30 พ.ค. 2020 เวลา 17:00 • การศึกษา
ส่วนประกอบรีเลย์ กับวงจรแยกส่วนอย่างง่าย EP.2
หลังจากที่ได้รู้จักหลักการทำงานของรีเลย์ไปจากตอนที่แล้ว บทความนี้จะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักชื่อแต่ละขาของตัวอุปกรณ์กันก่อนดีกว่า
ปกติแล้ว รีเลย์จะแบ่งส่วนประกอบออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนประกอบและชื่อขาของรีเลย์
1) ฝั่งขดลวด (coil) จะมี 2 ขา เนื่องจากขดลวดไม่มีทิศทางการต่อของวงจร และไม่มีอะไรที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ขาที่อยู่ฝั่งขดลวด จึงเรียก 2 ขานี้ว่า "ขา coil"
2) ฝั่งหน้าสัมผัส (contact) อาจมี 2 หรือ 3 ขา ถ้าฝั่งนี้มีอยู่ 3 ขา จะมีชื่อขา ดังนี้
2.1) ขา common หรือขาร่วม หมายถึง ขาที่หน้าสัมผัสจะไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ไม่ว่าฝั่งขดลวดจะมีอำนาจแม่เหล็กหรือไม่ก็ตาม
2.2) ขา NO ซึ่งย่อมาจาก Normally Open หมายถึง ขาที่ไม่ติดกับหน้าสัมผัสในขณะที่ขดลวดไม่มีอำนาจแม่เหล็ก ทำให้ไม่ครบวงจร หรือ open circuit และจะติดกับหน้าสัมผัส เมื่อขดลวดมีอำนาจแม่เหล็ก
2.3) ขา NC ซึ่งย่อมาจาก Normally Closed หมายถึง ขาที่ติดกับหน้าสัมผัส ในขณะที่ขดลวดไม่มีอำนาจแม่เหล็ก ทำให้ครบวงจร หรือ closed circuit และจะไม่ติดกับหน้าสัมผัส เมื่อขดลวดมีอำนาจแม่เหล็ก โดยถ้าฝั่งหน้าสัมผัสมีแค่ 2 ขา จะไม่มีขา NC
รีเลย์แบบ 4 ขา
รีเลย์มีประโยชน์ที่สำคัญ คือ ใช้สร้างวงจรแยกส่วน หรือทางไฟฟ้าเรียกว่า วงจร isolate วงจรนี้จะแยกฝั่งสัญญาณไฟต่ำและฝั่งกำลังไฟสูงออกจากกัน ทำให้มีประโยชน์ คือ กระแสไฟฟ้าจากวงจรฝั่งกำลังไฟสูง เช่น ไฟบ้าน 220 โวลต์ ไม่สามารถกระโดดมาทำอันตรายวงจรฝั่งสัญญาณไฟต่ำ เช่น บอร์ดดิจิตอลที่ใช้ไฟ 5 โวลต์ได้
รูปการต่อวงจรแยกส่วน (isolate)
การต่อวงจร isolate จะต่อวงจรของฝั่งสัญญาณไฟต่ำเข้ากับฝั่งขดลวดของรีเลย์ เพื่อใช้เป็นตัวควบคุม และต่อวงจรของฝั่งกำลังไฟสูงเข้ากับฝั่งหน้าสัมผัสของรีเลย์ เพื่อไปขับโหลดที่ต้องการ เช่น หลอดไฟ ให้ทำงาน
จากรูปด้านบน เมื่อสวิตซ์ด้านซ้ายบนยังเปิดอ้าอยู่ ทำให้วงจรฝั่งสัญญาณไฟต่ำยังไม่ครบวงจร ส่งผลให้ขดลวดยังไม่แสดงอำนาจแม่เหล็ก จึงทำให้หน้าสัมผัสของรีเลย์ในฝั่งกำลังไฟสูงยังอยู่ที่ขา NC ทำให้วงจรฝั่งกำลังไฟสูงไม่ครบวงจร หลอดไฟจึงไม่สว่าง
รูปวงจร isolate เมื่อขดลวดทำงาน
และจากรูปด้านบน เมื่อสวิตซ์ด้านซ้ายบนถูกปิดลง ทำให้วงจรฝั่งสัญญาณไฟต่ำครบวงจร ส่งผลให้ขดลวดสามารถแสดงอำนาจแม่เหล็ก จึงทำให้หน้าสัมผัสของรีเลย์ในฝั่งกำลังไฟสูงย้ายมาอยู่ที่ขา NO ทำให้วงจรฝั่งกำลังไฟสูงครบวงจร หลองไฟจึงติดสว่าง
การนำวงจร isolate ไปประยุกต์ใช้งาน
วงจร isolate นี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับระบบเปิด-ปิดไฟภายในบ้านโดยควบคุมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จากรูปด้านบน จะเห็นว่าสวิตซ์ด้านซ้ายบนถูกเปลี่ยนเป็นระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้สามารถควบคุมการเปิด-ปิดไฟผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์จากภายนอกได้
หวังว่าผู้อ่านทุกคนคงได้ความรู้จากการใช้งานรีเลย์ไม่มากก็น้อย และถ้าใครมีคำถามสงสัย หรือมีข้อติดชมบทความ ก็สามารถเขียนแสดงความคิดเห็นไว้ด้านล่างกันได้เลย ผู้เขียนคนนี้จะตอบคำถามและน้อมรับทุกความคิดเห็นมาพัฒนาการเขียนบทความครั้งต่อไป ขอบคุณฮะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา