2 มิ.ย. 2020 เวลา 14:50 • การเมือง
ถ้ารัฐต้องการช่วย SMEs จริง แล้วหน้าตาของมาตรการสินเชื่อฉุกเฉินของรัฐควรจะเป็นอย่างไร? ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมจากที่ได้อภิปราย พ.ร.ก. Soft Loan ไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
อภิปราย พ.ร.ก. Soft Loan สภาผู้แทนราษฎร
หน้าที่ของนโยบายรัฐด้านสินเชื่อ เพื่อช่วย SMEs ให้เข้าถึงสภาพคล่อง สิ่งสำคัญมีสองประเด็น คือ 1. Target ตรงเป้าหมายกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านสั้น 2. Timely ทันเวลา เพราะหลายธุรกิจอยู่ในสภาวะช็อค ต้องการสภาพคล่องมาเติม ไม่งั้นจะทำธุรกิจต่อไปไม่ได้เลย
แต่ทั้งสองเป้าหมายนี้มักจะขัดแย้งกัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้มีอำนาจต้องคิดให้รอบคอบ ถ้าเน้นเร็วก็จะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ถ้าจะสกรีนเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ก็จะเสียเวลาในการคัดกรอง ยิ่งข้อมูลอัตโนมัติมีน้อย ยิ่งต้องเสียเวลาให้การหาและตรวจสอบข้อมูลที่ล่าช้าไปอีก
แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐสามารถออกแบบได้ คือ ออกแบบให้เงื่อนไขของมาตรการเอื้อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เช่น ถ้าไม่ต้องการให้ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมายื่นขอกู้จำนวนมาก ต้องกำหนดว่า ดอกเบี้ยจากมาตรการของรัฐจะต้องมากกว่าเดิมที่ธุรกิจเคยกู้ได้ เช่น ดอกเบี้ยเดิมที่เคยได้รับกับธนาคาร + 1% เป็นต้น จะทำให้เหลือเฉพาะธุรกิจที่ต้องการสภาพคล่องมายื่นขอกู้เท่านั้น
คนทำธุรกิจรู้ดีว่า ดอกเบี้ย 1% ที่เพิ่มไม่ได้เป็นสาระสำคัญเลยในการตัดสินใจยื่นขอกู้หรือกระทบกับธุรกิจเลย และเพื่อแลกกับความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อนั่นคุ้มค่ากว่ามาก ลองอ่านที่ผมพยายามอธิบายว่า ถึงมายาคติของดอกเบี้ยต่ำพิเศษที่รัฐควรจะเลิกสนับสนุน
การพิสูจน์ผลกระทบ รัฐสามารถเลือกใช้ข้อมูลที่รัฐเองก็มีอยู่แล้วได้ง่าย เฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ขึ้นไป เช่น กำหนดว่า VAT จะต้องลดลงจากปีก่อนหน้ามากกว่า 15% เป็นต้น แต่การพิสูจน์แบบนี้จะทำไม่ได้สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เพราะยังไม่ได้เข้าอยู่ในระบบ VAT ดังนั้นถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก รัฐจึงควรกันวงเงินไว้ส่วนนึง แต่ไม่จำเป็นต้องตั้งเกณฑ์เพื่อพิสูจน์ผลกระทบที่จะทำให้เสียเวลาในการพิสูจน์
และถ้าธนาคารโดยทั่วไปจะให้ความสำคัญกับรายใหญ่ก่อนเสมอเพราะกำไรมากกว่า รวดเร็วกว่า รัฐจึงควรกันวงเงินส่วนนึงไว้สำหรับ ธุรกิจขนาดเล็กไว้เลย เช่น 50% ของวงเงินทั้งหมดของโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการของรัฐจะสามารถกระจายไปยังธุรกิจขนาดเล็กได้ทั่วถึง ไม่ควรปล่อยให้ธนาคารเป็นคนกำหนด เพราะจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย
แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเป้าหมายและรวดเร็วไม่ต้องตรวจสอบมาก คือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก คือ นโยบายที่รัฐจะเข้ามาช่วยชดเชยความเสี่ยงกรณีหนี้สูญ
เช่น รัฐจะเข้ามาช่วยชดเชยให้กับธนาคาร 60% หมายถึงในกรณีที่ธนาคารมีหนี้เสีย 100 บาท รัฐจะช่วยชดเชยให้กับธนาคาร 60 บาท และธนาคารขาดทุนเองอีก 40 บาท
เมื่อความเสี่ยงของธนาคารลดลง ธนาคารจะสามารถประเมินได้มั่นใจมากขึ้นและอนุมัติสินเชื่อให้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารเองยังคงต้องเป็นผู้ร่วมรับความเสี่ยงนี้ด้วย เพื่อยังคงให้ธนาคารเป็นกลไกในการใช้ดุลพินิจคัดกรองและอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ สามารถหารายได้มาจ่ายหนี้คืนได้
Risk Sharing เป็นหลักการที่สำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศออกมาใช้ช่วยเหลือ SMEs ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และในประเทศไทยก็มีหน่วยงานของรัฐ คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ดำเนินการหลัก
เพียงแต่ว่า อัตราการชดเชยและวิธีการชดเชยให้กับสถาบันการเงินอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างโครงการหลักล่าสุดของ บสย. ที่จะชดเชยความเสียหายให้กับสถาบันการเงินที่ 30% แต่ในขณะที่ พ.ร.ก. Soft Loan กำหนดไว้ที่ 60 - 70% (แต่วิธีคำนวนมีความแตกต่าง) ซึ่งอัตราชดเชยความเสียหายนี้เป็น ปัจจัยสำคัญเลยว่าจะสามารถช่วยธุรกิจเป้าหมายได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่
ถ้ารัฐชดเชยน้อย ธนาคารก็ยังคงมีความเสี่ยงมากและจะต้องประเมินอนุมัติเข้มงวด ดังนั้นถ้าธุรกิจเป้าหมายมีความเสี่ยงมาก รัฐจะต้องกล้าเพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายขึ้นตามไปด้วยถึงจะเหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
ดังนั้น การชดเชยของโครงการล่าสุดของ บสย.ที่ 30% นั่นยังไม่มากพอที่จะจูงให้ธนาคารหันมาปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หรือ ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้เลย ทำให้ว่า SMEs ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของ พ.ร.ก. Soft Loan ก็จะยังคงพบกับปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบอยู่ดี
การชดเชย 60 - 70% ของ พ.ร.ก. Soft Loan นี้ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับโครงการปกติของ บสย. ที่ผ่านๆมา และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ต่างประเทศเลือกใช้ (บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รัฐบาลชดเชยความเสียหาญให้ SMEs ขนาดเล็กสูงสุดถึง 100% เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะกล้าปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กได้ทั่วถึง)
ดังนั้นรัฐสามารถกำหนดได้เลยว่า จะต้องกันวงเงินส่วนนึงไว้สำหรับ ธุรกิจที่ไม่มีหลักประกัน ที่เป็นปัญหาของ SMEs ขนาดเล็กจำนวนมากที่ทำให้เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบได้เลย แต่จะถูกควบคุมด้วยขนาดของวงเงินที่ว่าจะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอในการต่อสภาพคล่องในช่วงวิกฤตนี้ เพราะอัตราการชดเชย 70% นั้นสูงมากพออยู่แล้วสำหรับชดเชยความเสี่ยงให้กับธนาคาร
มาตรการรัฐที่เจตนาช่วย SMEs
รัฐบาลเองยังมีอีกหนึ่งกลไกที่สามารถมาช่วย SMEs ได้ คือ ธนาคารของรัฐ เพราะถึงแม้ว่าหลังจากที่ได้กำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ทั้งหมดแต่ธนาคารเอกชนยังไม่กล้าปล้อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารของรัฐเองที่มีพันธกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ก็ควรที่จะมีนโยบายให้เน้นช่วยเหลือ ธุรกิจขนาดเล็กให้ได้มากที่สุด
ธนาคารของรัฐต้องลดกฎเกณฑ์การอนุมัติจากสินเชื่อปกติลง โดยพยายามใช้ข้อมูลใดข้อมูลนึงเช่น ประวัติข้อมูลภาษี ข้อมูลการจ้างงาน ข้อมูลการประกอบธุรกิจ ข้อมูลประวัติการชำระหนี้ ข้อมูลใดข้อมูลนึง เพื่อยืนยันถึงการทำธุรกิจจริงของ SMEs ขนาดเล็กเหล่านี้ และข้อมูลใดข้อมูลนึงก็เพียงพอแล้วที่ธนาคารของรัฐควรที่จะให้โอกาสต่ออายุสภาพคล่องแก่ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ และอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วที่สุด เพราะถึงแม้จะมีความเสียหาย ธนาคารของรัฐก็จะถูกชดเชยหนี้เสียจากรัฐอยู่แล้วด้วย
และถ้าวัตถุประสงค์ของ สินเชื่อฉุกเฉินนี้ เพื่อป้องกันปัญหาคนตกงาน รัฐจะต้องกำหนดเงื่อนไขเผื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นี้ด้วย เช่น รัฐจะช่วยธุรกิจรับภาระดอกเบี้ยให้ 4% ถ้าธุรกิจสามารถรักษาสัดส่วนการจ้างงานเทียบกับก่อนวิกฤต หรือปี 2562 ได้ เพราะข้อมูลการจ้างงานเป็นข้อมูลประกันสังคมที่รัฐสามารถตรวจสอบได้ง่ายอยู่แล้วด้วย
หรือแม้แต่การกำหนดว่า วงเงินฉุกเฉินนี้ของแต่ละธุรกิจคำนวนจากจำนวนพนักงานที่ธุรกิจแจ้งไว้กับประกันสังคม หรือ สินเชื่อฉุกเฉินนี้จะต้องถูกนำไปใช้จ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานเท่านั้น และได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยจากความช่วยเหลือของรัฐ เพื่อให้ยิ่งมั่นใจว่าความช่วยเหลือของรัฐนั้นที่มาช่วย SMEs นั้นเพื่อช่วยป้องกันปัญหาคนตกงานให้ได้มากที่สุด ไม่สามารถปล่อยให้เจ้าของธุรกิจมาขอรับสินเชื่อก่อนนี้แล้วปล่อยธุรกิจล้มให้เป็นภาระของเจ้าหนี้หรือทำการลดจำนวนคนงานลงได้
ผมอยากยกอีกหนึ่งตัวอย่างของประเทศอเมริกา ที่มีงบประมาณมากกว่าไทย ออกมาตรการ Paycheck Protection Program คือ ให้ SMEs กู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยมีเงื่อนไขว่าถ้า SMEs นำเงินก้อนนี้เพื่อไปจ่ายเป็นค่าจ้างเกิน 75% รัฐบาลจะยกหนี้ก้อนนี้ให้ เป็นการออกแบบมาตรการของรัฐ ที่ต้องการรักษาการจ้างงานและช่วย SMEs สมทบค่าจ้าง แต่ออกแบบให้ความสำคัญที่ความรวดเร็วและปฏิบัติได้จริง เพราะให้ SMEs กู้ไปจ่ายค่าจ้างเอง และถ้ามายื่นหลักฐานว่าได้ทำตามเงื่อนไขจะยกหนี้ให้ในภายหลัง
การออกแบบเงื่อนไขมาตรการของรัฐ ผู้มีอำนาจจึงควรที่จะออกแบบด้วยความเข้าใจและความละเอียด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มากกว่าที่จะกำหนดเงื่อนไขที่เอาง่ายแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ หรือ เน้นไปที่เสถียรภาพของสถาบันการเงิน
การกำหนดเงื่อนไขว่า วงเงิน Soft Loan จะต้องไม่เกิน 20% ของสินเชื่อที่มีกับธนาคารนั้นมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า เป้าหมายสูงสุดของการกำหนดเงื่อนไขนี้คือ เพื่อเสถียรภาพของธนาคาร
และถ้าเมื่อไหร่เป้าหมายคือเสถียรภาพของธนาคาร อีกความหมายนึง คือ รัฐต้องการให้ธนาคารมีกำไรมากๆ และหวังว่าเมื่อธนาคารมีกำไรมากจะมาช่วยเหลือเศรษฐกิจได้ต่อไป ความหวังนี้จะเป็นจริงไหม ยากที่จะตอบได้ แต่แน่นอนว่าหลักการแบบนี้จะกลายเป็นคำถามว่า สรุปแล้วหน้าที่ของรัฐคืออะไรกันแน่
เพราะธุรกิจที่เสียภาษีมีคำถามแน่นอนว่า จะเสียภาษีให้รัฐบาลทำไม ถ้าในยามเดือดร้อน รัฐบาลเลือกที่จะช่วยแต่ลูกค้าสินเชื่อธนาคาร
วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
#ก้าวไกล #softloan #SMEs #นโยบายการเงิน
ชมคลิปอภิปราย พ.ร.ก. Soft Loan: https://youtu.be/lx9DSoKMcIw

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา