Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจวรงค์ จันทมาศ
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2020 เวลา 02:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กายวิภาคของฟัน : อวัยวะสำคัญที่ช่วยในการกิน
(เรียบเรียงโดย ปณิตา ฤทธาภรณ์)
ฟันเป็นอวัยวะทำหน้าที่เคี้ยวอาหารด้วยการตัดและบดอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆเพื่อให้ง่ายต่อการกลืนและเพิ่มผิวสัมผัสกับเอนไซม์ช่วยให้ทำปฎิกิริยาย่อยอาหารได้ดีขึ้น
ฟันแต่ละซี่ฝังอยู่ในเบ้ากระดูกที่เรียกว่า ‘alveolus’
เบ้าที่รองรับฟันนี้บุด้วยเอ็นยึดปริทันต์ (periodontal ligament) ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยคอลลาเจน ด้านหนึ่งยึดเข้าไปในผิวกระดูกและอีกด้านยึดเข้าไปในผิวฟัน ช่วยให้ฟันติดแน่นอยู่ในกระดูกแต่ยังสามารถเคลื่อนที่ได้เล็กน้อยจากแรงที่ได้รับระหว่างการบดเคี้ยว
ภายในเอ็นยึดปริทันต์มีเส้นใยประสาทรับรู้ตำแหน่งการเคลื่อนไหว(proprioceptive never fibres)เพื่อรับรู้การเปลี่ยนตำแหน่งของฟันและปริมาณแรงบดเคี้ยว ซึ่งความรู้สึกนี้จะสูญเสียไปในผู้ป่วยที่สูญเสียฟันและใส่ฟันปลอมทดแทน
เหงือก (gingiva) เป็นอวัยวะที่ปกคลุมกระดูกอยู่ การเรียกชื่อบริเวณต่างๆในซี่ฟันอ้างอิงโดยเทียบกับระดับเหงือก
- ตัวฟัน (crown) คือส่วนของฟันที่อยู่เหนือขอบเหงือก
- คอฟัน (neck) คือบริเวณที่พบกันของ ตัวฟัน, รากฟัน และเหงือก
- รากฟัน(root) คือส่วนของฟันที่อยู่ในกระดูกใต้ขอบเหงือก
ระหว่างเหงือกและฟันมีร่องเล็กๆที่ เรียกว่า ร่องเหงือก (gingival sulcus) มีความสำคัญต่อสุขภาพช่องปากมาก เนื่องจากคราบหินปูนมักสะสมในบริเวณนี้ หากไม่ถูกทำความสะอาด หินปูนที่ตกค้างเป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบ
ฟันซี่หนึ่งหนึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นของแข็งด้านนอกและช่องว่างด้านใน ส่วนที่เป็นของแข็งส่วนมากคือ เนื้อฟัน (dentin) มีสีเหลืองเข้ม ด้านบนถูกปกคลุมด้วยเคลือบฟัน (enamel) ด้านล่างถูกปกคลุมด้วยเคลือบรากฟัน (cementum)
ช่องว่างด้านในฟันบรรจุประสาทฟันซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดโปร่งบาง (loose connective tissue), เส้นเลือด, เส้นน้ำเหลือง และเส้นประสาท มีขนาดกว้างเรียกว่า Pulp cavity และค่อยๆแคบลงไปจนถึงรากฟัน โดยช่องว่างในส่วนรากที่แคบลงนี้เรียกว่า คลองรากฟัน (root canal)
ผู้ใหญ่ มีฟันทั้งหมด 32ซี่ แบ่งเป็นฟันในขากรรไกรบน 16 ซี่ และอีก16 ซี่ในขากรรไกรล่าง เมื่อนับจากกึ่งกลางใบหน้าออกไปทางด้านข้างของขากรรไกรทั้งสอง แต่ละด้านประกอบด้วย ฟันตัด (incisors) 2 ซี่, ฟันเขี้ยว (canine) 1 ซี่, ฟันกรามน้อย (premolar) 2 ซี่และ ฟันกรามใหญ่ (molar) 3 ซี่
ฟันตัดทำหน้าที่ตัดอาหารให้เป็นชิ้นๆ ส่วนฟันเขี้ยวมีลักษณะแหลมกว่ามีหน้าที่จับฉีก ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ฟันเขี้ยวจะยาวและเป็นเหมือนอาวุธ ฟันกรามน้อยและฟันกรามใหญ่มีลักษณะคล้ายกันคือ มีหน้ากว้างเพื่อให้สามารถบดอาหารแหลกละเอียดได้
ฟันตัด และฟันเขี้ยว มักจะมีรากเดียว ส่วนฟันกรามน้อย มี 1-2 ราก และฟันกรามใหญ่ มี 2-3 ราก
การสบฟัน(occlusion)เกิดเมื่อฟันบนและล่างสัมผัสกัน และพื้นผิวหน้าของฟันบริเวณที่สัมผัสกันนี้เรียกว่า ด้านบดเคี้ยว(occlusal surface)ด้านบดเคี้ยวในฟันกรามน้อยมีปุ่มฟันสองปุ่มยื่นออกมาเรียกว่า ‘cusp’ ซึ่งในฟันกรามใหญ่ มี 4-5 ปุ่ม ปุ่มฟันของฟันบนล่างบดเข้าหากันเมื่อกัดฟันคล้ายครกกับสากและเคลื่อนที่ไปด้านข้างช่วยเพิ่มการบดขยี้ทำให้เกิดการบดเคี้ยว
ฟันถูกสร้างขึ้นในกระดูกใต้เหงือกและจะงอกออกมาตามลำดับและเวลาที่ชัดเจน
ฟันน้ำนม (deciduous teeth) จำนวน 20 ซี่จะขึ้นระหว่างอายุ 6 ถึง 30 เดือน เริ่มจากฟันตัด ส่วนฟันแท้ (permanent teeth)จะงอกขึ้นระหว่างอายุ 6-25 ปี เมื่อฟันแท้จะขึ้นแล้ว รากของฟันน้ำนมที่อยู่ด้านบนจะค่อยๆละลายจนเกือบหมดและฟันน้ำนมจะหลุดออกเพื่อเปิดทางให้ฟันแท้งอก
ฟันแท้ซี่แรกจะเริ่มขึ้นเมื่อเด็กอายุ 6 ปี คือฟันกรามใหญ่ โดยจะขึ้นมาด้านท้ายของฟันน้ำนมซี่สุดท้าย และมักจะขึ้นก่อนที่ฟันน้ำนมซี่แรกจะเริ่มโยก ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดเพราะฟันแท้นั้นถ้าหากสูญเสียไปจะไม่มีฟันขึ้นมาใหม่ทดแทน ส่วนฟันแท้ซี่สุดท้ายที่ขึ้นในปากคือฟันกรามใหญ่ซี่ที่สาม โดยจะขึ้นในช่วงอายุ17-25ปี แต่ในบางกรณีที่ว่างในขากรรไกรมีเหลือไม่เพียงพอฟันซี่นี้อาจจะไม่สามารถขึ้นได้หรือขึ้นได้ไม่เต็มซี่ จึงกลายเป็นฟันคุดนั่นเอง
อ้างอิง
หนังสือ Human anatomy เขียนโดย Saladin
16 บันทึก
52
14
16
52
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย