2 มิ.ย. 2020 เวลา 16:41 • การเมือง
ศาสตราจารย์และนายกเทศมนตรีสติเฟื่องแห่งเมืองโบโกตา
กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อศาสตราจารย์คนหนึ่งเลือกที่จะหันหลังให้กับวงการวิชาการแล้วมุ่งหน้าเข้าสู่การเป็นนักการเมืองและใช้วิธีการทดลองวิจัยในแบบที่ตนเองถนัดมาทำการทดลองเชิงสังคมกับเมืองที่ตนเองเป็นนายกเทศมนตรี
ศาสตราจารย์ Antanas Mockus เคยเป็นศาสตราจารย์ประจำ ณ Columbian National University โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านคณิตศาสตร์และด้านปรัชญา ก่อนหน้าที่เขาจะลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นอธิการบดี Mockus ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองโบโกตา (Bogotá) ประเทศโคลอมเบีย เขากลับได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนเห็นว่าเขาเป็นคนที่จริงใจ และถ้าหากนับจากสถิติแล้ว ชาวโบโกตาเลือกที่จะให้ความไว้วางใจกับนักวิชาการมากกว่านักการเมือง โดยประชาชนไว้ใจนักวิชาการถึงร้อยละ 60 ในขณะที่นักการเมืองกลับได้รับการไว้วางใจเพียงร้อยละ 6 (The Harvard Gazette, 11 March 2004; Mockus as cited in The Guardian, 28 October 2013)
Mockus เลือกที่จะทำการทดลองเชิงสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองโบโกตา โบโกตาถือเป็นเมืองหนึ่งในประเทศโคลอมเบียที่มีปัญหาด้านความรุนแรง คอร์รัปชัน ปัญหาการจราจรอันเนื่องมาจากผู้คนไม่เคารพกฎหมาย และยังมีกลุ่มเยาวชนที่ทำการปล้นชิงทรัพย์และขโมยของ (The Harvard Gazette, 11 March 2004) วิธีการทดลองของ Mockus กระทำโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาการไม่เคารพกฎจราจร Mockus ในฐานะนายกเทศมนตรีได้ทำการว่าจ้างตัวตลกละครใบ้จำนวน 420 รายในการเข้าควบคุมการจราจร โดยเหล่าตัวละครใบ้จะเดินไปตามถนนเพื่อสอดส่องผู้กระทำผิดกฎจราจร และหากพบผู้กระทำผิดกฎจะทำการแสดงในทันที เช่น แสร้งทำว่าได้รับบาดเจ็บ เมื่อผู้ขับขี่ยานพาหนะละเมิดการให้ทางกับผู้เดินข้ามทางม้าลาย ตัวละครใบ้เหล่านี้ได้ทำหน้าที่ทดแทนตำรวจจราจรผู้รับสินบน การทดลองทางสังคมอีกประการที่ Mockus ได้คิดค้น คือการพิมพ์บัตรที่เรียกว่าบัตรพลเมืองจำนวน 350,000 ใบแจกให้กับประชาชน โดยบัตรพลเมืองจะมีรูปประกอบด้านหนึ่งเป็นการยกนิ้วโป้งขึ้น และอีกด้านเป็นรูปมือคว่ำนิ้วโป้ง รูปนิ้วโป้งขึ้นมีไว้สำหรับการสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎจราจรของรถยนต์ ในขณะที่รูปนิ้วโป้งชี้ลงเป็นการตอบสนองในทิศทางตรงกันข้าม
ผลจากการทดลองของ Mockus ปรากฏว่าภายในระยะเวลาราว 10 ปี อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลดลงมากกว่าร้อยละ 50 และ Mockus สามารถย้ายตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่ถึง 1,800 นาย (The Guardian, 28 October 2013; The Harvard Gazette, 11 March 2004; and Mockus, 2015)
สำหรับประเด็นอื่น ๆ ทางสังคม Mockus ได้ริเริ่มกิจกรรม “ค่ำคืนสำหรับสุภาพสตรี” โดยร้องขอความร่วมมือผู้ชายเมืองโบโกตาให้อยู่บ้านเพื่อเลี้ยงดูลูก และให้โอกาสผู้หญิงในการเที่ยวราตรี ปรากฎว่าในสามคืนแรกของโครงการมีผู้หญิงที่ได้ออกจากบ้านเพื่อท่องเที่ยวสังสรรค์ในยามค่ำคืนมากถึง 700,000 ราย (The Harvard Gazette, 11 March 2004)
การก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งของ Mockus ผ่านการเลือกตั้ง ได้พิสูจน์ว่า ในสายตาของประชาชน เขาคือบุคคลที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเมืองโบโกตา เขาได้รับการเลือกตั้งถึงสองสมัย และเมื่อการดำรงตำแหน่งของเขาเป็นปัญหาต่อกลุ่มก่อความไม่สงบฝ่ายซ้าย Mockus เลือกที่จะใส่เสื้อกันกระสุนในการป้องกันตัว แต่เป็นเสื้อกันกระสุนที่มีรูตรงหน้าอกเป็นรูปหัวใจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เขาทำไว้เพื่อแสดงความมั่นใจ และสุดท้ายก็ไม่มีใครทำร้ายเขาได้ (Mockus, 2015)
เรื่องราวของ Mockus และการทดลองเมืองถือเป็นกรณีศึกษาที่นำส่งต่อผ่านสื่อทั้งในและต่างประเทศ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเขาจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองโบโกตาแล้ว แต่เขายังถูกรับเชิญไปบรรยายเรื่องราวการทดลองเชิงสังคม แลกเปลี่ยนความรู้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
Mockus เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรง การแก้ไขปัญหาที่เห็นผลสามารถเกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว
อ้างอิง:
1. Mockus, Antanas. (2015). The Art of Changing a City. สืบค้นเมื่อ 30พฤษภาคม พ.ศ. 2563,จาก https://www.nytimes.com/2015/07/17/opinion/the-art-of-changing-a-city.html
2. The Guardian. (2013). Antanas Mockus: Columbians fear ridicule more than being fined. สืบค้นเมื่อ 30พฤษภาคม พ.ศ. 2563, จาก https://www.theguardian.com/public-leaders-network/2013/oct/28/antanas-mockus-bogota-mayor
3. The Harvard Gazette. (2004). Academic turns city into a social experiment. สืบค้นเมื่อ 30พฤษภาคม พ.ศ. 2563, จากhttps://news.harvard.edu/gazette/story/2004/03/academic-turns-city-into-a-social-experiment/
4. ขอบคุณรูปภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Antanas_Mockus.jpg
โฆษณา