29 พ.ค. 2020 เวลา 15:39
แนะนำหนังสือ
Dominance and Affection: The Making of Pets
เขียนโดย Yi-Fu Tuan (1984)
Yi-Fu Tuan เริ่มต้นด้วยคำถามว่าด้วยการนิยามความเป็นจริงของมนุษย์ ซึ่งมักถูกมองในมิติที่สัมพันธ์กับอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจของการสถาปนาตัวเหนือสิ่งอื่น แต่ Tuan เน้นย้ำว่า มนุษย์ยังมีความเป็นจริงอีกมิติหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความรัก โดยเฉพาะความหมายของความรักในแง่ ความผูกพันรักใคร่ (affection) ซึ่งเป็นความรักที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศเข้ามาเจือปน
สำหรับ Tuan ความผูกพันรักใคร่ดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการควบคุม (dominance) ที่สัมพันธ์กับมิติของอำนาจ แต่ความผูกพันรักใคร่คือส่วนสำคัญที่ช่วยเจือจางระดับความรุนแรงของการครอบงำเสียมากกว่า
ในแง่นี้ หากผลผลิตของการควบคุมคือเหยื่อผู้ถูกกระทำ (victim) ซึ่งเป็นผลมาจากการทารุณและการเอารัดเอาเปรียบ ผลผลิตของการควบคุมที่ผสมเข้ากับความผูกพันรักใคร่ก็คือ “สิ่งอันเป็นที่รักใคร่” (pet) ซึ่งเป็นผลมาจากการเจือจางความรุนแรงด้วยความผูกพันรักใคร่
pet จึงเป็นวัตถุของความรักที่ประกอบขึ้นจากทั้งมิติของการควบคุมและมิติด้านความผูกพันรักใคร่
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ Tuan คำว่า pet ก็ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงลงไปที่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น สำหรับ Tuan แล้ว pet หมายถึงผลผลิตของความสัมพันธ์ที่มีลักษณะควบคุมพร้อม ๆ กับที่มีความผูกพันรักใคร่ผสมลงไปด้วย วัตถุของความรักที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเป็นการควบคุมเพื่อลดทอนวัตถุเหล่านั้นให้เป็นไปในแบบที่มนุษย์ต้องการให้เป็น
ดังตัวอย่างที่ Tuan ใช้อธิบายลักษณะของสิ่งอันเป็นที่รักใคร่ในหลายกรณี เช่น การสร้างสวนหย่อมที่ย่นย่อขนาดของโลกธรรมชาติขนาดใหญ่ให้อยู่ในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร การสร้างน้ำพุที่ต้องเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำจากที่ต้องไหลลงสู่ที่ต่ำให้พุ่งทะยานขึ้นสู่ด้านบน หรือการดัดแปลงแต่งตัดต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ให้อยู่ในกระถางขนาดเล็กที่เรียกว่า “บอนไซ” รวมถึงตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงผลผลิตความสัมพันธ์ที่มีลักษณะของการควบคุมและความผูกพันรักใคร่ก็คือ “สัตว์เลี้ยง”
Reference
Tuan, Yi-Fu. (1984). Dominance and Affection: The Making of Pets. New York: Yale University.
โฆษณา