อยอดทางความคิด
ไต่ระดับทางความรู้ได้
เลยทำให้เข้าใจ “เศรษฐกิจพอเพียง” ความพอดีคืออะไร
พอประมาณคืออะไร ความลงตัวคืออะไร
ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือ “เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิม” ว่าด้วยการคืนความสมดุล
ให้กับโลกธรรมชาติ และการปรับความสมดุลในตัวเอง
“ระดับปรมาจารย์ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี พร้อมศิลปินแห่งชาติอีก 3-4 ท่าน
เคยนั่งตีวงเอาหนังสือผมมานั่งถก วิจารณ์ สนุกสนาน”
ส่วนงานเขียนล่าสุดของ “ดร.สุวิทย์” เป็นหนังสือฉบับอีบุ๊ค (E-Book)
“โลกเปลี่ยน คนปรับ : หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน”
เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกหลังโควิด
โลกเปลี่ยน คนปรับ : หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน (ฉบับอีบุ๊ค)
บทตบท้าย.. “พิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ และวาระขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ไทย” วาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องกลับมาทบทวนร่วมกันใหม่...มองโลก
ไปข้างหน้า...อนาคตประเทศไทยจะเดินอย่างไร?
เป็นของขวัญในวันสถาปนา กระทรวง อว. ครบรอบ 1 ปี (วันที่ 2 พฤษภาคม)มอบให้
คนไทยทุกคนได้ดาวน์โหลดหนังสือมาอ่านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ผมไม่ได้เขียนมา 7-8 ปี ทำงานมาตลอด แต่พอโควิดระบาด Work From Home
ออนไลน์ทำงานจากที่บ้านหรือไม่ก็กระทรวง ประชุม ติดตามงานได้
ทันที ไม่ต้องเดินทาง มองบวกโควิดไม่ใช่ตัวร้าย แต่มันมาปิดเกมให้เราเร็วขึ้น”
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป..
การกลับมาตื่นตี 3-4 เป็นแรงผลักดัน (Passion)ให้มานั่งเขียนหนังสือปรับแก้ เพิ่มเติม
ก่อนถึงเวลาทำงานหลัก ตอนเย็นหลังกลับจากที่ทำงานก็มานั่งเขียนต่อ ส่วนวันเสาร์
อาทิตย์อยู่หน้าจอเกือบทั้งวัน
ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน อีบุ๊คฉบับสมบูรณ์ได้ฤกษ์เผยแพร่บนสื่อออนไลน์
ส่วนฉบับรูปเล่มอยู่ระหว่างการปรับแก้ต้นฉบับ
การปรับแก้ต้นฉบับ
ได้โอกาสเปลี่ยนนิสัย ฝึกระเบียบวินัย โดยเฉพาะการออกกำลังทุกวัน
อย่างน้อยวันละ 30 นาที เลือกตามโปรแกรมการออกกำลังกายต่าง ๆ
ทางโทรทัศน์ เป็นการให้รางวัลตัวเองว่า..ทำงานเสร็จแล้ว!
เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เน้นกินแต่พอดี เลิกของหวานเด็ดขาด เมื่อก่อน
เวลาประชุมจะมีกาแฟ ขนมหวานเสิร์ฟ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เอาเลย ทนได้
“ไม่น่าเชื่อว่าจะเปลี่ยนนิสัยตัวเองได้ ตอนนี้ผมผอมลง สุขภาพดีขึ้น”
นี่ช่างเป็นช่วงเวลานาทีทอง!! ของ “ดร.สุวิทย์” เจ้ากระทรวง อว.
ฟิตร่างกายให้แข็งแรง แข็งแกร่ง งัดยุทธศาสตร์เชิงรุก ปรับจูน Mindset,
Reset การอุดมศึกษาไทย ถึงเวลาเร่งปฏิรูปประเทศไทยหลังโควิด
เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันบนเวทีโลกอย่างสง่างาม.. ^_^ ^_^
Credit.. ^_^ ^_^
Who..@ChillDay ฉบับที่ 6 “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์”
ประจำวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
ลิขิตอักษร : หลานยายสัมฤทธิ์ ศิษย์ตาสาคร ฮรี่ ๆ ๆ
ชักภาพ : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา