1 มิ.ย. 2020 เวลา 06:05 • ธุรกิจ
Amoeba Management ระบบที่ Inamori Kazuo เลือกใช้
ที่มา : https://global.kyocera.com/inamori/amoeba/amoeba/
Amoeba หรือ Ameba (อะมีบา) เป็นชื่อเรียกสัตว์เซลล์เดียว
ประเภทโปรโตซัวที่สามารถแพร่พันธุ์ด้วยการแบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 เซลล์
สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้เรื่อย ๆ อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม
แม้กระทั่งในดิน
 
ทำไมจึงใช้ชื่อของสัตว์ขนาดจิ๋วที่มีเพียงเซลล์เดียวอย่าง อะมีบา
มาเรียกระบบการบริหารที่สามารถพลิกฟื้นกิจการ
ของสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น ระบบการบริหารงานแบบ อะมีบา
เป็นอย่างไร วันนี้เรามาพบคำตอบกัน
Amoeba Management เป็นระบบการบริหารที่ใช้วิธีการแบ่งแยก
หน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัทออกเป็นหน่วยงาน หรือ กลุ่มย่อย ๆ
ที่มีความเป็นเอกเทศ สามารถพัฒนา ปรับตัวตามสถาณการณ์ที่เข้ามา
จากทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างรวดเร็ว
การบริหารจัดการแบบ Amoeba Management นั้นถูกคิดค้นโดย
คุณ Inamori เพื่อใช้ในการบริหารงานที่ Kyocera ในขณะที่ยังคงบริหารงานอยู่ และได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูกิจการของสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น Japan Airlines อีกครั้ง
กำเนิด Amoeba Management
Kyocera เคยเป็นองค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็ก
เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทผลิตเซรามิค (Kyocera = Kyoto Ceramic)
ในกระบวนการผลิตเซรามิคมีกระบวนการหลัก ๆ 4 ขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ขึ้นรูป (Forming) เผา (Sintering)
และการทำให้ได้รูป (Grinding)
เดิมทีเดียวการคำนวณกำไรขาดทุนของบริษัท
ทำโดยการคำนวณรวมทั้งหมดไล่ไปตามกระบวนการผลิต
แต่คุณ Inamori ตัดสินใจเปลี่ยนมาดูกำไรแยกตามขั้นตอนต่าง ๆ
เพื่อจะได้รู้ว่า “ในแต่ละขั้นตอนมีกำไร/ขาดทุนเท่าไร”
การจะเปลี่ยนการคำนวณกำไร/ขาดทุนรวม มาเป็นกำไร/ขาดทุน แต่ละขั้น
ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการแบ่งแยกกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ
ให้กลายเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีระบบบัญชีเป็นอิสระต่อกัน
แต่อยู่ภายในบริษัทเดียวกัน
มิหนำซ้ำ หน่วยองค์กรขนาดเล็กนี้ยังต้องสามารถปรับตัว
ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและการแข่งขันของตลาด
ได้ตลอดเวลาอีกด้วย
คุณ Inamori เรียกหน่วยองค์กรขนาดเล็กนี้ว่า “อะมีบา"
แต่ละหน่วยอะมีบาจะต้องทำการคำนวณกำไร/ขาดทุนของตนเอง
ดังนั้นจึงต้องมีการบันทึกยอดขาย
ด้วยแนวคิดนี้ จึงทำให้มีรายการซื้อขายระหว่างหน่วยอะมีบาภายในบริษัท
เมื่อรวมตารางคำนวณกำไร/ขาดทุนของหน่วยงานอะมีบาทั้งหมด
จะทำให้ทราบยอดซื้อขายภายในบริษัท
เมื่อนำมาหักล้าง ตัดออก ก็จะสามารถคำนวณยอดขายและงบกำไรขาดทุน
โดยรวมได้
Amoeba Management ระบบที่ทำให้งานบัญชี กลับมามีชีวิต
คุณ Inamori ก็เป็นเหมือนผู้บริหารทุกท่านที่จะได้รับรายงาน
ผลกำไรขาดทุนจากฝ่ายบัญชีของบริษัททุกเดือน
