1 มิ.ย. 2020 เวลา 13:27 • ความคิดเห็น
อยากเท่าเทียมนับศตวรรษ
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ขบวนการเรียกร้องสิทธิของพลเมือง หรือ Civil Rights Movement เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2453 นำโดยวิลเลียม อี.ดี. ดูบอยส์ นักเขียนและนักการศึกษาเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน เป็นขบวนการที่เรียกร้องสิทธิของคนอเมริกันผิวดำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันกับคนอเมริกันทั่วไป มีการรวมกลุ่มก่อตั้งสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของประชาชนผิวสี หรือ The Association for the Advancement of Colored People เรียกสั้นๆ ว่า เอ็นเอเอซีพี
https://standingcommissiononliturgyandmusic.org/2010/08/03/august-3-william-edward-burghardt-dubois-sociologist-1963/
สมาคมเอ็นเอเอซีพีต้องการสถาปนาความเท่าเทียมกันระหว่างประชาชนคนอเมริกันทุกสีผิวโดยใช้วิธีทางกฎหมาย คือการนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดสหรัฐกรณีที่มีการละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะตามบทแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 14 และมาตรา 15 ซึ่งเป็นเรื่องของการประกันความเท่าเทียมกันของประชาชนคนอเมริกันทั้งปวง
ขบวนการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองมีบทบาทมากในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 (พ.ศ. 2493) และช่วงทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ.2503) ซึ่งผู้นำคนผิวดำที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้นคือ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์
https://www.britannica.com/biography/Martin-Luther-King-Jr
ท่านผู้นี้ก่อตั้งสมาคมผู้นำคริสเตียนแห่งภาคใต้ หรือ Southern Christian Leadership Conference โดยต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวทั่วทางภาคใต้ของสหรัฐด้วยหลักอหิงสา จนรัฐสภาสหรัฐยอมออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองช่วงที่ 2 ในทศวรรษที่ 1960 เพื่อประกันความเสมอภาคคนอเมริกันโดยทั่วหน้า
ความเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมกันทางสีผิวในสหรัฐยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างสหพันธ์เพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างคนต่างสีผิว Congress for Racial Equality หรือซีโออาร์อีที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2485 เป็นองค์การเพื่อสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ โดยมีผู้นำผิวสีเป็นประธานคนแรกคือ เจมส์ เลนนาร์ด ฟาร์เมอร์
http://www.african-american-civil-rights.org/james-farmer/
องค์กรนี้มีภารกิจที่ระบุไว้ชัดเจนคือ “จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ อายุ ความพิการ รสนิยมทางเพศ ศาสนา หรือเชื้อชาติ”
ซีโออาร์อีในสมัยของฟาร์เมอร์มีนโยบายที่ตั้งใจให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างคนต่างผิวสีด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ซีโออาร์อียุคหลังจากฟาร์เมอร์ ก็เปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้ด้วยการสนับสนุนการใช้กำลังและความรุนแรงในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้คนผิวสีผ่าน Black Power หรือพลังผิวดำ
ซีโออาร์อียังสนับสนุนให้คนผิวดำรวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มเศรษฐกิจ และกลุ่มสังคม เพื่อให้คนผิวสีเข้มแข็งพอที่จะแยกตัวออกจากสังคมคนผิวขาวได้ ซึ่งนโยบายที่ต้องการแยกคนผิวสีออกมาเป็นเอกเทศนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า คนผิวดำไม่มีโอกาสได้รับสิทธิความเท่าเทียมกับคนผิวขาวในสังคมที่มีคนผิวขาวเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ
110 ปีผ่านไป แทนที่ปัญหาความเท่าเทียมกันระหว่างสีผิวจะคลี่คลายหายไป แต่ตรงกันข้าม กลับยิ่งรุนแรงขึ้น
ตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2563จนถึงขณะที่ผมเรียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพอยู่นี้ การเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติในสหรัฐเกิดขึ้นมาก และมีการกระจายขยายไปในสื่อต่างๆ เยอะแยะ
นอกจากการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ที่ถูกตำรวจใช้เข่ากดจนขาดใจตายแล้ว ยังมีกรณีที่ นายอาหมัด อาร์เบอรีถูกยิงตายขณะที่วิ่งออกกำลังกาย โดยพ่อลูกผิวขาว พร้อมอ้างว่านายอาร์เบอรีเป็นโจรที่ทำร้ายลูกชาย ทั้งที่นายอาร์เบอรีไม่มีอาวุธ
หรือที่ผมยกตัวอย่างเมื่อวันก่อน นายฮิเมเนซ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น เชื้อสายละตินอเมริกา ถูกตำรวจใส่กุญแจมือระหว่างถ่ายทอดสดการประท้วง เจ้าหน้าที่บอกว่าที่จับกุมเพราะนายฮิเมเนซไม่ยอมออกจากจุดที่เจ้าหน้าที่บอก ขณะที่นักข่าวผิวขาวที่อยู่ใกล้กันกลับไม่ถูกจับกุม
https://www.smh.com.au/world/north-america
สหรัฐวนอยู่กับการประท้วงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันมานานนับศตวรรษ
เฮ้ย ทรัมป์ ก่อนที่ยูจะชี้นิ้วสั่งประเทศโน้นชาตินี้ จงทำประเทศของยูให้คนมีความเท่าเทียมกันให้ได้ซะก่อน.
โฆษณา