2 มิ.ย. 2020 เวลา 09:41 • ข่าว
อเมริกาเคยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ด้วยแนวทางสันติภาพ แต่สุดท้ายวิธีของโคลิน เคเปอร์นิค ก็ถูกต่อต้านด้วยข้อหา "ชังชาติ" เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร เราร้อยเรียงเรื่องมาให้คุณอ่านแล้ว
สำหรับคนที่ต้องการเห็นโลกเปลี่ยนแปลง เห็นความเท่าเทียมกันของคนต่างสีผิว คงมีความหวังกับกระแส Black Lives Matter ไม่น้อย
เพราะไม่บ่อยนักที่คนทั่วโลกจะมองเห็นปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของคนผิวขาวกับผิวดำมากมายขนาดนี้ คือเราเห็นเลยว่าเซเล็บหลายๆประเทศ พร้อมใจแสดงออกว่ายืนอยู่เคียงข้างกลุ่มคนผิวดำ ที่มีสิทธิมีเสียงน้อยกว่าคนผิวขาว ในสังคมอเมริกัน
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ว่ากระแสที่อุตส่าห์จุดติดขึ้นมาแล้ว กลับต้องพังทลายลงไป เพราะกลุ่มผู้ประท้วงนั่นล่ะ ที่ไม่สามารถคอนโทรลตัวเองและคนรอบข้างได้อยู่ มีการใช้ความรุนแรงที่เกินพอดี ทำร้ายคนบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพวกมั่วผสมโรงไปปล้นสะดม เผาบ้านเรือนร้านค้าอีกต่างหาก
มีคลิปเหตุการณ์หนึ่งที่เศร้ามาก เกิดขึ้นที่ซาน โฮเซ่ ในแคลิฟอร์เนีย มีกลุ่มผู้ประท้วงไปปิดถนน ไม่ให้คนทั่วไปผ่านได้ ชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องใช้เส้นทาง ก็เดินลงไปบอกให้เปิดถนน เพราะตอนนี้รถติดยาวเหยียด และถนนก็มีเส้นเดียว แต่ปรากฏว่ากลุ่มคนประท้วง นอกจากจะไม่เปิดถนนแล้ว ยังไล่ทำร้าย และทุบรถของชาวบ้านอีกต่างหาก รวมถึงที่ดัลลัส ชายผิวขาวคนหนึ่งโดนรุมทำร้ายจนอาการโคม่าเป็นตายเท่ากัน
ตอนนี้ อเมริกาในหลายๆเมือง เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไปแล้ว ราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์เรื่อง Purge ก็ไม่มีผิด ผู้คนจะทำเลวร้ายแค่ไหนก็ไม่มีใครว่าอะไรได้
สถานการณ์ ณ เวลานี้ ตำรวจทำงานยากมาก เพราะถ้าระงับเหตุด้วยกำลัง ก็จะโดนโจมตีอีกว่าตำรวจทำร้ายประชาชน และอาจส่งผลให้สถานการณ์ลุกฮือได้อีกครั้ง กลายเป็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประท้วงทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ กระแสต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนผิวดำ ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะประชาชนทั่วไปก็จะรู้สึกว่าแค่เคารพกฎหมายบ้านเมืองยังทำไม่ได้เลย แล้วจะมาคาดหวังความเปลี่ยนแปลงอะไรกัน
และที่สำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน ไม่มีใครรับได้กับความรุนแรงหรอก นี่เป็นสัจธรรมของโลกอยู่แล้ว
ความรุนแรง ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง คนผิวดำเกลียดที่ตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงกับจอร์จ ฟลอยด์ และในทางกลับกัน คนผิวขาวก็เกลียดที่คนผิวดำ ใช้ความรุนแรงในการประท้วง และปล้นสะดมร้านค้า
ทุกอย่างเต็มไปด้วยความอาฆาตแค้น ความโมโห ซึ่งแน่นอน ปลายทางนั้น มันคือซากปรักหักพังแห่งความสูญเสีย
เมื่อปีก่อนมีเกมเครื่องเพลย์สเตชั่น ชื่อ Detroit Become Human เนื้อเรื่องของเกม เป็นเหตุการณ์ในยุคอนาคต โดยมนุษย์ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อเป็นข้ารับใช้ คอยทำงานตามที่ตัวเองสั่ง แล้ววันหนึ่ง หุ่นยนต์ก็เริ่มมีความรู้สึกของตัวเอง พวกเขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์อีกแล้ว แต่มองว่าตัวเองเป็นเหมือน Species หนึ่ง ที่ควรได้รับการปรนนิบัติเทียบเท่ากับสายพันธุ์มนุษย์
ระหว่างเล่นเกม บทบาทของเราคือหุ่นยนต์ เป้าหมายของเราคือทำให้เผ่าพันธุ์หุ่นยนต์มีที่ยืนต่อไปบนโลกให้ได้ ซึ่งเราจะสามารถเลือกได้ว่า เราจะปฏิวัติแบบไหน โดยเกมจะมีทางเลือก 2 อ็อปชั่น คือ Peaceful กับ Violent
แบบ Violent ก็คือใช้ความรุนแรงไปเลย ทำสงครามระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ ใครชนะก็ยึดครองประเทศไป ซึ่งวิธีนี้สุดท้ายจะเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่ก็ชัดเจนไปเลยว่าจะมีแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่หุ่นยนต์ ก็มนุษย์ ที่จะได้เป็นเจ้าของประเทศ
ส่วนแบบ Peaceful คือการต่อสู้ด้วยสันติภาพ วิธีนี้คนเล่นต้องใช้ความอดทนอย่างมาก คือการใช้ความรุนแรงมันง่ายกว่ากันมาก แค่ลั่นกระสุนหนึ่งนัดก็จบแล้ว แต่แบบสันติภาพ ต้องใช้การพูดคุย ประนีประนอม และโน้มน้าวให้มนุษย์มองเห็นคุณค่าของหุ่นยนต์ ทำให้มั่นใจว่า ทั้งสองสปีซีส์ สามารถอยู่ร่วมกันในประเทศเดียวกันได้
ตัวเกมนั้น ได้รับความนิยมพอสมควร เพราะมันสะท้อนออกมาจากชีวิตจริง คือการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันมีสองทางเลือก คือรุนแรง หรือ สันติภาพ อยู่ที่ว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน
กรณีการประท้วงของคนผิวดำที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ยากที่จะเดินไปสายสันติภาพอีกแล้ว ทุกอย่างเต็มไปด้วยความรุนแรง ฝ่ายหนึ่งแรงมา ฝ่ายหนึ่งแรงกลับ สุดท้ายทุกอย่างก็ยิ่งบานปลายกลายเป็นความแตกร้าวขึ้นกว่าเดิม ถ้าเป็นในเกมก็เหมือนว่าเพลเยอร์ เลือกอ็อปชั่น Violent ไป
จริงๆแล้ว สังคมอเมริกัน มีโอกาสที่จะเลือกอ็อปชั่น Peaceful เช่นกัน แต่พวกเขาตัดสินใจทิ้งโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ มีควอเตอร์แบ็กชื่อโคลิน เคเปอร์นิคอยู่ในทีม
โคลิน เคเปอร์นิค มีคุณแม่เป็นคนผิวขาว ส่วนคุณพ่อเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน ดังนั้นเขาไม่ใช่คนผิวขาว และเขาเองรู้สึกถึงความแตกต่างของตัวเองตั้งแต่สมัยเรียน ที่สังคมมักจะ Treat นักกีฬาผิวขาวเป็นอย่างดี ถ้าเทียบกับเขาแล้ว
เคเปอร์นิค เรียนที่มหาวิทยาลัยเนวาด้า ก่อนที่จะถูกดราฟต์เข้า NFL ในรอบ 2 โดยย้ายไปอยู่ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ ซึ่งผลงานในสนามก็ยอดเยี่ยมมาก ในปี 2013 พาซานฟรานซิสโกเข้าถึงซูเปอร์โบว์ล แม้จะแพ้บัลติมอร์ เรฟเว่นส์ อย่างน่าเสียดายก็เถอะ
1
ชีวิตของเคเปอร์นิค ดูแฮปปี้ทุกอย่าง เขาต่อสัญญาฉบับใหม่กับซานฟรานซิสโก ได้รับรายได้ 11.9 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนั้นยังถือเป็นนักกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง มีโฆษณาเข้ามาหาเขามากมายหลายแบรนด์
2
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปมในใจเขามาตลอด ในฐานะที่ไม่ใช่คนผิวขาว คือการถูกปฏิบัติตัวอย่างแตกต่างในสังคม ยิ่งเขาเติบโตขึ้นก็ได้เข้าใจว่า โอกาส และสิทธิต่างๆที่สหรัฐฯนั้น ถ้าคุณเป็นคนขาวสังคมจะเอื้อให้คุณเติบโตได้ง่ายกว่า
1
ในที่สุด ความอัดอั้นในใจก็เก็บไว้ไม่อยู่ เมื่อเห็นคนผิวดำโดนกระทำหลายๆครั้งเข้า ทำให้เคเปอร์นิคตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ให้ได้ และในที่สุดเขาก็ได้ไอเดีย
จุดที่น่าสนใจคือ เคเปอร์นิคไม่ต้องการสร้างความรุนแรง เขาไม่เชื่อว่าการต่อต้านด้วยความรุนแรงจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ดังนั้นเขาเลือกใช้อีกวิธีหนึ่งในการประท้วง คือ "ต่อต้านด้วยสันติภาพ"
3
ในเกมปรีซีซั่นก่อนฤดูกาล 2016 จะเริ่ม ซานฟรานซิสโกลงเล่นกับกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ ซึ่งตามธรรมเนียมก่อนแข่ง ทุกคนในสนามต้องยืนตรงเพื่อเคารพเพลงชาติสหรัฐฯ แต่ปรากฏว่า ระหว่างเพลงชาติบรรเลง เคเปอร์นิค เลือกจะไม่ยืน เขาใช้การคุกเข่าหนึ่งข้าง จนเพลงชาติจบ เขาก็ยืนขึ้นแล้วพร้อมลงเล่นตามปกติ
หลังจบเกม เคเปอร์นิคอธิบายในการกระทำของตัวเองว่า "ผมไม่ต้องการยืนขึ้น เพราะผมไม่ภูมิใจกับธงชาติและเพลงชาติของเราตอนนี้ วิธีที่ประเทศเราเลือกปฏิบัติกับคนผิวดำ และคนผิวสีอื่นๆ มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
2
"สำหรับผม เรื่องนี้มันยิ่งใหญ่กว่าการแข่งขัน และผมรู้สึกว่า ตัวเองจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก ถ้าไม่ออกมาแสดงจุดยืนอะไรสักอย่าง"
1
วิธีของเคเปอร์นิคคือการประท้วงอย่างสงบ เขาไม่เคารพธงชาติ เพราะไม่คิดว่าชาติสร้างความเท่าเทียมกัน แต่เคเปอร์นิคก็ไม่ได้เรียกร้องให้ใครทำตาม เขาก็ทำของเขาคนเดียว เขาเชื่อว่าเมื่อสังคมเห็นสัญลักษณ์ที่เขาส่งไป ก็น่าจะกลับมาฉุกใจคิดขึ้นมาบ้างว่า สภาพที่เป็นอยู่มันโอเคแล้วจริงๆหรือเปล่า
เคเปอร์นิคก็ทำแบบนั้นซ้ำไปเรื่อยๆ วีกแล้ววีกเล่า ถึงจุดหนึ่งก็มีเพื่อนร่วมทีมบางรายมาร่วมคุกเข่าด้วย นอกจากนั้นยังมีอิมแพ็กต์ไปถึง นักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย คนที่เห็นด้วยกับแนวคิดของเคเปอร์นิค ก็ตัดสินใจ "ไม่ยืน" เคารพเพลงชาติ ตอนที่มีเกมการแข่งขันกีฬาท้องถิ่น
ถึงนาทีนี้มีคนผิวดำจำนวนมาก ที่แสดงออกพร้อมกันว่าไม่พอใจโครงสร้างของสังคม ซึ่งการประท้วงอย่างสงบโดยไม่สร้างความรุนแรงในแนวทางของเคเปอร์นิค โชว์ให้เห็นว่าต่อให้เกลียดชังระบบเดิมแค่ไหน แต่ทุกคนก็ยังอยู่บนพื้นฐานของความมีอารยะได้
ความพยายามของเคเปอร์นิค เริ่มทำให้คนตั้งคำถามเรื่องเพลงชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อประเทศไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง แล้วแบบนี้เราควรจะเคารพธงชาติอีกหรือ
ลองคิดดูถ้าคนสักครึ่งประเทศ ไม่ยอมยืนตรงเคารพเพลงชาติ จุดนั้นรัฐบาลอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ซึ่งสิ่งที่เคเปอร์นิคพยายามประท้วงอย่างสันติ ก็ค่อยๆหว่านเมล็ดไปที่คนรุ่นใหม่อย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่วิธีการของเคเปอร์นิค เริ่มจะได้ผลสถานการณ์ก็พลิกกลับ เมื่อเขาโดนโจมตีในข้อหา "ชังชาติ"
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า "ถ้านักกีฬาอาชีพคนไหน ใน NFL หรือลีกอื่นๆ ที่มีโอกาสทำเงินได้ปีละหลายล้านดอลลาร์ เขาคนนั้นไม่ควรทำให้ธงชาติสหรัฐอเมริกาต้องเสื่อมเสียเกียรติยศ พวกเขาทุกคนควรยืนเคารพเพลงชาติ ถ้าหากคุณทำธงชาติแปดเปื้อน และไม่ให้เกียรติเพลงชาติ คุณต้องโดนไล่ออก และไปหาอาชีพอื่นทำซะ"
คนที่เห็นด้วยกับโดนัลด์ ทรัมป์ มีไม่น้อย พวกเขาโฟกัสถึงเคเปอร์นิคในการที่ไม่เคารพเพลงชาติ มากกว่าสารที่เคเปอร์นิคต้องการจะส่งไป และตำหนิเคเปอร์นิคว่าเป็นพวกชังชาติ เกลียดชาติตัวเอง ไม่ใช่สหรัฐฯนี่หรอกหรือ ที่สร้างโอกาสให้เขากลายเป็นนักกีฬาระดับประเทศได้
แมตต์ ฮัสเซลเบ็ค อดีตควอเตอร์แบ็กของซีแอตเติล ซีฮอว์กส์ ทวีตข้อความแขวะเคเปอร์นิคว่า "นี่คือวิธีง่ายๆที่จะทำให้คุณตกงาน"
เช่นเดียวกับในเกมที่ซานฟรานซิสโกไปเยือนซานดีเอโก้ ชาร์จเจอร์ ทางเคเปอร์นิคก่อนเกมก็คุกเข่าไปตามปกติ แต่พอเกมเริ่มเขาโดนแฟนๆซานดีเอโก้รุมโห่อย่างหนัก และโจมตีว่าไม่มีสำนึกในความเป็นอเมริกัน
1
แม้แต่แฟนๆซานฟรานซิสโกเองนั้น ก็มีหลายคนที่มองว่าเคเปอร์นิคควรตั้งใจเล่นกีฬาไป ทำหน้าที่ของตัวเองพอ ไม่ต้องมาแสดงออกทางการเมืองอะไรมากนัก
1
สำหรับแบรนด์สินค้าต่างๆที่เป็นสปอนเซอร์นั้น พวกเขากังวลเรื่องกระแสตีกลับ กล่าวคือ ถ้าแบรนด์สนับสนุนเคเปอร์นิค ก็อาจมีคนกลุ่มหนึ่งมาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ในอีกมุม ก็อาจเสียฐานลูกค้ากลุ่มหนึ่งไป ดังนั้นแบรนด์ต่างๆจึงเริ่มคิดที่จะเลิกสนับสนุนเคเปอร์นิค คือไปเป็นสปอนเซอร์ให้นักกีฬาคนอื่น ก็เป็นการหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวจากประเด็นการเมืองได้
หลังจากแสดงจุดยืนด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติเป็นเวลา 1 ฤดูกาล ในเดือนพฤษภาคม 2017 เคเปอร์นิคแยกทางกับซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ กลายเป็นผู้เล่นฟรีเอเยนต์ แต่เขาก็ไม่ได้กังวลใจอะไรมาก เพราะมีอายุแค่ 28 ปี แถมฟอร์มการเล่นก็ยอดเยี่ยม ยังไงก็หาทีมใหม่ได้สบายๆอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่เขาต้องเผชิญก็คือ ทั้ง 32 ทีมในลีก ไม่มีใครเซ็นสัญญากับเขาเลย คือไม่มีทีมไหนกล้าให้โอกาสเคเปอร์นิค เพราะรู้อยู่แล้วว่า เคเปอร์นิคถ้าย้ายมาก็ต้องคุกเข่าต่อ เพื่อแสดงจุดยืนแน่นอน ซึ่งทีม NFL ไม่พร้อมจะให้เกิดดราม่ากับทีมตัวเอง ดังนั้นจึงไม่เสี่ยงเอาปัญหาใส่ตัวดีกว่า
แม้ NFL พยายามจะช่วยแล้ว มีการจัด workout ให้ทีมในลีกมาดูฟอร์มของเคเปอร์นิค ซึ่งเห็นชัดเจนว่ายังเล่นในระดับลุ้นแชมป์ได้สบายๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเซ็นสัญญาอยู่ดี นั่นกลายเป็นว่า เคเปอร์นิคต้องกลายเป็นควอเตอร์แบ็กตกงาน ทั้งๆที่วัดฝีมือจริงๆ เขาเก่งกว่าหลายคนที่อยู่ในลีกด้วยซ้ำ
