30 พ.ค. 2020 เวลา 06:56 • สุขภาพ
การสื่อสารในช่วงวิกฤติ ในแบบฉบับสวิส (7 mins read) 🎙🎙🎙
#covid-19 #สวิตเซอร์แลนด์ #การสื่อสาร #สื่อสารมวลชน🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭
และแล้วก็มาถึงวาระครบรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่ที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 🦠 รายแรกในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2563 นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเสียเหลือเกินสำหรับประชาชนทุกภาคส่วนในสวิสประเทศ 🇨🇭แห่งนี้เลย ที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโลก ดังที่รัฐบาลสวิสประกาศไว้ในช่วงปฐมบทของการแพร่ระบาด ว่า “เปรียบเสมือนเรากำลังวิ่งมาราธอน 🏃 กันอยู่ เสียแต่เราไม่รู้ว่า มาราธอนนี้จะสิ้นสุดตอนไหน และตอนนี้เรากำลังวิ่งไปกี่โลแล้ว” แต่จากที่ดูไม่เห็นทางสว่างในเบื้องต้น แต่ในที่สุด .... อย่างไม่น่าเชื่อ สวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายทางแล้ว ภายในระยะเวลา 3 เดือน... อัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อลดลงทุกวัน จากพันเหลือร้อย จากร้อยเหลือสิบ อัตราคนตายเพิ่มขึ้นก็มีน้อยมาก บางวันก็ไม่มีเลย อันนำมาสู่การผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ และประชาชนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ........ ใหม่ (แหม่!!! เกือบตกคำสุดท้ายไปและ) ได้ในระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่ประเทศอื่นยังหน้าดำคร่ำเครียด พี่สวิสแกชิวๆ ผิวปากหล่อๆ แล้วฮะ
หากจะพิจารณาปัจจัยที่ทำให้ #สวิตเซอร์แลนด์ชนะ ก็คงจะมีเหตุผลล้านแปด บนพื้นฐานของคำว่า “รวย!!!” 💵 ที่ทำให้สามารถใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ ได้ดังประสงค์ ดังคำที่ว่า “เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตต้องใช้เงิน” ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการพัฒนาวัคซีน 💉 การเพิ่มจำนวนการตรวจหาเชื้อ (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่ก็ทำการรักษาได้ทันท่วงที และตัวเลขก็ลดลงอย่างน่าตกใจเช่นกัน) การอัดฉีดเงินช่วยเหลือธุรกิจและผู้ประกอบการต่าง ๆ การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันจากต่างประเทศ ยังไม่นับความเป็นพระเวสสันดรที่บริจาคเงินกว่า 500 ล้านฟรังก์ไปให้ความช่วยเหลือทั่วโลก หรือการรับผู้ป่วยจากต่างประเทศมารักษาอีก
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องให้เครดิตกับรัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของสวิตเซอร์แลนด์ 🇨🇭 ในการออกมาตรการป้องกันต่าง ๆ เพราะแม้จะมีเงินเป็นเครื่องมือมากโขแค่ไหน แต่ถ้าโครงสร้างหรือระบบไม่ดี มันก็พังได้เหมือนกัน ดังนั้น การบังคับใช้หรือการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดยิ่งนัก และการที่จะให้มาตรการถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ “การสื่อสาร” 🎤 จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพามาตรการเหล่านี้ไปถึงสาธารณชนและให้ประชาชนเกิดความตระหนักกับมัน เรามาดูกันดีกว่าว่า สวิตเซอร์แลนด์เขามียุทธวิธีสื่อสาร ในรูปแบบต่าง ๆ กันอย่างไร
1. การเตรียมพร้อม - นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลสวิสก็สามารถออกแคมเปญต่าง ๆ ได้ในทันทีอย่างมีรูปแบบ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลสวิสเป็นอัจฉริยะข้ามวัน แต่เป็นเพราะนาย Andre Simonazzi เลขาธิการ ครม.สวิส 🇨🇭ได้เตรียมความพร้อมด้วยการจัดตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสารโควิด-19 และเริ่มทำงานมา 1 เดือนล่วงหน้าแล้ว จึงไม่แปลกใจที่พอมีคนติดเชื้อปุ๊ป แคมเปญและข้อมูลควรรู้ต่าง ๆ ออกปั๊ปเลยจร้า
2. เวลากับความเข้มข้น 🕰 - แน่นอน การใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะมาประกาศแบบแรง ๆ เปรี้ยง ก็จะได้ตายกันไปเลย รัฐบาลสวิสจึงเลือกสื่อสารจากข้อความง่าย ๆ เป็น “ข้อแนะนำ (recommendation)” กับข้อปฏิบัติที่พึงกระทำได้ อาทิ ล้างมือทุกครั้ง ไอปิดปาก รักษาระยะห่าง ไม่จับมือทักทาย และสำคัญที่สุด คือ #stayhome อยู่บ้านนี่แหละ ก่อนที่จะมายกระดับเป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมกันปฏิบัติ และพอถึงเวลาวิกฤติมากขึ้น ไอ้คำเตือนคำขอเหล่านี้แหละ ก็กลายเป็นมาตรการที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามในทันที ระดับความเข้มข้นของการบังคับใช้มาตรการกับช่วงเวลาจึงต้องสอดคล้องกันให้ดี ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจอย่างนึง คือตอนที่นักข่าวสัมภาษณ์นาง Simonetta Sommaruga ประธานาธิบดีสวิส 🇨🇭ว่าทำไมไม่ใช้มาตรการเข้มงวดตั้งแต่เริ่มต้นล่ะ นางตอบกลับมาสั้นๆ ว่า ตอนนั้นสถานการณ์ยังไม่รุนแรง คิดว่าถ้าประกาศไปประชาชนก็จะคิดว่ารัฐบาลตื่นตระหนกและก็คงไม่ปฏิบัติตาม เออ!! จริงของนาง
Poster แจ้งมาตรการของสวิตเซอร์แลนด์
3. หนึ่งทีมบริหารหลากผู้เชี่ยวชาญ - การสื่อสารที่ดีต้องมาจากความน่าเชื่อถือของข้อความ และการที่จะให้ข้อความมีความน่าเชื่อถือได้ ก็ต้องกลับไปที่การสื่อสารที่จะต้องไม่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ทางการสวิสจึงเลือกใช้ทีมสื่อสารทีมเดียวตั้งแต่วันแรกของการแถลงข่าว นั่นคือ “ทีมรัฐบาล” โดยมีนาย Alain Berset รัฐมนตรีมหาดไทยสวิส ในฐานะกำกับดูแลกิจการด้านสาธารณสุขของประเทศเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ดังนั้น ข้อความที่ออกมาจากทางการจึงเป็นเสียงเดียวและทิศทางเดียวกันทั้งหมด (คุมโทนได้ดีมาก) แต่.... สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิชาการสื่อสารมวลชนสวิส คือ ทีมรัฐบาลนี้ ดันประกอบด้วย สมาชิก ครม. ทั้ง 7 คน 👨 👩👨👩👨👩👨(รวมถึงประธานาธิบดี ที่ในงานนี้ทำหน้าที่แค่สมาชิก) ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นทีมใหญ่เอาการ สร้างความวิตกว่า ข้อความที่ออกมาอาจหลากหลายเกินไป เป็นลักษณะที่ว่าเจ๊กลากไป ไทยลากมา แต่กลับไม่เป็นไปตามที่นักวิชาการคิด เพราะอะไร? ไปดูข้อต่อไปกันเลยดีกว่า ....
4. วิธีนำเหนอ - นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันแรกที่ทีมรัฐบาลเริ่มแถลงข่าว 🎤 จวบจนถึงวันนี้ มีการแถลงข่าวไปแล้วกว่า 50 ครั้ง ในจำนวนนี้ น้อยกว่าครึ่งเป็นการแถลงข่าวโดยสมาชิก ครม.สวิส ที่เหลือเป็นการแถลงโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะรัฐบาลตระหนักว่า ผู้เชี่ยวชาญ คือ ผู้ที่ให้ข้อมูลในด้านต่าง ๆ ได้ดีที่สุด และก่อให้เกิดดาวเด่นสำหรับการแถลงข่าวในช่วงสถานการณ์นี้อย่างนาย Daniel Koch ผอ.กองระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขสวิส (Federal Office of Public Health - FOPH) ซึ่งเป็นขาประจำของการแถลงข่าวเพราะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสและการระบาด รวมไปถึงการป้องกันอย่างสม่ำเสมอ และเป็นผู้ที่ต้องออกมาเน้นวลี “การ์ดอย่าตก” ตลอดเวลา ทำให้เกิดกระแสนิยม อารมณ์ประมาณหมอทวีศิลป์บ้านเรานั่นเอง
 
5. วิธีนำเหนอ ภาค 2 📣- ยุทธวิธีที่นำเสนอ จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการและสื่อมวลชนแล้ว พบว่า ทางการสวิสนำเสนอแบบตรงไปตรงมา ให้ข้อมูลครบถ้วนทุกด้าน และโปร่งใส โดยผู้แถลงนำเสนอบนพื้นฐานที่ว่า “stay close to what they know and what the truth is” แปลได้ว่า นำเสนอในสิ่งที่ตัวเองมีความรู้ (เชี่ยวชาญ) และต้องเป็นข้อเท็จจริง ดังนั้น ประชาชนจึงเกิดความรู้สึกว่า ตนรับรู้เท่าๆ กับที่รัฐบาลรู้ ก่อให้เกิดความไว้วางใจ และนำมาสู่ความร่วมมือกับภาครัฐ
Daniel Koch (ซ้าย) ขณะแถลงข่าวกับรัฐมนตรีมหาดไทยสวิส
6. วิธีนำเหนอ ภาค 3 - การจัดสรรวาระการนำเสนอ 📝 ก็นับเป็นสิ่งจำเป็น โดยทีมแถลง ก็มีการแบ่งวันการแถลงออก โดยแยกว่า วันจันทร์💛 พุธ 💚 ศุกร์ 💙 เป็นการประกาศนโยบายและมาตรการภาครัฐ ขณะที่วันอังคาร 💓 พฤหัส 🧡 เสาร์ 💜 เป็นการแถลงข้อมูลควรรู้ หรือรายงานสรุปของแต่ละภาคส่วน หัวข้อจึงแยกกันชัดเจน และไม่สับสน ประกอบกับในแต่ละวัน ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าว่าวันนี้จะแถลงเรื่องอะไร สร้างความสะดวกในการรับฟังของสื่อมวลชนและสาธารณชนทั่วไป
7. อัพทูเดท - โครงสร้างดี วิธีดี พรีเซ้นต์ดี ช่องทางสื่อสารดี คงจะไม่เพียงพอ หากข้อมูลที่นำเสนอไม่ทันสมัย เพราะทุกอย่างต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น ทุกอย่างจึงเกิดขึ้น แบบ real time 🕒 การที่มีแถลงข่าวทุกวันก็ช่วยทำให้ข้อมูลมีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด ขณะที่เว็บไซต์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง FOPH ก็มีการอัพเดทตลอดเวลา คือ เปิดไปตอนไหนก็มีข้อมูลปัจจุบัน ไม่ต้องไปตามค้นหาจากสื่อสายรายทางต่าง ๆ ที่อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ จึงสามารถมั่นใจข้อมูลที่ได้รับได้เลยว่า แม่นยำและทันสมัย
8. เราคือเพื่อนกัน 🤝🤝🤝- อีกประการที่สำคัญที่จะโน้มน้าวความร่วมมือจากสาธารณชนได้ คือ ต้องแสดงให้เห็นว่า ทุกคนคือทีมเดียวและลงเรือลำเดียวในการฝ่ามรสุมลูกนี้ไปด้วยกัน 🚢 ในประเด็นนี้ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างโลซาน หรือฟริบูร์ก ก็มีข้อสังเกตว่า คำศัพท์ที่รัฐบาลสวิสใช้ในการแถลงหรือประกาศใด ๆ จะใช้คำว่า “พวกเรา” (wir/nous/noi/nous) เป็นหลัก และตอนที่ประกาศใช้สถานการณ์พิเศษขั้นสูงสุด (extraordinary situation) ประธานาธิบดีสวิสก็ได้มีข้อความส่วนตัวยืนยันการอยู่เคียงข้างและพร้อมสนับสนุนประชาชน ขาดตกอะไรขอให้บอก นำมาซึ่งความรู้สึกว่าทุกหมู่เหล่า คือฝ่ายเดียวกัน ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกราชการประชาชนแต่อย่างใด
 
9. ขจัดดราม่าด้วยความมั่นใจ 🤫- ทุกประเทศ ทุกรัฐบาล ต่างมียุทธศาสตร์รับมือกับโรคระบาดในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อม การวิจัยค้นคว้า ข้อมูลในมือ ดังนั้น จึงไม่มีสูตรตายตัวที่ใช้ได้เหมือนกันทุกประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ก็มีแนวทางของตัวเองในการใช้ยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ อาทิ การใช้หน้ากากอนามัย 😷 การเปิดโรงเรียน 🏫 การผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ จึงเป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลสวิสกำหนดและอาจไม่เหมือนกับประเทศอื่น ซึ่งแน่นอน ไม่สามารถจะถูกใจทุกฝ่ายได้ นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ แต่สิ่งที่ทางการสวิสทำ คือ เน้นย้ำยุทธศาสตร์ของตัวเองด้วยความหนักแน่น และไม่แสดงความลังเลในการบังคับใช้นโยบายใด ๆ การที่จะมั่นหน้าได้ขนาดนี้ก็น่าจะมาจากการทำการบ้านเตรียมความพร้อมมาอย่างดีแล้ว สุดท้ายแล้วประชาชนก็เลือกรับฟังรัฐบาลมากที่สุด
10. น้อมรับความผิด และคิดแก้ไขให้ทันท่วงที🙏🙏🙏 - เป็นไปไม่ได้ที่การทำงานใด ๆ จะไม่มีข้อผิดพลาด ซึ่งก็เหมือนกับสวิตเซอร์แลนด์ที่ในระหว่างการต่อสู้กับไวรัสร้ายนี้ก็มีข้อผิดพลาดอันเกิดจากการสื่อสารบ้าง อาทิ การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ตรงกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับรัฐ ความสับสนในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้มาตรการต่าง ๆ หรือการประกาศใช้มาตรการที่ไม่เหมือนกันในแต่ละรัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทีมแถลงข่าวก็จะรีบออกมากชี้แจงในทันที พร้อมทั้งนำปัญหาเหล่านี้ไปแก้ไขภายในช่วงเวลาไม่เกิน 1-2 วัน ดังนั้น หากไม่ใช่ผู้ที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดก็แทบจะไม่สังเกตเลยว่ามีปัญหาเหล่านี้อยู่ เพราะมันถูกแก้ไขไปแบบไร้รอยต่อ
11. เอเจนซี่ที่รัก 📽🎞📖🔊- ประเด็นสุดท้าย คือ เครื่องมือการสื่อสารมวลชน ที่รัฐบาลสวิสก็ตระหนักดีกว่า การใช้เอเจนซี่โฆษณาที่มีประสบการณ์ในการคิดแคมเปญหรือผลิตสื่อต่าง ๆ ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจจากประชาชน ซึ่งสำหรับสถานการณ์นี้ บริษัท Rod Kommunikation ที่เคยทำแคมเปญรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์ในสวิตเซอร์แลนด์หลายปีก่อน ก็ได้รับความไว้วางใจให้รับงานนี้ ท่ามกลางเอเจนซี่ต่าง ๆ ที่บอกปัดงาน เพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อย (แค่ประมาณสิบวันนิด ๆ) ในการคิดแคมเปญและวิธีนำเสนอทั้งหมด ทั้งที่โดยปกติการคิดแคมเปญต่าง ๆ จะใช้เวลาเกือบ ๆ ครึ่งปี ภายใต้ความกดดันทั้งในเรื่องของเนื้อหาและระยะเวลา บวกกับงบประมาณในการบริหารจัดการ 2.5 ล้านฟรังก์สวิส บริษัทเอเจนซี่รายนี้ก็สามารถเนรมิตทุกอย่างออกมาได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยการสื่อสารเป็นไปในรูปแบบที่มีเนื้อหาสั้น ๆ เข้าใจง่าย มีการใช้สีในการสื่อสาร มีการทำวิดีโอคลิปประกอบ ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ วิดีทัศน์ ที่เกี่ยวข้องจึงเข้าถึงประชาชนได้ง่าย เตะตาประชาชน นำมาสู่การนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เห็นว่า การเลือกเอเจนซี่ที่ถูกจะนำมาซึ่งผลสำเร็จในการนำเสนอ final product
Poster แจ้งมาตรการที่ถูกผ่อนปรน
ปัจจัยสิบเอ็ดข้อข้างต้นที่แบ่งออกเป็นการเตรียมความพร้อม เป้าประสงค์ เนื้อหา วิธีการ เครื่องมือในการนำเสนอ บุคลากร ที่ดี จะนำมาซึ่งผลสำเร็จของการสื่อสารในแบบฉบับของสวิสประเทศ สำหรับช่วงเวลาวิกฤตินี้ ที่แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของเวลาและการแพร่ระบาด แต่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ข้อมูลและข้อความต่าง ๆ สื่อไปถึงประชาชนได้อย่างทันท่วงที และจะเป็นพื้นฐานที่สนับสนุนให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในรัฐบาลและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่สำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้
ปล. ผลสำรวจของสถาบันสถิติ Sotomo ของสวิตฯ พบว่ากว่าร้อยละ 60 ของผู้เข้ารับการสำรวจมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลสวิส
(ภาพประกอบ: นาย Daniel Koch หมอทวีศิลป์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ (ซ้าย)ขณะแถลงข่าวกับนาย Alain Berset รัฐมนตรีมหาดไทย กัปตันมาร์เวลในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิดในสวิตเซอร์แลนด์)
🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭🇨🇭
อ้างอิง :
รายงานข่าวการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
ข้อความส่วนตัวของประธานาธิบดีสวิส
การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บไซต์ FOPH
ข้อมูลการรับงานของบริษัทเอเจนซี่ในครั้งนี้
โฆษณา