3 มิ.ย. 2020 เวลา 06:49 • ธุรกิจ
ประเทศไทยลงทุนในสินทรัพย์อะไรได้บ้าง ?
1. เงินฝากธนาคาร
ข้อดี: เป็นการลงทุนที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัย มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอดออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว
ข้อเสีย: เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ปัจจุบันผลตอบแทนเงินฝากประเทศออมทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 0.25% ต่อปี หากเป็นฝากประจำ 2 ปี ก็จะอยู่เพียงแค่ประมาณ 1 -1.7% ต่อปีเท่านั้นเอง
2. ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน
ผู้ลงทุนในตราสารหนี้เปรียบเสมือนเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารหนี้เหมือนเป็นลูกหนี้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ และเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุ โดยนักลงทุนสามารถซื้อได้ทาง ธนาคารพาณิชย์และ บริษัทหลักทรัพย์
ข้อดี: มีผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร แต่ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น โดยในปี 2560 ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง อยู่ที่ประมาณ 4.48 % ต่อปี (Ref: ThaiBMA Composite Bond Index ณ วันที่ 12 ธ.ค. 60) อย่างไรก็ตามผลตอบแทนของตราสารหนี้ในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในอดีต
ข้อเสีย: ตราสารหนี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเป็นเงินจำนวนมากมูลค่าขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 – 100,000 บาท ทำให้นักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่มากพอที่จะสามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
3. หุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ผู้ลงทุนในหุ้นสามัญเปรียบเสมือนเจ้าของบริษัท โดยมีสิทธิ์ที่จะได้รับผลตอบแทนมาในรูปของเงินปันผล และมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น
ข้อดี: มีผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าสินทรัพย์ อื่น ๆ โดยในปี 2552 – 2561 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 16.87 % ต่อปี อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรคิดไว้เสมอว่าผลตอบแทนของหุ้นนั้นมาจากผลประกอบการของธุรกิจนั้น ๆ และผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้
ข้อเสีย: การลงทุนในหุ้นนั้นมีความผันผวนที่สูง ทำให้มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะสามารถขาดทุนได้ 20% – 30% หรือแม้กระทั้ง 50% ได้ อีกทั้งการที่จะกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีเงินลงทุนจำนวนมากอีกด้วย
4. ตราสารอนุพันธ์ (Derivative)
ข้อดี: เป็นตราสารทางการเงินที่มีความซับซ้อนโดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเกร็งกำไร หรือป้องกันความเสื่ยงของ Portfolio อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้เพื่อสร้าง กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย
ข้อเสีย: มีความซับซ้อนสูง และ ยากต่อการเข้าใจ หากนำมาใช้ในการเกร็งกำไรสามารถสร้างโอกาสในการขาดทุนเป็นจำนวนมากได้
5. กองทุนรวม – Highly Recommended
กองทุนรวมเป็นการนำเงินของผู้ร่วมลงทุนหลาย ๆ คนมารวมกันเพื่อตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา โดยเงินนั้นจะมีผู้จัดการกองทุน ที่เป็นมืออาชีพ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้เรา โดยกองทุนรวมนั้น มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม และ กองทุนรวมในสินทรัพย์ทางเลือก
ข้อดี: เป็นการลงทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ อีกทั้งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนน้อย ขั้นต่ำเพียงแค่ 500 บาท แต่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี เนื่องจากมีเงินของคนหลาย ๆ คนมารวมกัน ทำให้มีความผันผวนต่ำกว่าการถือหุ้นหรือตราสารหนี้เพียงไม่กี่ตัว
ข้อเสีย: การลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีค่าใช้จ่ายในการบริหารซึ่งสามารถทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนของเราลดลง อย่างไรก็ตามกองทุนรวมก็มีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น Active หรือ Passive ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไป (ไว้เล่าวิธีเลือกกองทุนรวมในโพสต์ต่อๆไปนะครับ 😊) อีกทั้งการขายกองทุนรวมอาจจะต้องรอโดยเฉลี่ย 2 – 4 วัน กว่าจะได้รับเงินคืน
6. อสังหาริมทรัพย์
ข้อดี: เป็นสินทรัพย์ที่ทุกคนรู้จัก โดยผลตอบแทนมาในรูปของค่าเช่า และ การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สามารถทำการ “Leverage” ได้สูงเนื่องจากคนส่วนใหญ่ก็เงินมาซื้อบ้าน
ข้อเสีย: จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก สภาพคล่องต่ำ ใช้เวลานานกว่าจะสามารถขายออกได้ อีกทั้งค่าธรรมเนียมในการซื้อขายแต่ละครั้งมีราคาแพง
สุดทางนี้ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีมุมมองในการลงทุนที่แตกต่างกัน และคงมีความชื่นชอบสินทรัพย์ที่ใช้ในการลงทุนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ นักลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ลงทุนจริง ๆ ดังคำพูดของนักลงทุนท่านนี้
“We have three baskets for investing: yes, no, and too tough to understand”
- Charlie Munger –
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการลงทุน แล้วพบกันใหม่โพสต์หน้าครับ 😊
โฆษณา