Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ร้อยเวรหัวควย
•
ติดตาม
30 พ.ค. 2020 เวลา 14:46 • ปรัชญา
วันนี้วันที่ ๓๐ พฤษภาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่อินตอง สุภวโร เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๘๒ ปี พระครูวีรธรรมคุณ หรือหลวงปู่อินตอง สุภวโร ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดวีระธรรม บ้านไฮหย่อง ต.อุ่มเหม้า อ.พังโคน จ.สกลนคร หลวงปู่อินตอง ท่านได้เดินทางไปปฏิบัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์กับครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นดังนี้ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ,หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ,หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต ,หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ,หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ,หลวงปู่สีลา อิสสโร ,หลวงปู่ขาว อนาลโย ,หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ ,หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป เป็นต้น และออกธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่บุญพิน กตปุญฺโญ อีกด้วย
หลวงปู่อินตอง แม้ท่านจะมีอายุมากแล้วก็ตาม แต่ท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง มีความคล่องแคล่วว่องไวเหมือนพระหนุ่มๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หรือการทํากิจในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นคนมีนิสัยร่าเริง หน้าตาแจ่มใสและอิ่มเอิบอยู่ในรสพระธรรมทําให้ผู้ได้รับฟังคําสนทนากับท่านมีความสบายใจหายทุกข์กันทุกคน ท่านเป็นพระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ที่พระสงฆ์และประชาชนใน อ.พังโคน และ อ.ใกล้เคียง รวมทั้งในจังหวัดสกลนคร และในประเทศที่รู้จักท่าน ให้ความเคารพศรัทธาก็มีมากพอสมควร และท่านยังเป็นผู้ปกครองสงฆ์ในเขต อ.พังโคนด้วย หลวงปู่ท่านเป็นพระสมถะ เรียบง่าย มีเมตตาสูง
“.. ถ้าคนเราทุกคนมองโลกว่ามี ความสับสนวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้นแล้ว จะทําให้คนหันมาประพฤติปฏิบัติธรรมมากขึ้นกว่านี้ แต่ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า มนุษย์เรายังมีความประมาทกันอยู่ จึงยังไม่กระตุ้นจิตใจตัวเองให้ตื่นจากภวังค์เสียที ..” โอวาทธรรมหลวงปู่อินตอง สุภวโร
• #อัตโนประวัติ
“พระครูวีรธรรมคุณ” หรือ “หลวงปู่อินตอง สุภวโร” มีนามเดิมว่า อินตอง ศรีสร้อย เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล ณ บ้านอุ่มเหม้า ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบัวพา และนางบด ศรีสร้อย ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เมื่อเรียนจบภาคบังคับ ท่านก็ออกมาช่วยบิดาและมารดาทำนา ทำไร่ ตามวิถีชีวิตชาวชนบทอีสาน
• #บรรพชาเป็นสามเณร
เหตุบันดาลใจที่ต้องได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาว่าเกิดจากท่านเป็นลูกคนโต สมัยเด็กๆ เป็นคนเลี้ยงยาก มาก มีอายุถึง ๓ ขวบจึงเดินได้ ซึ่งผิดกับเด็กทั่วๆ ไป จึงทําให้พ่อ-แม่มีความลําบากกับท่านมามากแล้ววนั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณพ่อ-แม่ทั้งสองจึงตัดสินใจออกบวช
“อาตมามาคิดดูว่า เอ..จะทํายังไงดีถึงจะตอบแทนข้าวป้อนและน้ำนมของแม่ได้นะที่พ่อ-แม่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนกระทั้งโตรู้ความ ท่านลําบากกับเรามามาก เราควรตอบแทนพระคุณท่าน พอออกจากโรงเรียนโยมแม่บอกว่า เอ้า.. ไหนๆ ก็เลี้ยงยากกว่าใครแล้ว ก็บวชให้แม่ด้วยสักพรรษานะ อาตมาจึงลองมาอยู่วัดก่อน
สมัยนั้นวัดป่าวีระธรรมแห่งนี้ มีหลวงพ่ออินตาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ อาตมาจึงมาปรนนิบัติท่านก่อน เมื่อหลวงพ่ออินตาเห็นว่า อาตมาบวชได้ ท่านจึงให้ไปบวชกับ พระมหาทองสุก สุจิตฺโต ที่วัดป่าสุทธาวาส อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) วัดป่าสุทธาวาสแห่งนี้เป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมรณภาพที่วัดนี้เช่นกัน
ท่านได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๘ ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชเป็นสามเณรแล้ว อาตมาได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งปีแรกก็สอบนักธรรมชั้นตรีได้
• #ธุดงค์ตั้งแต่เป็นเณร
ปีต่อมาอาตมามีจิตใจชอบไปในทางปฏิบัติกรรมฐาน จึงคิดออกเดินธุดงค์ พอดีหลวงพ่ออินตาท่านจะไปธุดงค์ที่ภูวัวภูทอกในเขตอําเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย(ปัจจุบันเป็นเขตจังหวัดบึงกาฬ) อาตมาจึงขอติดตามท่านไปด้วย
สมัยนั้นอาตมาอายุได้ ๑๘ ปี ส่วนหลวงพ่ออินตาท่านมีอายุได้ ๓๕ ปียังเป็นพระหนุ่มไฟแรง ท่านชอบธุดงค์ไม่ชอบอยู่กับที่ อาตมาจึงได้ติดตามไปธุดงค์กับท่าน โดยจุดแรก ธุดงค์ไปที่ภูวัว-ภูลังกา-ภูทอกตามลําดับ ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้กัน ส่วนภูทอกนั้นเป็นที่พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านจําพรรษาอยู่”
หลวงพ่ออินตองเล่าว่า สมัยนั้นภูวัวภูลังกาเป็นป่าดงดิบจริงๆ เป็นดงช้างดงเสือ และเป็นป่าที่มีสัตว์ป่ามากที่สุด การเดินธุดงค์ ของท่านทั้งสองต้องประสบกับความลําบากและอันตรายทุกอย่าง ทั้งการขบฉัน ทั้งการเดินทางที่เต็มไปด้วยหุบเหวที่มีหน้าผาที่สูงชัน การเดินทางต้องระมัดระวังอย่างที่สุด มิฉะนั้นจะเดินพลัดตกลงสู่ก้นเหวลึกไปได้
“อาตมาไหนจะแบกกลด มือถือกาน้ำ ส่วนบ่าสะพายเครื่องอัฐบริขารที่จําเป็นต่อสําหรับพระธุดงค์ในการเดินทาง ทําให้ทั้งหนักทั้งเหนื่อยเป็นที่สุด เรียกว่าลําบากที่สุดในชีวิต แต่เพื่อจุดมุ่งหมายในเบื้องหน้าที่ตั้งใจเอาไว้คือความสําเร็จมรรคผลในธรรม จึงไม่ท้อถอย แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามอะไรมาขวางกั้นก็ไม่ยอมแพ้เด็ดขาด”
หลวงพ่ออินตองกล่าวอย่างหนักแน่น และเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการเดินธุดงค์ของท่านว่า หลวงพ่ออินตา ผู้เป็นอาจารย์ได้พาท่านไปที่ภูวัวเป็นแห่งแรกก่อน แล้วต่อไปยังภูซาง ซึ่งอยู่ใกล้กัน จากนั้นจึงมาที่ภูลังกาและภูทอกในที่สุด เพื่อมากราบพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอาจารย์ผู้เป็นศิษย์สายกรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตอีกรูปหนึ่ง ท่านได้ให้คําแนะนําในการปฏิบัติกรรมฐานให้อย่างไม่ปิดบัง
“สมัยไปธุดงค์ที่ภูวัว – ภูลังกานั้น เมื่อนึกถึงความหลัง ยังนึกขําตัวเองไม่หาย ที่ไม่เคยไปขุดเผือกขุดมัน ก็ได้ไปขุดเพื่อนํามาฉันแทนข้าว(สามเณรสามารถขุดดินหักกิ่งไม้ได้ ไม่ผิดวินัย แต่พระภิกษุมีข้อห้าม) เพราะพวกอาหารและข้าวของชาวบ้านนั้นไม่มี เนื่องจากอยู่ไกลจากหมู่บ้านคนมาก ถ้าจะเดินลงจากเขามาบิณฑบาตก็ลําบาก เพราะไกลมากจึงไม่สะดวกในหลายๆ อย่างด้วย จึงต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นดีที่สุด ดังนั้นพอได้เวลาก็ออกหาหวายหาเผือกมันมาต้มฉัน”
• #หลงป่าเพราะอีเก้ง
ในระหว่างธุดงค์อยู่กลางป่าดงดิบบนภูเขาสูงชันนั้น นอกจากระมัดระวังสัตว์ร้ายแล้วยังต้องระวังตัวว่าจะถูกภูตผีวิญญาณเล่นงานหรือเปล่า เพราะว่ายังเป็นสามเณร บารมียังไม่แก่กล้าเท่าไหร่ ซึ่งเรามาอาศัยพื้นที่ป่าที่พวกเขาอยู่
“อาตมาเป็นเณรต้องไปหาของป่ามาให้อาจารย์ท่านฉันด้วย และต้องปรนนิบัติท่านจึงต้องออกไปหาผลไม้ป่าและเผือกมันตามไร่สวนของชาวบ้านที่ขึ้นมาทําไร่บนเชิงเขา คืนหนึ่งอาตมาพร้อมพระเณรที่ธุดงค์มาด้วยกันออกไปหาของป่าเหมือนเดิม โดยแยกกันเป็นสองกลุ่ม กลุ่มอาตมามีสององค์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีสามองค์
ฝ่ายกลุ่มอาตมาบังเอิญได้พบกับลูกอีเก้งกําลังออกหากิน ส่วนพระ-เณรอีกกลุ่มพบฝูงอีเก้ง ๒-๓ ตัว ต่างกลุ่มต่างพากันไล่จับ อีเก้งเพื่อนํามาเลี้ยงไว้ อาตมาคิดสนุกตามประสาเณรได้ไล่ลูกอีเก้งไปทางหนึ่ง ส่วนพระ-เณรอีกกลุ่มก็ไปอีกทางหนึ่ง แม้อาตมาจะร้อง เรียกเท่าไหร่พวกเขาก็ไม่ฟัง
ปรากฏว่ากลุ่มที่ไล่อีเก้งไปอีกทางนั้นเกิดหลงป่าหาทางกลับที่พักไม่เจอ เพราะเจ้าป่าเจ้าเขาบันดาลให้หลงป่าจึงหาทางกลับไม่ได้ จนกระทั่งรุ่งเช้าจึงหาทางกลับที่พักกัน
ส่วนกลุ่มอาตมาไล่จับลูกอีเก้งได้ เมื่อจับได้แล้วมาคิดดูว่า เอ..จะเอาไปเลี้ยงดีมั้ย..หรือว่าจะปล่อยไปดี ในที่สุดอาตมาคิดได้ว่าปล่อยให้มันเป็นอิสระดีกว่า คือไม่เอาดีกว่า เพราะกลัวเป็นบาปเป็นกรรมที่ไปพลัดพรากจากพ่อ-แม่มัน จึงได้ปล่อยลูกอีเก้งไปในที่สุด
เมื่อปล่อยลูกอีเก้งเข้าป่าไปตามเดิมแล้ว อาตมาก็กลับมายังที่พัก ส่วนกลุ่มที่หลงทางนั้น พอถึงช่วงเช้าพวกเขาจึงกลับมาถึงที่พักประมาณเที่ยงวัน และได้เล่าให้อาตมาฟังว่าพวกเขาวิ่งไล่อีเก้งไป จนถึงริมแม่น้ำโขงโน่น คือห่างจากที่พักหลายสิบกิโลฯ”
หลวงพ่ออินตองกล่าวว่า ท่านเดินธุดงค์ในช่วงหน้าฝนพอดี จึงมีฝนตกหนักอยู่ตลอดทั้งคืน ทําให้น้ำป่าไหลเชี่ยวมาก และที่ท่านพักปฏิบัติธรรมกันอยู่นั้นชาวบ้านเรียกว่า "วังนอง หรือวังน้ำนอง” อะไรทํานองนี้ ซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ อยู่กลางหุบเขา ลักษณะน้ำเป็นสีเขียวอย่างน่ากลัว วังนองนี้อยู่บนเขาภูวัว เป็นสถานที่พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร ท่านเคยมาปักกลดปฏิบัติธรรมมาก่อน
“ในปัจจุบันถ้ำบนภูวัวแห่งนี้มี ท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร (ภายหลังจึงไปอยู่ที่วัดป่าเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ปัจจุบันท่านพระอาจารย์เสถียร คุณวโร ผู้อยู่ร่วมกับพระอาจารย์อุทัย ได้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดถ้ำพระภูวัวเรื่อยมา) ผู้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จําพรรษาอยู่แทน เป็น ถ้ำที่สวยงามมากถ้ำหนึ่งขณะนี้ยังมีพระพุทธรูปที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโรท่านนํามาประดิษฐานไว้อยู่หนึ่งองค์ เป็น ถ้ำที่น่าอยู่ปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมสมัยนั้นก็อาศัยครูบาอาจารย์ท่านช่วยแนะนําเป็นอย่างมาก”
หลวงพ่ออินตองเล่าต่อไปถึงการเดินธุดงค์ของท่านว่า หลังจากฤดูฝนผ่านไปก็มาถึงฤดูหนาวย่างเข้ามาแทนที่ การเดินธุดงค์ของท่านไม่เคยหยุด นอกจากวันเข้าพรรษาเท่านั้น ท่านเล่าว่าธุดงค์ในฤดูหนาวนี้ทรมานที่สุด เพราะบางแห่งที่อยู่บนภูเขาสูงมีอากาศหนาวเย็นมาก
“การเดินธุดงค์ก็เดินกันจริงๆ เพราะไม่มีรถจะขึ้น ไม่เหมือนสมัยนี้ มีถนนหนทางสะดวกสบาย แต่ป่าไม่ค่อยมีให้ไปอยู่กันแล้ว พระธุดงค์ในปัจจุบันจึงมีน้อย ส่วนพระที่เคยธุดงค์มาก่อนท่านก็มีอายุมากขึ้น ส่วนมากจึงอยู่กับที่กันเป็นส่วนใหญ่ และการเดินเข้าไปในป่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการไปหาผัก - หาหญ้ามาฉันตามมีตามได้
ส่วนในตอนกลางคืนบางคืนก็นั่งสมาธิทําจิตใจให้สงบบนพลาญหินกว้างตามถ้ำตามเหว โดยมีสัตว์ป่าและแสงจันทร์เป็นเพื่อน บางคืนมีฝูงช้างป่ามาให้เห็นเป็นโขลงช้าง มันจะลงจากเขาในตอนกลางคืน ช้างจะมาในวันพระช่วง ๗ ค่ำ ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ พอช้างมาท่านอาจารย์ก็จะให้ไปนั่งอยู่บนโขดหินที่สูงกว่าทางเดินของฝูงช้าง
ท่านอาจารย์อินตาบอกอาตมาว่า เมื่อช้างมาอย่าฉายไฟใส่มันเป็นอันขาด เพราะถ้าฉายไฟใส่มันจะตื่นและวิ่งหนี เวลาเดือนหงายจะมองเห็นฝูงช้างชัดมาก อาตมาอยู่ที่ถ้ำบนภูวัวภูลังกานี่จิตใจสงบดี จึงอยู่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใกล้เข้าพรรษาจึงกลับลงมาจําพรรษาที่ วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ่มเหม้าตาม เดิม”
หลวงพ่ออินตองเล่าว่าท่านออกเดินธุดงค์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านได้ไปจําพรรษาที่ถ้ำบนภูลังกาอีกครั้งหนึ่งกับท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร แห่งวัดป่าบ้านหว่าใหญ่(ปัจจุบันคือ วัดป่าอิสระธรรม) พระนักปฏิบัติผู้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ถือเคร่งอีกท่านหนึ่ง