ในช่วงแรกของการทำงานท่านไม่เข้าใจบัญชีสักเท่าไร
ฟังศัพท์บัญชีไม่ค่อยเข้าใจ แต่ท่านก็พยายามเรียนรู้เรื่อยมา
จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านก็เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งว่า
คำนวณกำไรขาดทุนอย่างไร และท่านก็ได้ค้นพบอีกสิ่งหนึ่งว่า
ตัวเลขผลประกอบการที่อยู่ในรายงานบัญชีนั้นล้วนแสดง
ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุในอดีต
ดังนั้น ท่านจึงพยายามคิดค้นหา “การทำบัญชีที่มีชีวิต”
ที่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที
จากการที่บริษัท Kyocera เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลังจากก่อตั้งได้เพียง 5 ปีเศษ มีพนักงานเกิน 300 คน
องค์กรขยายใหญ่ขึ้นจน คุณ Inamori ไม่สามารถดูแลหน่วยงานทั้งหมด
ได้ด้วยตนเอง ในเวลานั้น คุณ Inamori จึงคิดที่จะสร้างบุคลากร
ที่สามารถช่วยบริหารจัดการให้เหมือนกับทำด้วยตัวเอง
ในตอนนั้นเองที่ คุณ Inamori เกิดความคิดที่จะ
“แบ่งโครงสร้างบริษัทให้เล็กลง” ท่านจึงสร้างหน่วยงานขนาดเล็ก
ขนาดหัวหน้างานที่หน้างานก็สามารถดูแลรับผิดชอบการบริหารได้
กล่าวคือ ท่านแบ่งโครงสร้างให้เล็กที่สุดเท่าที่จะสามารถ
คำนวณกำไร/ขาดทุนอย่างได้เป็นอิสระ ให้แต่ละหน่วยงาน
ทำตารางคำนวณกำไร/ขาดทุน ซึ่งเทียบเท่ากับงบกำไรขาดทุน
และให้ผู้รับผิดชอบทำการบริหารกำไรขาดทุนของหน่วยงานกันเอง
หลักการแบ่งโครงสร้างให้เป็นหน่วยงานอะมีบา
1. ต้องเป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับฟังก์ชั่น
บนแนวคิดที่ “จะสร้างองค์กรตามฟังก์ชั่นการทำงานเท่าที่จำเป็น
ต่อการดำเนินงานของบริษัท”
ดังนั้นจึงต้องทำให้ฟังก์ชั่นที่เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่ต้องมี
เกิดความชัดเจน และต้องเป็นโครงสร้างองค์กรที่ปราศจาก
ความไร้ประโยชน์
2. ซอยโครงสร้างให้เป็นหน่วยย่อย
โดยซอยโครงสร้างแบ่งตามฟังก์ชั่นให้ได้ตามเงื่อนไข 3 ข้อต่อไปนี้
2.1 มีรายได้ที่ชัดเจน และสามารถคำนวณต้นทุนที่เกี่ยวข้องได้
2.2 จัดตั้งให้เป็นหนึ่งหน่วยธุรกิจที่มีความเป็นเอกเทศ
2.3 สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์และนโยบายได้ทั่วทั้งบริษัท
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำการแบ่งหน่วยองค์กรขนาดเล็ก
ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ รวมถึงสามารถจัดการสรุปบัญชีกำไร/ขาดทุนได้ด้วย
แล้วการทำแบบนี้ ต้องมีองค์ประกอบเรื่องใดบ้างไปชมกัน
สร้างคนสำคัญที่สุด
ผู้นำแต่ละหน่วยอะมีบา มีอำนาจในการบริหารจัดการ
สามารถทำการซื้อขายทั้งกับหน่วยงานภายนอก และซื้อขาย
กับหน่วยงานอะมีบาด้วยกันเองภายในบริษัท รวมถึงมีอำนาจ
ในการทำงบการเงินของตนเอง
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำของแต่ละหน่วยอะมีบา “ต้องเป็นคนดี”
กล่าวคือ ต้องมีความซื่อสัตย์
เนื่องจากตัวเลขที่ป้อนเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ต้องเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง เเพราะถ้าหากผู้นำอยากจะเพิ่มยอดขายหรือกำไรของหน่วยงานตนเอง
หรืออยากตกแต่งบัญชีก็สามารถทำได้
แต่ทว่าหากมีการตกแต่งเพียงเล็กน้อย
ก็จะทำให้ไม่สามารถรับรู้สภาพจริงของการบริหารทั้งบริษัทได้