เคเปอร์นิคโดนสปอนเซอร์ถอนออกเกือบหมด เหลือเพียงแค่ไนกี้เท่านั้นที่ยังอยู่ โดยในปี 2018 ไนกี้ลงโฆษณาเป็นภาพนิ่งเคเปอร์นิค แล้วมีประโยคสั้นๆเขียนว่า
"Believe in something, even if it means sacrificing everything"
จงเชื่อมั่น แม้ต้องเสียสละทุกๆสิ่ง
และใช่ โคลิน เคเปอร์นิค เขาเสียทุกสิ่งจริงๆ
การประท้วงแบบ Peaceful ของเขาจบลงด้วยความเจ็บปวด เคเปอร์นิคกลายเป็นคนตกงาน และผ่านมา 3 ปี เขาก็ยังหาทีมเล่นไม่ได้อีกเลย จนถึงวันนี้
สิ่งทีเราเห็นจากเคสเคเปอร์นิคก็คือ ตอนที่มีคนพยายามหาทางออกด้วยวิธี Peaceful ประท้วงโดยสันติ เพื่อให้สังคมหันหน้ามาคุยกัน ลองปรึกษากันเรื่องแก้กฎหมายดูไหม หรือ ทำให้เป็นวาระแห่งชาติไปเลย น่าแปลกที่ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยเท่าไหร่
ฝั่งคนผิวขาวก็ยัดเยียดข้อหาชังชาติให้เคเปอร์นิค ขณะที่กลุ่มคนผิวดำมีบางส่วนที่สนับสนุน แต่ส่วนใหญ่มากกว่ามองว่าวิธีของเคเปอร์นิคมันเลื่อนลอย แค่คุกเข่า ประท้วงเงียบ มันจะได้ผลอะไร สู้แสดงความรุนแรงออกไปให้เห็นยังจะสร้างอิมแพ็กต์ได้มากกว่า
อ็อปชั่น Peaceful เคยมีโอกาสเข้ามา เพื่อหาครึ่งทางของทั้งสองฝ่ายแล้ว แต่มันก็ถูกต่อต้านให้จบไปอย่างรวดเร็ว และแน่นอน ตอนนี้ทางออกเดียวที่เหลือถ้าเป็นในเกม Detroit Become Human ก็คืออ็อปชั่น Violent หรือความรุนแรงเท่านั้น
ฝั่งคนผิวดำตอบโต้ด้วยความรุนแรง คนผิวขาวตอบโต้กลับ สู้กันไปสู้กันมา สุดท้ายปัญหาก็จะไม่ได้ดีขึ้น เกิดความสูญเสียมากมาย อย่างไร้ประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง
จริงๆเหตุการณ์เรื่องเคเปอร์นิค เป็นกรณีศึกษาที่ดีของทุกประเทศทั้งโลก ว่าเวลามีปัญหากัน มันจะมีอ็อปชั่น Peaceful แก้ปัญหาอย่างสันติ ให้เรากดเลือกเสมอ อยู่ที่ว่า เราจะอดทนพอที่จะใช้อ็อปชั่นนี้หรือไม่
ฝั่งหนึ่งจะอดทนได้ไหมกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะเปลี่ยนนิสัยที่คนในประเทศ กระทำอย่างคุ้นเคยมาตลอดหลายสิบปี มันต้องใช้เวลาอยู่แล้ว มันไม่สามารถแก้ไขได้ในพริบตาหรอก
และอีกฝั่งหนึ่งจะยอมได้ไหม ถ้าจะยอมรับว่า ผลประโยชน์ของตัวเองต้องลดลง เพื่อให้คนในประเทศสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมีความสุขทุกกลุ่ม ทุกแนวคิด
แน่นอนถ้าบทสรุปแล้วเหลือแต่อ็อปชั่น Violent ก็จะเป็นแบบที่อเมริกาเป็นในตอนนี้ คือแรงมาแรงไป
และยิ่งทั้งสองฝ่ายแรง ก็จะเปิดโอกาสให้คนชั่วอย่างเช่นพวก Looter ขโมยของ ที่ไม่ได้สนเรื่องสิทธิเสรีภาพอะไรทั้งนั้น ฉกฉวยประโยชน์เข้าตัวด้วย พวกนี้มันเลวบริสุทธิ์จริงๆ
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเรารู้สึกถึงความอยุติธรรม การใช้ความรุนแรงตอบโต้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งก็จริงว่าวิธีนี้ช่วยให้ปลดปล่อยความรู้สึกได้
แต่ถามว่าความรุนแรงจะเปลี่ยนโลกได้จริงไหม
คำตอบคือไม่หรอก มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย
#Kaepernick
โฆษณา