“พระอาจารย์สีลา ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่เก่งมากนะ ท่านปฏิบัติก็เก่ง เมื่อก่อนท่านเป็นพระฝ่ายมหานิกาย ต่อมาท่านได้เปลี่ยนญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุตแล้วไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติเคร่งมาก สมัยอาตมาเป็นเณรได้ไปอยู่กับท่านพรรษาหนึ่ง เห็นปฏิปทาของท่านแล้วศรัทธาจริงๆ ท่านเทศน์ได้ลึกซึ้งและกินใจมาก ใครทําอะไรลงไปท่านไม่ต้องไปดูหรอก แต่ท่านจะรู้หมด แต่ท่านไม่พูดเท่านั้น เพียงแต่ท่านเทศน์สอนไม่ให้ กระทําในสิ่งนั้นๆ อีก
ครูบาอาจารย์สมัยอาตมาเป็นเณรนั้นมีอยู่ ๓ รูปที่เก่งคือ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และท่านพระอาจารย์อุ่น อุตฺตโม ทั้งสามท่านนี้ดังมาก ญาติโยมคนไหนไม่รู้จักเป็นไม่มี ท่านสร้างโบสถ์ สร้างศาลาเสร็จได้เร็วมาก เวลาท่านเทศน์จะมีญาติโยมมาฟังเยอะ อาตมาไปอยู่กับท่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่วัดอิสระธรรม บ้านหว่าใหญ่ ตอนนั้นอาตมาอายุยังน้อย ยังต้องการศึกษาเล่าเรียนอยู่ คือ ใจอยากเป็นมหาเปรียญกับเขาบ้างนั่นเอง จึงเดินทางไปเรียนถึงจังหวัดจันทบุรีโน่น”
หลวงพ่ออินตองเล่าถึงชีวิตของท่านในช่วงนี้ว่าท่านได้ยินข่าวว่าที่สํานักเรียนวัดจันทนาราม อําเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีนั้น เป็นสํานักเรียนที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง พระ-เณรที่มาเรียนที่นี่จะสอนนักธรรมและมหาเปรียญได้กันมาก จึงมีความสนใจเป็นพิเศษ
“อาตมาไปอยู่วัดจันทนาราม มีท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธิโมลี เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งมีพระอยู่กับท่านมากกว่าวัดอื่น เรียนนักธรรมโทและเอก เรียนแปลบาลีควบคู่กันไป ที่สุดอาตมาสอบนักธรรมเอกได้ ส่วนบาลีนั้นยังไม่ได้สอบก็มีเหตุการณ์ต้องกลับมาคัดเลือกทหารที่บ้านเกิด เพราะอายุครบเกณฑ์ทหารพอดี
แต่ก่อนกลับไปยังบ้านเกิดนั้น อาตมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุก่อนแล้วที่วัดจันทนารามแห่งนี้
• #อุปสมบท
ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม ต.จันทนิมิตต์ อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธิโมลี(เสงี่ยม จิณฺณาจาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีด้วย และมี พระอาจารย์จันทร์ คัมภีโร เป็น พระกรรมวาจาจารย์ กับ พระอาจารย์ยรรยงค์ (ไม่ทราบนามฉายา) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
• #สวดปาติโมกข์ได้หายป่วย
หลังจากหลวงพ่ออินตอง อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วท่านได้ ขึ้นมาคัดเลือกทหารที่บ้านเกิดของท่านที่บ้านอุ่มเหม้า พอมาถึงบ้านเกิดป่วยขึ้นมากะทันหัน คือท่านป่วยเป็นโรคประสาท เพราะเครียด เนื่องจากเรียนหนังสือมากไป
“ก่อนจะป่วยเป็นโรคประสาทนั้น อาตมาไม่ค่อยได้ฉันอาหารอะไร พูดง่ายๆ คือเรียนหนังสือมากจนแทบไม่มีเวลาฉันข้าว เพราะเรียนทั้งนักธรรม-บาลีและภาษาอังกฤษควบคู่กันไปด้วย เรียกว่า เอาจริงเอาจังกับการเรียนมากจนไม่มีเวลาฉันและพักผ่อน ทําให้ขาดสารอาหารอะไรบางอย่าง ถ้าเรียกตามประสาชาวบ้านว่าเป็นโรควูบ คือโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่ทันนั้นเอง ทําให้มองเห็นอะไรตาพร่ามัวไปหมด เวลาไปบิณฑบาตมันจะ ล้ม และมองคนเดียวเห็นเป็นสอง-สามคนไปหมด”
หลวงพ่ออินตองเล่าว่า ท่านบวชเป็นพระแล้ว ในระหว่างพรรษาต้องไปลงสวดปาติโมกข์ที่อําเภอพังโคน ท่านต้องเดินทางไปถึง ๗ กิโลเมตร มีความลําบากมาก เพราะตัวท่านก็ป่วยอยู่ ท่านจึงพิจารณาว่าจะทํายังไงดี เวลาท่านไปหาหมอเพื่อรักษา ท่านจึงปรึกษาหมอ หมอบอกกับท่านว่า
“พระอาจารย์อย่าดูหนังสือมาก และอย่าท่องหนังสือนะจะเป็นอันตรายแก่สมอง”
คําห้ามปรามของหมอกลับทําให้หลวงพ่ออินตองต้องการเอาชนะตนเองให้ได้จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
“จะเป็นจะตายอย่างไร ก็จะขอท่องปาติโมกข์ให้ได้ในพรรษานี้”
เมื่อตั้งจิตอธิษฐานเสร็จ หลวงพ่ออินตองก็ตั้งใจท่องปาติโมกข์กลับไปกลับมาทั้งกลางวันกลางคืน นอนท่อง นั่งท่อง ยืนก็ท่อง เดินก็ท่องอยู่อย่างนั้น ท่านเอาจริงเอาจังมาก จนท่านท่องปาติโมกข์ได้ในระหว่างกลางพรรษา พอออกพรรษาท่านก็สวดปาติโมกข์ได้อย่างคล่องแคล่ว พอท่านสวดปาติโมกข์ได้แล้ว อาการป่วยเป็นโรคประสาทของท่านก็หายเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
“อาตมาก็ดีใจว่า โอ้..อานิสงส์ของการท่องปาติโมกข์นี้ดีเลิศเหลือเกิน ทําให้หายจากป่วยได้ ซึ่งการสวดปาติโมกข์นี้ไม่ใช่สวดกันได้ง่ายๆนะ พระบางรูปสวดไปไม่รอด คือท่องจําไม่ได้เลย มันยากมากนะโยม ไม่ใช่พระจะสวดกันได้หมดทุกองค์นะ ที่สําคัญอยู่ที่บุญบารมีของใครของมันด้วย”
• #ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวีระธรรม
พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นเจ้าคณะอำเภอพังโคน-พรรณานิคม-วาริชภูมิ (ธรรมยุต)
พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นเจ้าคณะอำเภอพังโคน-วาริชภูมิ-นิคมน้ำอูน (ธรรมยุต)
• #ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับพระราชทานพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ พระครูวีรธรรมคุณ
พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
๏ พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวีระธรรม
ปัจจุบันนี้ หลวงพ่ออินตอง สุภวโร พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวีระธรรม จ.สกลนคร อยู่อบรบศีลธรรม สั่งสอนศิษยานุศิษย์ เผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างถาวรวัตถุ ทั้งโบสถ์ และศาลาการเปรียญ ฯลฯ อีกหลายแห่ง
พร้อมกับหลักธรรมคำสอนที่ให้คณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านได้ยึดถือน้อมนำมาปฏิบัติ ความว่า “เมื่อมาก็ตัวเปล่า เมื่อไปก็ไปตัวเปล่า ให้เร่งสร้างความดีงามเพราะความดีงามเท่านั้นที่คงอยู่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องทำให้โลกไม่วุ่นวาย” ซึ่งเป็นหลักธรรมสั้นๆ แต่เข้าใจง่าย
#เครดิต เพจบอกบุญครับ สาธุๆ
🙏 🙏 🙏
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย