30 พ.ค. 2020 เวลา 00:22 • การศึกษา
ลม ๗ จำพวก
คัมภีร์ลม และคัมภีร์ปฐมจินดากล่าวเรื่องลมทั้ง ๗ ไว้ ๒ รูปแบบ
๑) ลมทรางประจำวันเกิด
๒) ลมภายนอกที่เรียกลมจรเป็นสาธารณแทรกเข้าภายในกาย
ลมทั้ง ๒ จำพวกนี้มีอิทธิพลต่อการเจ็บป่วยด้วยเหตุใกล้(ติดตัวมา) เหตุไกลเป็นลมเพลมพัดจากภูมิเราตกด้วยทำเหตุในมูล ๘ ประการ
ลมทรางประจำวันเกิด ๗ จำพวก
ความเดิมอันว่าลมทั้งหลายเกิดในมนุษย์ชายหญิงตั้งแต่ประสูติจากครรภ์ บังเกิดลมทราง ๗ จำพวก ครั้นสิ้นอายุทรางล่วงเข้า ๑๒,๑๓ขวบจึ่งบังเกิดลม ๘๐ จำพวก เรามาตีความลมที่ติดตัวเรามาตั้งแต่คลอดมีลมประจำเจ้าเรือนทั้ง ๗ เรียกลมทราง และลมที่จรเข้ามาได้อีก ๗ ประเภทเรียกลมจรประจำวันทั้ง ๗ ดังนี้
ลมทรางประจำวันเกิด ๗ วัน
๑.วันอาทิตย์ ซางเพลิง มีลมทรางชื่อ ประวาตคุณ จับให้เกิดเป็นลมก้อนดานที่ยอดอก ตั้งเป็นแนวลงไปผ่านช่องท้องลงไปถึงไส้อ่อน
๒.วันจันทร์ ซางน้ำ มีลมทรางชี่อ ลมโกฏฐาสยาวาต ถ้าออกจากตัวแล้วให้เป็นไปต่างๆ คือทำให้ลงนับเวลาไม่ได้แต่ลงไม่มาก ให้จุกแน่นอยู่ในลำคอ กินข้าวกินนมไม่ได้ ให้อาเจียนรุนแรง ให้น้ำลายเหนียว ถ้าน้ำลายข้นเมื่อใดตายเมื่อนั้น
๓.วันอังคาร ซางแดง มีลมทรางชี่อลม อุทรวาตเป็นลมที่ติดท้องมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทำให้ร้องไห้ตั้งแต่อยู่ในเรือนเพลิงไปจนถึง ๓ เดือนแล้วหายไปเอง แก้ด้วยยาก็ไม่หาย ถ้าถอยลงจากศีรษะมาอยู่ทรวงอก และลงมาตั้งอยู่ในนาภีเรียกว่าลมกองใหญ่ พัดขึ้นไปในเส้นตามกระดูกสันหลังขึ้นมาตามหน้าอกลำคอ ขึ้นมาถึงบ้องหู กระหม่อม ถ้าเป็นข้างขึ้นตาย เป็นข้างแรมไม่ตาย สมมุติเรียก ตระบองราหู ตะพั้นไฟ หญิงหรือชายเหมือนกัน
๔.วันพุธ ซางสะกอ มีลมทรางชี่อ สุนทรวาต ตั้งขึ้นตั้งแต่สะดือ ถึงท้องน้อย มักให้เจ็บท้องและท้องขึ้นก่อน แล้วจึงทำให้ลงท้องนัก มักทำให้นอนหลับ ชักเท้ากำมือกำ ท้องขึ้นหน้าเขียว
๕.วันพฤหัส ซางโค มีลมทรางชี่อ ลมหัศคินี เมื่อบังเกิดจับให้ชักให้เท้ากำมือกำ หลังแข็งเหงื่อตก ท้องขึ้น ถ้าเป็นเวลาเช้าให้ระวังถึงเที่ยงตาย ถ้าเป็นเที่ยงจนค่ำแล้วไม่ตาย ท่านห้ามอย่าให้อาบน้ำเช้าเย็น อย่าให้กินอาหารเข้าสุรา
๖.วันศุกร์ ซางช้าง มีลมทรางชี่อ ลมอริต บังเกิดให้คอเขียว ให้ชักเท้ากำมือกำ บางทีให้ชักแต่จำหระซ้าย บางทีให้ชักแต่จำหระขวาให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ร้องไห้ไม่ออก น้ำลายฟูมปาก เมื่อตายแล้วให้ตัวเหลืองดังรดน้ำขมิ้น
๗.วันเสาร์ ซาง โจร มีลมอันชื่อว่าลมกุมภัณฑ์แลบาทยักษ์คู่กัน ซึ่งบังเกิดขึ้นมาประจำทรางโจรนั้นต่อไป ให้แพทย์ทั้งหลายพึงรู้ลักษณะโดยสังเขป อันว่าลักษณะลมกุมภัณฑ์ แลบาทยักษ์ซึ่งบังเกิดนั้น เมื่อจะเกิดให้จับ ตาช้อน ดูสูงหน้าเขียว ให้ชักเท้ากำมือกำหลังแอ่น ให้กัดฟันจับเอา เมื่อกุมารเป็นเพื่อพิษต่างๆ แลลมจำพวกนี้จึงบังเกิดพลอย ด้วยขณะนั้น ถ้ามิดังนั้นก็เกิดเพราะบาดเสี้ยนแลหนาม เป็นบาดแผลเข้าที่ใดๆ ย่อมเป็นไข้ถึงพิฆาฏ จึงเป็นกำเนิดลมกุมภัณฑ์ ลมบาทยักษ์ แลลมจำปราบก็พลอยด้วยดุจกล่าวมาดังนี้
ลมจรประจำวันทั้ง ๗ ที่จรแทรกเข้ามา
๑. ลมกระทำในวันอาทิตย์ ชื่อลมสุมนา บางทีเรียกดานตะคุณ มหาสดมภ์
๒. ลมกระทำในวันจันทร์ ชื่อลม กาละทารี ทำให้ร่างกายเป็นเหน็บเพราะ กินของผิดสำแดงขนมจีนข้าวเหนียวถั่วในวันอาทิตย์
๓. ลมกระทำในวันอังคาร ชื่อลม ฆานทารี ลมนี้มักเกิดลมปัตคาตเข้าแทรก เหตุว่ามักกินมะพร้าวนักมักจับในวันอังคาร(ศัพท์แพทย์ไทย มหิดลคือลมหมู่หนึ่งขึ้นมาจับและใบหูหน้าผาก ให้เจ็บตาและแสบจมูก กินอาหารไม่ได้ให้เย็นเป็นเหน็บ)
๔. ลมกระทำในวันพุธ ชี่อลมจันทรสัง เกิดแก่การอาบน้ำมาก
๕. ลมกระทำในวันพฤหัสบดี ชื่อลมปิงคลา ทำให้หน้าแดง ปวดไปทั่วตัว
๖. ลมกระทำในวันศุกร์ ชื่อลมสหัสรังสี เวลามีอาการเพราะลมอัคนิวาตคุณเข้าแทรก สาเหตุจากกินของหวานจัดและของที่มีมันมาก
๗. ลมกระทำในวันเสาร์ ชื่อลมกุขุง ทำให้มีอาการเจ็บในท้องเพราะกินของมีมัน
การเล่าเรียนเรื่องลมในแต่ละวันอยู่ในส่วน กาลสมุฏฐานร่วมกับอุตุสมุฏฐาน เป็นกิ่งย่อยของจักรวาลในจักราศีวิเศษ
โฆษณา