ดังนั้น Amoeba Management จึงใช้เวลาอย่างมากในการ “สร้างคน”
คุณ Inamori ได้จัดทำหลักสูตรอบรมผู้นำขึ้นมาเพื่อฝึกฝน
Amoeba Management ซึ่งจะประกอบด้วย
“The 12 Principles of Inamori Management”
“The 7 Principles of Kyocera Accounting”
“The 6 Endeavors”
1
โดยหลักสูตรเหล่านี้จะทำให้ผู้บริหารเข้าใจปรัชญาการบริหารจัดการ
แบบ Amoeba Management มากขึ้น
ผู้นำที่มี “Management Mind”
ผู้นำของหน่วยอะมีบาแต่ละคนจะเป็นศูนย์กลางในการวางแผนหน่วยอะมีบาของตัวเอง
ทำหน้าที่ในการรวบรวมไอเดียของสมาชิกทุกคน
ร่วมแรงร่วมใจและใช้ความพยายาม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของหน่วยอะมีบา เมื่อทำเช่นนี้แล้ว
พนักงานที่หน้างานแต่ละคนจะกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ
ช่วยทำให้ “การจัดการแบบทุกคนมีส่วนร่วม”
ที่ทุกคนเข้าร่วมด้วยความสมัครใจเกิดขึ้นจริง
3 สิ่งสำคัญของระบบ Amoeba Management
1. สร้างผู้นำที่มีจิตสำนึกของผู้บริหาร
ในหน่วยอะมีบาจะมีการตั้งผู้นำที่เป็นผู้บริหารทั้งหมด
ผู้นำจะถูกสร้างให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีจิตสำนึกของผู้บริหาร
ในขณะที่บริหารจัดการหน่วยอะมีบา
2. สร้างระบบบัญชีโดยแบ่งเป็นรายหน่วยงาน
ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับตลาด
ใช้ระบบการคำนวณบัญชีที่เป็นอิสระแบ่งเป็นแต่ละหน่วยงาน
ซึ่งจะคำนวณบนพื้นฐานราคาตลาด
เพื่อทำให้ผลประกอบการของหน่วยงานตัวเองมีความชัดเจน
3. การบริหารที่ทุกคนมีส่วนร่วม
แต่ละหน่วยอะมีบาจะต้องมีการทำแผนการบริหาร
ทุกคนต้องออกไอเดียและร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ในความเป็นจริง เมื่อมีการนำ Amoeba Management มาประยุกต์ใช้
อะมีบาที่เป็นหน่วยย่อยในบริษัทจะตั้งเป้าหมาย
เพื่อปรับปรุงผลกำไรของตนเองด้วยตนเอง
โดยการทำการค้ากับองค์กรภายนอก หรือกับหน่วยอะมีบาอื่น
อะมีบาในองค์กรจึงเป็นสมือนองค์กรเอกเทศที่เป็นหน่วยทำกำไร
ได้อย่างมีอิสระ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน
ทั้งยังพยายามที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เมื่ออะมีบาในบริษัทเติบโตและมีขนาดใหญ่แล้ว
บางหน่วยอะมีบาก็แตกออก โดยหน่วยอะมีบาหนึ่งหน่วยอาจจะ
สามารถแตกตัวออกเป็นหน่วยอะมีบาน้อยใหญ่หลายขนาด
ได้มากกว่าหนึ่งหน่วย
ในขณะเดียวกัน ก็มีบางหน่วยอะมีบาที่สร้างตัวจนมีขนาดใหญ่
แล้วใช้เวลาสักพักคงสภาพนั้นไว้โดยไม่แตกตัวออก
นอกเหนือจากนี้ ในบางสถานการณ์ หน่วยอะมีบาหลายหน่วยอาจจะ
รวมตัวกันให้เป็นหนึ่งเพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
เพราะหน่วยย่อยภายในบริษัทสามารถแบ่งเซล์ได้อย่างเป็นอิสระ
ซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนกับ “อะมีบา” เช่นนี้เอง จึงได้ชื่อเรียกว่า
“การจัดการแบบอะมีบา”
วิธีการบริหารจัดการเช่นนี้ ได้ถูกนำไปใช้ในบริษัทต่าง ๆ กว่า 700 บริษัท
ได้แก่ Kyocera, KDDI รวมถึงบริษัทสายการบินเช่น JAL
จนมีผลกำไรจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Official Website of Kazuo Inamori :
日本航空(JAL)とアメーバ経営 ของ 三浦后美 จาก社会科学論集 第 139号 2013.6
ขอบคุณบทความดี ๆ จากคุณพรทิพย์ สุทธิทวีสุข
โฆษณา