28 ก.ค. 2020 เวลา 07:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
S1. EP. 3 Investment Framework (The Core Factors)
ลงทุนอย่างไรให้ชนะตลาด???
มินิซีรีย์ "Seeking Alpha" ตามล่าหาสุดยอดไอเดียการลงทุน
ในบทความก่อนหน้า เราได้พูดถึง ความจำเป็นของการมี หลักการในการลงทุน หรือ Investment Framework เพื่อให้เรา สามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกหุ้นลงทุน และ เอาไปพัฒนาต่อยอด ไปใช้เพื่อที่จะทำให้เราชนะตลาดในระยะยาวได้
ใน Ep. 3. นี้ผมขอยกตัวอย่างหลักการลงทุนที่ผมใช้ในปัจจุบันนี้ และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์เผื่อท่านนักลงทุนจะลองเอาไปประยุกต์ใช้ใน investment framework ของตัวเอง โดยใน framework นี้ผมจะแบ่งปัจจัยในการเลือกซื้อหุ้นลงทุน เป็น 2 กลุ่มหลัก 5 ปัจจัยย่อย คือ 1. Core Factors (แบ่งเป็น Growth, Strength and Price) และ 2. Supporting Factors (แบ่งเป็น Share price trend and Story) ดังรูปด้านล่างนี้
1
ซึ่งใน EP นี้ผมจะพูดถึง Framework ในส่วน Core factors (*1) หรือปัจจัยพื้นฐานหลัก ก่อนนะครับ
แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ framework นี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การลงทุนนั้นเราต้องมองธุรกิจนั้นว่ามีความน่าสนใจที่เราควรจะไปร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ เราควรจะต้องรู้ว่าบริษัทนั้น ขายสินค้าและบริการอะไร กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ทำไมลูกค้าต้องใช้ของเรา รายได้เข้ามาแบบไหน ทรัพยากรของบริษัทที่ใช้ในการผลิตและบริการลูกค้ามีอะไร เป็นต้น ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้จาก รายงานประจำปีของบริษัท
พูดง่ายๆคือเราต้องเข้าใจ Business model ของบริษัทจะเป็นการช่วยปูพื้นฐานความรู้ และดูว่าบริษัทนั้นน่าสนใจหรือไม่ (ลองศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง business model canvas ดูครับ)
1
หากบริษัทนั้นๆน่าสนใจ เราจะเริ่มเจาะหาประเด็นศึกษาบริษัทจากปัจจัยหลักๆโดยเริ่มจาก
1. Growth. การเข้าใจ business model นั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่หากเราต้องการกำไรจากการลงทุนนั้น บริษัทที่เราลงทุนจำเป็นจะต้องมีการเจริญเติบโต (Growth) ซึ่งเป็นปัจจัยแรกที่เราจะศึกษาใน framework นี้
Core factors : 1. Growth
ที่เราต้องสนใจเรื่อง growth นี้ เพราะมันจะทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มมากขึ้นได้อย่างแท้จริง หากบริษัทที่เราลงทุนมีการขยายงาน ลูกค้ามากขึ้น ยอดขายและกำไรเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าบริษัทก็ควรจะมากตามไปด้วย แต่ถ้าผลประกอบการณ์ออกมาตรงกันข้าม ยอดขายและกำไรลดลง มูลค่าของบริษัทนั้นก็ควรจะลดลงด้วย ใช่มั้ยครับ
ในการลงทุนเราควรเริ่มลงทุนตอนที่บริษัทเติบโตอยู่ การเติบโตของบริษัทที่ออกมาในแต่ละไตรมาส จะช่วยผลักดันให้มูลค่ากิจการเพิ่มสูงขึ้น ตามพื้นฐานที่ดีขึ้น (นอกเสียจากราคามันขึ้นมารอไว้แล้ว นะครับ)
ประเด็นในการมองการเติบโต ผมคิดว่าเราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ว่า
a. บริษัทจะเติบโตไปอย่างไรในอนาคต อะไรเป็นตัวผลักดันให้บริษัทโตได้ (growth driver)
b. บริษัทจะมีศักยภาพในโตได้อีกเท่าไหร่ ขนาดของตลาดนั้นใหญ่แค่ไหน(total addressable market)
c. เราคาดว่าระยะเวลาในการเติบโตจาก driver นี้จะยาวนานได้ขนาดไหน (growth period)
การตอบคำถามเหล่านี้ได้ จะเป็นตัวที่ทำให้เรารู้ว่า upside ของธุรกิจมีอีกเท่าไหร่ ระยะเวลาที่บริษัทจะเติบโตคืออีกนานเท่าไหร่ เราควรจะเตรียมที่จะ exit เมื่อไหร่
หากบริษัทที่เราลงทุน ไม่มีการเติบโต ต่อให้เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและมีมูลค่าสมเหตุสมผลก็ตาม โอกาสที่เราลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนดีเลิศเอาชนะตลาดได้ดีเยี่ยมนั้นจะน้อยมาก หุ้นกลุ่มที่จะเอาชนะตลาดได้มากๆนั้น ส่วนใหญ่มักจะต้องมีการเติบโตที่สูงทั้งนั้น
ซึ่งการประเมินเรื่องการเติบโตนี้จะเป็นการคาดการณ์ไปในอนาคต โอกาสที่เราจะคาดการณ์ได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน นั้นความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่จะสู้เอาชนะบริษัทอื่นๆได้ จะช่วยให้เราคาดหวังกับ growth ดังกล่าวได้มากขึ้น
ซึ่งนำไปสู่ปัจจัยที่ 2 ใน Investment Framework นี้ คือ "Strength"
Core factors : 2. Strength
2. Strength บริษัทที่เราเลือกนั้น ควรจะมีความแข็งแกร่ง และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งจะสร้างความมั่นคงในการสร้างการเติบโตได้
วิธีการดูความแข็งแกร่งของบริษัท ผมมองว่าเราสามารถดูได้จาก
a. ปัจจุบันสภาพการแข่งขันในตลาดที่บริษัทอยู่เป็นอย่างไรและบริษัทนั้นอยู่ตรงไหนในการแข่งขันนี้ (competitive landscape) เช่น บริษัทครอง market share ได้เท่าไหร่ คู่แข่งมีน้อยหรือมากราย ในอุตสาหกรรมนั้นๆ
b. ดูว่าบริษัทมีความได้เปรียบอะไรกับคู่แข่ง (competitive advantage) เช่น มี brand ที่แข็งแกร่ง มี innovation ที่เป็นที่ต้องการ หรือ มีเครือข่ายที่แข็งแรง เป็นต้น
c. ดูว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งต่อปัจจัยต่างๆที่จะมากระทบบริษัทขนาดไหน โดยการวิเคราะห์ ผ่าน 5 forces competition หรือ PEST analysis เป็นต้น
d. บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงินพร้อมที่จะสู้รบในสมรภูมิมากน้อยแค่ไหน (financial strength)
การวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของบริษัท จะช่วยให้เราเข้าใจว่า การคาดการณ์เรื่องการเติบโตในปัจจัยที่ 1 นั้นมีความชัวร์มากน้อยแค่ไหน ยิ่งแข็งแรงมาก มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โอกาสในการเติบโต โอกาสที่จะชนะ ก็จะมากกว่า บริษัทที่อ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทที่เราสนใจ มีความสามารถในการเติบโตที่สูง(growth) และ ความสามารถความแข็งแกร่งทางการแข่งขัน(strength) แต่หากราคามูลค่าบริษัทตอนที่เราเจอนั้นแพงเกินไป ตลาดรับรู้ความคาดหวังต่างๆเอาไว้เยอะมากแล้ว เราอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีงามก็ได้
ดังนั้นการลงทุนที่ดี เราจะต้องลงทุนในราคาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งคือปัจจัยต่อมา "Price" หรือมูลค่าที่เหมาะของบริษัทนั้นๆ
3.การหา Price มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัท นั้นมีความจำเป็นมาก เพราะมันจะเป็นสิ่งที่เราเอาไว้ยึดในการตัดสินใจในการ ซื้อ ถือ หรือ ขาย หากเราไม่มีราคามูลค่าที่เหมาะสมในใจของเราเองแล้ว มันจะง่ายมากๆ ที่เราจะตัดสินใจไปกับความผันผวนของตลาดหุ้น
Core factors : 3. Price
วิธีการประเมิณมูลค่า (valuation) มีหลายรูปแบบ เอาไว้ผมจะพูดถึงในบทต่อๆไปแต่ผมขอแชร์เกร็ดเคล็ดลับข้อสำคัญในการทำ valuation ดังนี้
A. Valuation ที่เราทำนั้น ควรเป็น forward looking คือการคาดการณ์ความเป็นไปในอนาคต (อย่าไปหลงกับตัวเลขโดยเฉพาะ ratio ที่ใช้ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาแล้วอ้างอิงว่า ปัจจุบันหุ้นถูกหรือแพง เพราะในอนาคต ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนอดีตทุกครั้ง) ราคาหุ้นที่เหมาะสมคือ ราคาปัจจุบันนี้มันถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ยิ่งส่วนต่างตรงนี้มาก เรายิ่งมี Margin of safety มาก
B. เราควรทำ Valuation ด้วยตัวเองเป็นหลัก (อาจจะเปรียบเทียบกับของคนอื่นได้ เป็นการ cross check ตัวเลขสมมติฐานต่างๆ) โดยเอาข้อมูลจากการศึกษา ปัจจัย เรื่อง Growth และ Strength ก่อนหน้านี้ มาสรุปใน valuation model ของเรา เช่น อะไรเป็นปัจจัยหนุนให้ยอดขายและกำไรดีขึ้น แล้วน่าจะ Growth เท่าไหร่ นานแค่ไหน ปัจจัยอะไรที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงาน แล้วเราเฝ้าจับตาปัจจัยเหล่านั้น ซี่งจะทำให้เรามองเห็นภาพว่าหากปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป จะมีผลต่อมูลค่าของบริษัทมากน้อยอย่างไร จะทำให้เราตัดสินใจได้เองทันทีเมื่อ สมมติฐานของเราเปลี่ยนไปจากเดิม หากเราไม่ทำ valuation model นี้เอง เราจะไม่มีตัวยึดที่จะเอาไปประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2
C. อย่าไปคาดหวังว่ามันจะแม่นยำเสมอ แต่ขอเรามองแนวโน้มภาพใหญ่ให้ใกล้เคียง เราทำ valuation model ออกมาในทุกๆบริษัทที่เราลงทุนอยู่ หรือสนใจที่จะลงทุน ทำไปเยอะๆ ทำไปเรื่อยๆ แล้ว cross check กับผลประกอบการณ์ที่ออกมา เราจะเรียนรู้จากมันว่าเรามองอะไรถูก เราพลาดอะไร เราต้องทำความเข้าใจเรื่องอะไรเพิ่มเติมในอนาคตอีกบ้าง ตรงนี้เป็น skill คือจะมี skill ได้จะต้องทำบ่อยๆ สะสมประสบการณ์
3
ผมเชื่อว่า หุ้นที่จะทำให้เราสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว เราควรซื้อหุ้นนั้นๆ ในช่วงเวลาที่มี ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ครบถ้วน หากหุ้นที่เราซื้อตัวนั้นๆ ขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป ผมคิดว่ามันจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนของเรา เช่น
1
หากไม่มี Growth ราคามันจะขึ้นไปได้อย่างไร? ต้องจุดธูปภาวนา? แล้วตลาดจะมองอย่างไรให้ PE เท่าไหร่สำหรับหุ้นที่ไม่มี growth? แล้วความเสี่ยงจากการโดนคู่แข่งแย่ง market share ไป?
หากไม่มี Strength การทำ valuation ใส่ growth ไปเท่าโน้นเท่านี้ อาจจะเป็นเพียงวิมานในอากาศเมื่อผลประกอบการณ์จริงออกมา หากผิดคาดไปเยอะ ราคาที่เราซื้อไว้นึกว่าถูก อาจจะกลายเป็นแพงไปทันที
และ หาก Price ราคาแพงเกินไป ราคารับรู้เผื่ออนาคตไปหมดแล้ว เราอาจไม่ได้อะไร หรือ เจ็บตัวหนักถ้าความเป็นจริงมันแย่กว่าที่คาดไว้
การพิจารณา Invesment Framework เฉพาะส่วนที่เป็น Core Factors 3 ปัจจัยหลักนี้ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนระยะยาวที่เราหวังผลตอบแทนที่ดีเหนือตลาด
แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่ามันก็มี challenge หลายอย่างเวลาเรานำไปใช้ปฏิบัติจริง และ Constraint ของตัวมันอาจจะทำให้เราไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่เราคาดหวังเช่น
1. Constraint แรกคือ มันเป็นวิธีการที่ ใช้เวลาในการวิเคราะห์มาก เป็นไปได้ยากที่เราจะวิเคราะห์หุ้นทั้งตลาดแล้วค่อยเลือกตัวที่ดีที่สุด ซึ่ง Challenge คือ เราจะใช้วิธีการอย่างไรในการ Screen หุ้นโดยที่ไม่ให้ติด กับดัก Bias ในตัวเราเอง
2. Constraint ต่อมาคือ มันเป็นวิธีการที่ สะท้อนจากมุมมองของเราเป็นหลัก ซึ่งเราอาจจะมองผิดหรือถูกก็ได้ ซึ่งหากเรามองได้ถูกต้องแล้ว ตลาดจะเล่นไปด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยากมากอีก Challenge คือ เราจะมีวิธีการมองหุ้นอย่างไร น่าตัวไหนน่าจะ "โอกาส" หรือ "ความน่าจะเป็น" ที่ตลาดจะตอบสนองในพื้นฐานของกิจการที่ดีขึ้น โดยที่เราไม่ต้องนั่งรอคอยนานมากนัก
การลงทุนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เอาไว้ใน Ep4 ครั้งหน้า ผมจะพูดอีกส่วนของ Investment Framework นี้คือ Supporting Factors ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวช่วยหนึ่งในการการตอบโจทย์ Challenges ทั้ง 2 ข้อนี้ได้บ้างนะครับ เอาไว้มาแชร์ไอเดียกันต่อในตอนหน้าครับ
ขอบคุณครับ
ขอให้มีความสุขในการลงทุนครับ
Alpha Investing
28 July 2020
References:
*1 Framework ที่มี 3 ปัจจัยพื้นฐานหลักนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน The Little Book of Sideways Markets: How to Make Money in Markets that Go Nowhere, Dec 2010, Wiley, by Vitaliy N. Katsenelson

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา