5 มิ.ย. 2020 เวลา 01:59
EP13 : เหรียญหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว จังหวัดสุพรรณบุรี
ประวัติคร่าวๆ
วัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี , วัดพร้าว เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง คาดว่าอาจจะทันสมัยอู่ทองตอนปลายหรือสมัยอยุธยาตอนต้น เนื่องจากสันนิษฐานจากที่วัดมีพระพุทธรูปหินทราย พระพักตร์ผลมะตูม อันเป็นศิลปอู่ทองตอนปลาย และรอบอุโบสถยังมีเสมาหินทรายแดงอยู่หลายอัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น
ที่วัดพร้าว ยังมีการอนุรักษ์รักษาวัตถุโบราณ เช่นที่อัดใบลานสมัยโบราณ ทางวัดได้สร้างหลังคาคลุมไว้เพื่อป้องกันแดดฝนและเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูได้ศึกษาเป็นความรู้
ภายในวัดพร้าว บรรยากาศร่มรื่นเย็นสะบาย แฝงด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้เขียนสัมผัสได้ (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล) , ข้างวัดพร้าวยังติดริมแม่น้ำมีฝูงปลามากมายแหวกว่าย ให้เราได้เลี้ยงอาหารฝูงปลาอย่างสุขสะบายใจได้ทำทานทำบุญด้วยครับ
วัตถุมงคลรุ่นแรกและรุ่นเดียว
ในปี พ.ศ 2469 เมื่อครั้งหลวงพ่อปลื้ม มีอายุครบ 80 ปี บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างเห็นฟ้องต้องกันว่าควรจัดงานแซยิดให้ท่าน พร้อมกับการสร้างรูปหล่อให้มีขนาดเท่าตัวจริง และในขณะเดียวกันก็สร้างวัตถุมงคลคือเหรียญแจกเป็นที่ระลึกแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ได้นำไปบูชา หลวงพ่อปลื้มไม่ขัดความประสงค์ของบรรดาศิษย์
ในการจัดสร้างเหรียญรูปของหลวงพ่อปลื้ม ท่านลงมือทำการสร้างเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหล่อหลอมโลหะและการเทโลหะลงไปที่แม่พิมพ์ตลอดจนทำการปลุกเสก หลวงพ่อปลื้มเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น
รูปแบบพิมพ์ทรงเหรียญหล่อ
เหรียญหล่อหลวงพ่อปลื้ม เป็นรูปใบเสมาเอาปลายลง กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 2.7 เซนติเมตร มีเส้นลวดนูนตามริมขอบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยในเหรียญพ่อหลวงจะนั่งอยู่กึ่งกลางของเหรียญในลักษณะคล้ายปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ , ศีรษะเลี่ยน ตามที่เรียกกันว่า “ศีรษะโล้น” ใบหน้ากลม หูกางและใหญ่ ปลายหูบนทั้งสองข้างแหลม พาดสังฆาฎิปื้นใหญ่ คาดรัดปะคดอกทับ เห็นรอยผูกรัดปะคดขยุกขยิก จีวรเป็นเส้นๆ จากปลายสังฆาฎิที่พาดลงมาจดหัวเข่าขวา ซอกแขนซ้ายเป็นขีดๆประมาณสามขีด
มือซ้ายวางลอยๆมือขวาจับหัวเข่าเห็นหัวมือกางออกทั้งสองมือ คล้ายนั่งอยู่บนพรม รอบองค์ของหลวงพ่อเป็นอักขระขอมใต้ล่างเป็นรูปแพะซึ่งเป็นปีเกิดของหลวงพ่อปลื้ม , ลอยตะไบขอบข้างเหรียญปราศจากความคมและเกิดผิวดำเกาะติดตามผิวตามซอก ทำให้ดูง่ายในเหรียญที่มีอายุเกือบร้อยปี
(ผู้เขียนได้เคยเห็นเหรียญจริงเหรียญเดียวและขออนุญาติเจ้าของถ่ายภาพนำมาลงให้ชมเพื่อเผยแพร่เป็นความรู้)
พิธีกรรมการหล่อ
มีการเล่าให้ฟังจากผู้สูงอายุที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า พิธีการสร้างเหรียญและรูปหล่อหลวงพ่อปลื้ม เป็นพิธีที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ในพิธีวงรอบไปด้วยสายสิญจน์ เมื่อทำการหลอมโลหะทองเหลืองแล้ว ก็ทำการเททองรูปหล่อของพ่อหลวงปลื้ม พร้อมๆกันกับเททองเหลืองลงบนแม่พิมพ์เหรียญด้วย เมื่อทำการหล่อหลอมเสร็จแล้ว จึงตบแต่งด้านข้างเหรียญด้วยตะไบ และเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำเอามาให้หลวงพ่อปลื้มปลุกเสกเดี่ยวตามลำพังรูปเดียว ก่อนนำแจกให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปเอาไว้บูชา (สร้างเนื้อทองเหลืองเนื้อเดียว จำนวนการสร้างประมาณพันเหรียญ)
นิติกรรมประกาศ
• ขอขอบคุณ เนื้อหาจากหนังสือพิมพ์คนสุพรรณ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน เมื่อปี 2552
• ขอขอบคุณ เนื้อหาและภาพจากหนังสือคเณศ์พร ฉบับ 40-41 เมื่อปี 2536
• ขอขอบคุณ ภาพสถานที่และจากศาลาบูรพาจารย์ วัดพร้าว จังหวัดสุพรรณบุรี
• ขอขอบคุณ เจ้าของวัตถุมงคลองค์จริง ที่ให้ถ่ายภาพเพื่อแพร่แผ่ความรู้
• ขอขอบคุณ ผู้อ่านและผู้ติดตามทุกท่าน บุญรักษาคุ้มครองทุกท่านครับ
โฆษณา