2 มิ.ย. 2020 เวลา 13:00 • ปรัชญา
“วิถีแห่งขอนไม้”
อุปมาการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ
กับขอนไม้ลอยน้ำ ตอนแรก
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จประทับอยู่
ใกล้แม่น้ำคงคา ทรงเคยตรัสเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิไว้ว่า
.
.
“ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ ไม่นานเลย เดี๋ยวก็จะถึงพระนิพพาน”
พระองค์ทรงแสดงธรรมนั้น โดยอาศัยเหตุการณ์รอบตัว
ใช้สภาพแวดล้อมในขณะนั้นมาสื่อสาร
“เราจะแสดงธรรมให้ผู้บวชด้วยศรัทธาเหล่านี้
พ้นจากวัฏฏะ ด้วยอุปมาขอนไม้นี้”
พระองค์ทรงชี้ให้พระภิกษุดูขอนไม้ที่ลอยมา แล้วถามว่า
”ภิกษุทั้งหลายเห็นขอนไม้นั้นไหม?”
“เห็นพระเจ้าข้า”
“ ขอนไม้นั้นนะ
ถ้าไม่ติดฝั่งโน้น ๑
ถ้าไม่ติดฝั่งนี้ ๑
ถ้าไม่จมลงกลางแม่น้ำ ๑
ถ้าไม่เกยตื้น ๑
ถ้าไม่ถูกมนุษย์เก็บเอาไปใช้ ๑
ถ้าไม่ถูกอมนุษย์เอาไป ๑
ถ้าไม่ติดเวียนอยู่ในน้ำวน ๑
ถ้าไม่เน่าใน ๑
ถ้าขอนไม้นั้นมีเงื่อนไข คือ ปลอดจากภัยจาก ๘ อย่างนี้ขอนไม้นั้นจะลอยไปออกสู่สมุทร”
“แม้เธอทั้งหลายก็เช่นกัน ถ้าเธอทั้งหลายจะไม่เข้าใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมในท่ามกลาง ไม่เกยตื้นไม่ถูกมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกอมนุษย์เข้าสิง ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ ไม่เป็นผู้เน่าภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น
เธอทั้งหลายก็น้อมไปสู่นิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสัมมาทิฏฐิย่อมน้อมไปสู่นิพพาน”
🍃 อุปมา “ขอนไม้ลอยน้ำ” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
มีความหมายว่าอย่างไร?
🍁 ๑) ถ้าไม่ติดฝั่งโน้น ๒) ถ้าไม่ติดฝั่งนี้
คำว่า “ฝั่งนี้” หมายถึง อายตนะภายใน
คำว่า “ ฝั่งโน้น” หมายถึง อายตนะภายนอก
อายตนะ แปลว่า ช่องทาง หมายถึง
ดินแดนต่อความรู้ หรือเครื่องรับรู้และสิ่งที่ถูกรู้
อายตนะภายใน คือ เครื่องรับรู้ มี ๖ ได้แก่
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก คือ เครื่องถูกรู้ มี ๖ ได้แก่
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
โดยอายตนะภายใน และ อายตนะภายนอก
จะจับกันเป็นคู่ ๆ คือ
ตา คู่กับ รูป
หู คู่กับ เสียง
จมูก คู่กับ กลิ่น
ลิ้น คู่กับ รส
กาย คู่กับ โผฏฏฐัพพะ
ใจ คู่กับ ธรรมารมณ์
1
▫️โผฏฏฐัพพะ คือ สิ่งที่มาสัมผัสกาย มี ๓ ธาตุ คือ
ธาตุไฟ (ร้อน-เย็น) ธาตุดิน ( อ่อน-แข็ง)
ธาตุลม (ตึง-ไหว)
▫️ ธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกรับรู้ทางใจ เรื่องราวนึกคิด
คนทั่วไปถ้าไม่ติดฝั่งโน้น (อายตนะภายนอก)
ก็ต้องติดฝั่งนี้ (อายตนะภายใน) เช่น
ขณะที่เราเห็นสิ่งใด ใจของเรามักจะไหลไปหาสิ่งนั้น
ขณะนี้เห็นอาหาร ใจก็ไหลไปหาอาหาร
ขณะนี้เห็นทุ่งดอกไม้ ใจก็ไหลไปหาทุ่งดอกไม้
แม้แต่นักปฏิบัติก็ตาม เวลานั่งสมาธิแล้วใจลอย
ความคิดฟุ้งซ่าน ก็จะพยายามไม่ให้ใจลอยด้วยการ
พยามยามดึงจิตกลับมาไว้ที่กาย บางคนไม่อยากให้ไหลไปก็เพ่ง พยายามเพ่งตรึงเอาไว้ สุดท้ายติดหมด
ทั้งฝั่งโน้นและฝั่งนี้
“เผลอไปก็ติดฝั่งโน้น เพ่งเอาไว้ก็ติดฝั่งนี้”
🍁 ๓) ถ้าไม่จมลงกลางแม่น้ำ
คำว่า “จมตรงกลาง” หมายถึง นันทิราคะ
นันทิ แปลว่า ความเพลิดเพลินยินดี
ราคะ แปลว่า ความกำหนัด
การแปลภาษาบาลีเป็นไทย ต้องแปลจากท้ายมาหน้า
นันทิราคะ จึงแปลว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความเพลินเพลินยินดี
เวลาเราเจออะไรที่รู้สึกพึงพอใจ เราจะมีความเพลิดเพลินยินดีก่อน เมื่อมีพึงพอใจแล้วก็มีความปรารถนาอยากได้อีก เช่น เห็นหน้าคนนี้แล้วรู้สึกพอใจเพลิดเพลิน รอบแรกเรียกยินดี คือ “นันทิ “
เมื่อมองแล้วรู้สึกอยากมองอีกครั้งเป็นความกำหนัด
คือ “ระคะ”
การขวนขวายเพื่อมองอีกครั้งจึงเรียกว่า “นันทิราคะ”
🍁 ๔) ถ้าไม่เกยตื้น
คำว่า “เกยตื้น” คือ คนที่มีอัสมิมานะ
“มานะ” แปลว่า การถือตัว ฉันดีกว่า ฉันเลิศกว่า
เมื่อคิดว่าตนเองเก่ง เราจึงหมดหนทางที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
1
“อัสมิมานะ” แปลว่า การถือตัวว่าเป็นนั่น เป็นนี่
ถือตัวว่าดีกว่า เป็นเลิศกว่าผู้อื่น เช่น
ฉันเป็นพระถือธุดงค์ ฉันเป็นคนมีชื่อเสียง
ฉันเป็นคนมีอำนาจ ฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือที่เหล่านักเลงวัยรุ่นต่างชอบพูดกันว่า “รู้ไหมฉันลูกใคร?”
อามิสมานะ เป็นเหมือนตัวคอยขัดขวางให้ไม่ก้าวหน้า
ในทางธรรมปฏิบัติ เหมือนขอนไม้ที่เกยตื้น
สังเกตเห็นเห็นไหมว่า ขอนไม้เวลาเกยตื้น มันจะเชิด ๆ เปรียบเที่ยบเหมือนการเชิดหน้า นี่แหละเกยตื้น
เพื่อไม่ให้บทความยาวจนเกินไปขออนุญาต
แบ่งเป็น 2 ตอนค่ะ โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ 😊
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ❤️💚
#กระเรียนน้อย
Reference :
🙏 สาธุในธรรมะบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
▫️ หนังสือ วิถีแห่งขอนไม้
▫️ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา