29 พ.ค. 2020 เวลา 13:30 • การศึกษา
สามีแอบเอาที่ดินสินสมรสไปขายฝาก อาจเป็นความผิดคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้และยักยอกทรัพย์ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องสินสมรสแล้ว หลายคนน่าจะเข้าใจตรงกันว่าเป็นทรัพย์สินที่สามีภรรยาได้มาระหว่างการสมรส
และไม่ว่าฝ่ายใดจะหามาได้ก็ตาม กฎหมายก็ให้ถือว่าสามีภรรยาต่างมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นฝ่ายละครึ่งหนึ่ง
แล้วสินสมรสซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นสิทธิของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น มีความเกี่ยวข้องกับความผิดอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้และยักยอกทรัพย์ได้อย่างไร
เราคงต้องย้อนไปดูถึงที่มาของคดีนี้กัน
สามีภรรยาคู่หนึ่ง ใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศด้วยการลงทุนทำไร่ข้าวโพด
ต่อมา สามีได้ย้ายกลับมาประเทศไทยโดยที่ยังไม่ได้หย่าขาดกับภรรยา
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จ่ายเงินให้แก่ทั้งคู่เพื่อเป็นค่าชดเชยจากการเลิกทำไร่ข้าวโพด โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรส จึงถือว่าเป็นสินสมรส
ภรรยาได้ส่งเงินค่าชดเชยดังกล่าวให้แก่สามี แต่สามีกลับนำเงินไปซื้อที่ดินโดยจดทะเบียนใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของแต่เพียงคนเดียว
ต่อมาภรรยาได้กลับมาประเทศไทย และได้ฟ้องหย่าสามี..
ในขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น สามีได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับผู้อื่น
เมื่อภรรยาทราบเรื่อง จึงได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญากับสามี
ซึ่งคดีนี้ ศาลจะตัดสินให้สามีต้องรับโทษหรือไม่ และได้ให้เหตุผลในการพิจารณาคดีไว้อย่างไรบ้างนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเลยทีเดียว..
1) การที่สามีนำเงินค่าชดเชยซึ่งเป็นสินสมรสไปซื้อที่ดิน แม้จะจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวก็ตาม
ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
2) ขณะที่คดีฟ้องหย่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัว การที่สามีได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินไว้กับผู้อื่น จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ
1
แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวก็ตาม ถือว่าภรรยาอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องสามีแล้ว
 
จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
การกระทำของสามีจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
(ความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ มีหลักอยู่ว่า “ผู้ใดเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้..
..ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้ในจำนวนซึ่งไม่เป็นความจริง ต้องระวางโทษ..)
3) เมื่อที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างสามีกับภรรยา ทั้งคู่จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าว
การที่สามีนำที่ดินไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับผู้อื่น โดยภรรยาไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากภรรยาก่อน รวมถึงไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด
 
การกระทำของสามีจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย
4) คดีนี้เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งมีโทษหนักสุด โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557)
อธิบายเพิ่มเติม:
ความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หมายถึง ความผิดที่ผู้กระทำมีเจตนาทำความผิดเดียว แต่เข้าองค์ประกอบของความผิดหลายข้อหา
อย่างเช่นคดีนี้ สามีมีเจตนาเอาที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสไปขายฝาก โดยที่ภรรยาไม่ได้ยินยอม ซึ่งเป็นทั้งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และยักยอกทรัพย์ ในคราวเดียวกัน
ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลงโทษในความผิดที่มีโทษหนักที่สุด
โดยความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ส่วนความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ระวางโทษไม่เกิน 3 ปี
.
.
เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า “อะไรที่เป็นของเมีย.. อย่าไปยุ่ง.. 😂”
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ Facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา