31 พ.ค. 2020 เวลา 10:47 • การศึกษา
เปิดคอร์ส สอนออนไลน์
เสียภาษีอย่างไร?
ช่วงที่ผ่านมานี้ ผมเห็นหลาย ๆ คน ที่มีความรู้ความสามารถส่วนตัว ใช้ช่วงเวลาของ โควิด 19 เปิดคอร์สสอนออนไลน์กันอย่างหลากหลาย แถมได้รายได้ดีอีกด้วย!
ในฐานะที่เป็นนักวางแผนภาษี ก็อดกังวลใจแทนไม่ได้ว่า พวกเขาเหล่านั้นรู้หรือไม่ว่า จะต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร
เพราะถ้าสิ้นปีนี้ ผู้ที่เปิดคอร์ส "สอนออนไลน์" ไม่นำรายได้ที่ได้รับไปรวมคำนวณยื่นแบบฯ เสียภาษีเงินได้สิ้นปีตาม ภ.ง.ด.90 แล้วสรรพากรตรวจพบ (ซึ่งระบบ Data Analytics อันทันสมัยของสรรพากรคงตรวจพบได้ไม่ยาก) ก็จะถือว่า เป็นการหนีภาษี หรือ เสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน
ซึ่งนอกจากจะต้องจ่ายค่าภาษีแล้ว ยังต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกในอัตรา 1.5% ต่อเดือน นับจากเดือนสุดท้ายที่ต้องยื่นแบบฯ และยังมีโทษปรับอีก 1-2 เท่าของภาษีที่ต้องเสีย น่ากลัวไหมล่ะ?
ดังนั้น เราจึงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วเงินได้จากการ “สอนออนไลน์” นั้นไม่เหมือนเงินได้จากการ “ขายของออนไลน์” นะครับ
เพราะเงินได้จากการ “ขายของออนไลน์” นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร (ตามจริง) หรือ จะเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตรา 60% ก็ได้
เช่น เงินได้ตลอดปี 1,000,000 บาท หัก ค่าใช้จ่ายเหมาได้ 60% คือ 600,000 บาท คงเหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 400,000 บาท
ส่วนเงินได้จากการ “สอนออนไลน์” เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาอัตรา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควรไม่ได้ด้วยนะครับ
เช่น เงินได้ตลอดปี 1,000,000 บาท หัก ค่าใช้จ่ายเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 คือ 100,000 บาท คงเหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 900,000 บาท
เห็นไหมครับว่า เงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย ของการ “ขายของออนไลน์” เหลืออยู่ 400,000 บาท ในขณะที่ “สอนออนไลน์” เหลืออยู่ถึง 900,000 บาท มากกว่ากันถึง 500,000 เลยทีเดียว จึงทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูงมากครับ
และที่คนสอนออนไลน์ ต้องระวังให้มาก ก็คือ หากเงินได้ (ย้ำว่าเงินที่ได้รับนะครับ ไม่ใช่กำไร) จากการสอนออนไลน์ในปีภาษีรวมกันเกินกว่า 1,800,000 บาท เราก็ต้องเสีย "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" จากเงินได้ส่วนที่เกินกว่า 1,800,000 บาทนี้เป็นต้นไปอีกด้วยครับ
ถ้าไม่เช่นนั้น นอกจากจะต้องเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ยังต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มด้วยเช่นเดียวกันครับ
แนวทางแก้ไขเพื่อบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กฎหมายกำหนดไว้ว่า หากผู้สอนออนไลน์ มีหลักฐานในการประกอบกิจการ ให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการ ดังนี้
(1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และ
(2) ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ
(3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ
(4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด.1 ก. และ
(5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า
เงินได้จากการให้บริการสอนออนไลน์ ดังกล่าว จะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้หักค่าใช้จ่ายได้ ตามความจำเป็นและสมควร (ตามจริง)
โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ทั้งนี้ หากไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายและไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เงินค่าตอบแทนที่ได้รับข้างต้นจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร นะครับ
ดังนั้น ใครที่เปิดคอร์สสอนออนไลน์ คงต้องเตรียมวางแผนภาษีแต่เนิ่น ๆ แล้วนะครับ
ครูต๊ะ
อ.พละชัย ฟูเกียรติพงษ์
31 พฤษภาคม 2563
ถ้าชื่นชอบบทความนี้ ก็ช่วยกด "ติดตาม" เพจนี้ด้วยนะครับ
โฆษณา