31 พ.ค. 2020 เวลา 15:35 • ธุรกิจ
EP20: มูลค่าตลาด ? มูลค่าบริษัท ?
มีใครเคยเป็นเหมือนผมไหมครับ ที่สงสัยว่า"มูลค่าบริษัท"
แตกต่างจาก "มูลค่าตลาด" อย่างไร?
มูลค่าตลาด/ Market Capitalization หรือมักเรียกสั้นๆ Market Cap
เราสามารถคำนวณได้จากราคาหุ้นต่อหน่วย คูณ จำนวนหุ้นทั้งหมด
(อันนี้ตรงไปตรงมา)
แต่พอเราไปอ่านข่าวหรือบทวิเคราะห์ทางการเงินที่ว่า
บริษัทหนึ่งมีมูลค่าบริษัทเท่ากับ......ล้านบาท
เอ๋.......ทำไมมันไม่เท่ากับ Market Cap ของบริษัทนั้นนะ
Cr. myaccount-cloud.com
มูลค่าบริษัท (Enterprise Value) เป็นมูลค่าอ้างอิงที่นิยมใช้ในการพิจารณาซื้อขายควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition / M&A)
โดยมีการปรับค่าจากมูลค่าตลาดดังนี้
มูลค่าบริษัท = มูลค่าตลาด + หนี้สิน - เงินสด
- เหตุผลที่รวมหนี้สินเข้าไปด้วย เป็นเพราะว่าบริษัทที่จะซื้อกิจการ
ต้องรับภาระหนี้สินของบริษัทที่จะขายกิจการไปด้วยนั่นเอง
- ส่วนเงินสดควรตัดออกเพราะเป็นทรัพย์สินหมุนเวียนที่สามารถจ่ายออกในรูปแบบค่าใช้จ่ายต่างๆได้ตลอดเวลา
คราวนี้พอเราคำนวณมูลค่าบริษัทได้แล้ว มีใครเคยสงสัย(อีกละ) เหมือนผม
ไหมว่า ทำไมเวลามีข่าวซื้อขาย-ควบรวมกิจการกันในตลาด
"ราคาที่ซื้อขาย"กันจริงถึงไม่เท่ากับ "มูลค่าบริษัท"ละ
หลังจากมีประสบการณ์ในการทำ M&A ผมถึงเข้าใจว่ามูลค่าเพิ่มหรือ
Synergy value/ premium ที่ทางฝั่งผู้ซื้อยอมจ่ายเกินมูลค่าบริษัทนั้นเป็น
เพราะว่า........
ผู้ซื้อได้รวมผลประโยชน์"ที่คาดว่า"จะได้จากการรวมกันของ 2 บริษัทนั่นเอง
หรือที่เรียกว่า " 1 + 1 มากกว่า 2 "
มูลค่าเพิ่มจากการควบรวมมาจากอะไรได้บ้าง ตัวอย่างเช่น
1. รายได้ที่มากขึ้น
เช่น บริษัท A กับ B รวมกันแล้วกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด มีอำนาจในการชี้นำทิศทางราคาสินค้าได้มากขี้น (Price rationalization)
หรือ
สินค้าบริษัท A และ B ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ลูกค้ามีความสะดวกมาก ขึ้น (Bundling offer) นำมาซึ่งโอกาสที่จะขายได้มากขึ้ัน
2. รายจ่ายที่สามารถลดลง
เช่น หน่วยงานหลังบ้าน (Back office) ที่ซ้ำซ้อนกันเช่น บัญชี กฏหมาย
การเงิน การบุคคล สามารถลดขนาดได้
หรือ การรวมกันเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบกับผู้ขาย มีอำนาจต่อรองมากขึ้น
หรือ การรวมกันเพื่อมีอำนาจต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายสินค้ามากขึ้น
3. โอกาสการเจาะตลาดใหม่ๆ
เช่น บริษัท A มีความเชี่ยวชาญในตลาดต่างประเทศ สามารถนำเครือข่ายที่มีมาช่วยเพิ่มยอดขายต่างประเทศของบริษัท B ได้
(Entry into new geography)
4. ความสามารถที่มากขึ้น
เช่น ฝ่ายวิจัยของบริษัท A และ B รวมกัน สามารถนำเทคโนโลยีของทั้งคู่มาพัฒนาร่วมกันเป็นนวัตกรรมใหม่ (Leveraging capability)
และอื่นๆอีกมากมาย
มูลค่าเพิ่มเหล่านี้ต้องประเมินออกมาเป็นตัวเลขตามระยะเวลาคาดการณ์ที่ ทำได้ในอนาคต (หลังปรับโครงสร้าง) แล้วนำไปรวมกับมูลค่าบริษัทที่ปรับค่าจากมูลค่าตลาดนั่นเอง
มูลค่าเป้าหมาย = มูลค่าบริษัท + มูลค่าเพิ่ม (synergy value/ premium)
หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย
ถ้าชอบ ให้กำลังใจกันด้วยการกดไลค์ กด follow ด้วยนะครับ
ขอบคุณครับผม _/|\_
May the force be with all of us....
31 May 2020
โฆษณา