1 มิ.ย. 2020 เวลา 12:44 • สุขภาพ
EP 19 โรครำมะนาด (ปริทันต์อักเสบ) โรคเหงือกอักเสบ และภาวะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักทารกน้อยกว่ามาตรฐาน
“โรคปริทันต์อักเสบ หรือรำมะนาดที่เราคุ้นหูกัน คืออะไร?”
จากที่เคยอธิบายเอาไว้ใน EP 1 แล้วว่า โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง เรื้อรังซะจนเกิดการสูญสลายของกระดูกที่ล้อมรอบฟันเราอยู่ ลองคิดว่าฟันเราคือต้นไม้สูงแข็งแรงบึกบึน หากเราขุดดินที่คลุมรากไม้อยู่ทั้งหมดออกไปหมดหรือเกือบหมด ต้นไม้เราจะอยู่ได้อย่างไร มันก็จะโยกไปมาและล้มลง หลุดร่วงไปในที่สุด เช่นเดียวกันกับฟันของเรา หากกระดูกที่ล้อมรอบฟันละลายหายไปมากๆ ฟันของเราคงต้องถูกถอนออกไป หรือไม่ก็หลุดออกไปเอง
โดยโรคปริทันต์อักเสบเกิดจากแบคทีเรียนั่นเอง โดยปกติในช่องปากเรามีแบคทีเรียอยู่แล้วล่ะ แต่หากแบคทีเรียมันอยู่ในปากของเรา ไปเกาะตามเหงือกหรือร่องเหงือกของเรามากๆ สะสมเยอะๆ จนทำลายทั้งเหงือก ฟันและกระดูกบริเวณนั้น นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ฟันเราโยกตามมาได้ในอนาคต
“แล้วโรคปริทันต์อักเสบ จะเกี่ยวข้องกับภาวะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักทารกน้อยกว่ามาตรฐานได้อย่างไรกัน?”
โดยทั่วไป ช่องปากของเราเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่พร้อมจะไปส่งเสริมโรคทางระบบให้แย่ลงอยู่แล้ว โดยเมื่อเกิดการอักเสบในหญิงตั้งครรถ์ (ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบจาก ฟันผุติดเชื้อ ปริทันต์อักเสบ หรือเหงือกอักเสบก็ตาม) ร่างกายจะหลั่งสารอักเสบออกมา เช่น อินเตอร์ลูคีน (IL1β, IL6) ทูเมอร์เนกโครสิสแฟกเตอร์ (TNFα) หรือ พรอสตาแกรนดิน (Prostaglandin) เป็นต้น สารอักเสบเหล่านี้สามารถผ่านรกของคุณแม่ได้ ทำให้เกิดภาวะครรถ์เป็นพิษ อีกทั้งทารกในครรถ์ก็จะได้รับสารอักเสบเหล่านี้เช่นกัน
“ภาวะดังกล่าวพบได้บ่อยหรือไม่?”
- จากรายงานของ Saini et al (2010) รายงานการอักเสบถึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักทารกน้อย โดยพบว่าการอักเสบทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้มากถึง 30 – 50% และ ปริทันต์อักเสบคือโรคที่พบมากที่สุด
- การศึกษาของ Offenbacher et al (1996) ก็รายงานไว้เช่นกัน ว่าคุณแม่ที่มีโรคปริทันต์อักเสบและยังไม่ได้รับการรักษาสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักทารกน้อย มากถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ
อันที่ที่จริงก็มีอีกหลายงานวิจัยและบทความทางวิทยาศาสตร์ที่ออกมายืนยันแล้วเช่นกัน โดยอ้างถึงกลไกการเกิดการอักเสบเนี่ยแหละ ตอนนี้แค่ผมหยิบมาสองรายงาน ก็ขนลูกแล้วครับ ฮ่าๆๆ
ความสัมพันธ์ของการอักเสบภายในช่องปาก ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายอีกแล้ว จากบทความนี้ จะเห็นว่า การอักเสบไม่ได้ทำร้ายแค่ 1 คน แต่อาจทำร้ายอีกคนที่อยู่ในครรถ์ได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีที่สุด
คำแนะนำของคุณแม่
1. หากวางแผนว่าจะตั้งครรถ์ ให้ตรวจช่องปาก ขูดหินปูน อุดฟัน ลดการอักเสบในช่องปากให้ดีที่สุดก่อน
2. คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรถ์ ควรมาตรวจช่องปากอีกครั้งในช่วงไตรมาตรที่ 2 ของการตั้งครรถ์
ปล. ผู้ที่อยู่ระหว่างตั้งครรถ์ควรเลี่ยงการทำฟันช่วงไตรมาตร 1 และ 3 ของการตั้งครรถ์ครับ เพราะจะมีผลต่อการสร้างอวัยวะของทารก และมีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจ “ดักตัสอาร์เธอริโอซัส” (ductus arteriosus) ไม่ปิด
3. ต้องแปรงฟันให้สะอาด และถูกวิธีทุกๆวันเลยครับ เพื่อลดเชื้อในช่องปาก (อันที่จริงก้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม ฮ่าๆ)
อย่าลืม กดไลค์ กดแชร์ กดติดตามนะครับ ^^
อ้างอิง:
1. Saini, R., Saini, S., & Saini, S. R. (2010). Periodontitis: A risk for delivery of premature labor and low-birth-weight infants. Journal of natural science, biology, and medicine, 1(1), 40–42. https://doi.org/10.4103/0976-9668.71672
2. Walia, M., & Saini, N. (2015). Relationship between periodontal diseases and preterm birth: Recent epidemiological and biological data. International journal of applied & basic medical research, 5(1), 2–6. https://doi.org/10.4103/2229-516X.149217
3. Saini R, Marawar PP, Shete S, Saini S. Periodontitis, a true infection. J Glob Infect Dis. 2009;1(2):149‐150. doi:10.4103/0974-777X.56251
4. Offenbacher S, Katz V, Fertik G, et al. Periodontal infection as a possible risk factor for preterm low birth weight. J Periodontol. 1996;67(10 Suppl):1103‐1113. doi:10.1902/jop.1996.67.10s.1103
5. Ren, H., & Du, M. (2017). Role of Maternal Periodontitis in Preterm Birth. Frontiers in immunology, 8, 139. https://doi.org/10.3389/fimmu.2017.00139
โฆษณา