3 มิ.ย. 2020 เวลา 11:15 • ไลฟ์สไตล์
สัมผัสโลกส่วนตัว อาเบย์ - ณรัฐ สุมิตร
บาริสต้าและเจ้าของร้าน After November
อาเบย์ ณรัฐ สุมิตร นายแบบผู้หลงใหลการดื่มกาแฟ เจ้าของร้าน After November
อาเบย์ ณรัฐ สุมิตร ชื่นชอบการดื่มกาแฟจนได้เปิดร้าน After November ก่อนที่จะก้าวมาในธุรกิจกาแฟ อาเบย์เองก็มีความชอบในงานบริการมามากกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นงานที่ได้พูดคุย พบปะกับผู้คนมากมาย อีกทั้งการเป็นนายแบบยังทำให้อาเบย์ต้องไปกลับที่เชียงใหม่-กรุงเทพ อยู่บ่อยครั้ง จึงเริ่มสนใจอยากทำธุรกิจในกรุงเทพซึ่งแรกเริ่ม อาเบย์ตั้งใจว่าจะเปิดเป็นร้านอาหารหรือบาร์ แต่อยากลองเปลี่ยนการทำงานจากร้านที่มีบรรยากาศกลางคืนแบบเดิมๆ ประกอบกับการได้รู้จักและชื่นชอบบรรยากาศร้าน Ristr8to ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้อาเบย์สนใจที่จะเปิดร้านกาแฟ จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล สั่งสมประสบการณ์จนเปิดเป็นร้านAfter November ได้ในปัจจุบัน
ด้วยความที่เราชอบดื่มกาแฟ เรามีมุมมองกับมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ กาแฟสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองได้เมื่อเราดื่มมัน
“ด้วยความที่เราชอบดื่มกาแฟ เราจึงมีมุมมองกับมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยสายพันธุ์ รสชาติ หรือแม้แต่ Process ใหม่ๆ ที่มีให้ค้นหาได้เรื่อยๆ กาแฟสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองได้เมื่อเราดื่มมัน ทำให้เราได้มีเรื่องราวพูดคุยกับคนอื่นที่ดื่มด้วยกัน ความพิเศษนี้ทำให้เราอยากทำร้านกาแฟที่ไม่เหมือนร้าน แต่อยากให้เป็นห้องนั่งเล่นเจ๋งๆ ในบ้าน ที่มีเครื่องทำกาแฟอยู่ในนั้น”
อาเบย์รวบรวมเมล็ดกาแฟหลายชนิดทั้งจากในไทยและต่างประเทศเข้ามาใช้ในร้าน หากมีกาแฟที่อาเบย์ชอบ สนใจ หรือเป็นเมล็ดกาแฟจากแหล่ง
ต่างๆ ที่เพื่อนซื้อมาฝาก ก็จะคัดสรรและรวบรวมมาให้ลูกค้าได้ชิม เปิดเป็นพื้นที่ให้ได้มาพักผ่อนจิบกาแฟ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้สึกต่อกาแฟนั้นๆ หรือแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบในชีวิตประจำวันกัน ทุกอย่างที่มีในร้านล้วนเป็นสิ่งที่อาเบย์ชอบ และอยากให้ลูกค้าที่เป็นเหมือนเพื่อนได้ดื่มกาแฟดีๆ ดังนั้นเมนูที่ร้านจึงไม่มีอะไรที่ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สลับหมุนเวียนให้รู้สึกไม่จำเจจนเกินไป
ถ้าเราจัดการทุกอย่างให้ง่าย เราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เหนื่อย ลูกค้าที่เข้ามาก็จะสัมผัสจากคนชงได้โดยตรง
อาเบย์เคยมีประสบการณ์จัดการร้านกาแฟมาก่อนที่จะเปิดร้าน After November จึงได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการวัตถุดิบ สินค้าต่างๆ หรือระบบภายในร้าน ซึ่งถ้าเราวางระบบไม่ดีก็จะมีปัญหาตามมา เปลี่ยนปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนจากร้านเก่า มาเป็นประสบการณ์สร้างแนวทางใหม่ที่เข้าใจง่าย และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ทำให้อาเบย์ใส่ใจในรายละเอียดทุกพื้นที่ของร้าน วางระบบงานของร้าน AfterNovember ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถจัดการบริหารได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
“ถ้าเราจัดการทุกอย่างให้ง่าย เราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เหนื่อย ลูกค้าที่เข้ามาก็จะสัมผัสจากคนชงได้โดยตรง โดยที่องค์ประกอบของร้านจะเป็นตัวเสริมบรรยากาศให้รู้สึกสบายตาม”
ของแต่งร้านที่อยู่ภายในร้าน ยังมีความสัมพันธ์กับบ้านจริงๆ ของอาเบย์อีกด้วย อย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ก็ผลิตมาจากกิจการโรงงานของที่บ้าน และถูกปรับแต่งฟังก์ชั่นเพื่อรับรองการใช้งานในร้านโดยเฉพาะ หากอาเบย์ใช้แล้วรู้สึกสบาย ก็วางใจได้ว่าลูกค้าจะรู้สึกสบายด้วยเช่นกัน
เราอยากจะลองเป็นสัตว์อะไร เราก็คงอยากเป็นปลาวาฬที่มีอิสระ ได้เห็นโลกที่แปลกกว่าคนอื่น และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ไม่มีที่สิ้นสุด
อาเบย์ออกแบบและตกแต่งร้านกาแฟที่เหมือนห้องนั่งเล่น พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้บรรยากาศตามที่คิดไว้ แล้วใส่ปลาวาฬลงไปในโลโก้ร้าน ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่อาเบย์ชื่นชอบและหลงใหลเป็นการส่วนตัว
“วาฬเป็นสัตว์ที่เราอยากเห็น แต่เรากลัวที่จะดำน้ำลงไปดู ยังไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ แต่ชอบที่มันไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ เดินทางไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ตัวใหญ่ น่าค้นหา ซึ่งอาจจะเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยเห็น ถ้าเราลองแบ่งโลกออกมาเป็นสองส่วน บนบกกับใต้ทะเล เราอาจจะเห็นบนบกมาจนแทบจะทุกอย่างแล้ว แต่ไม่เคยเห็นสิ่งที่อยู่ใต้ทะเลเลย แต่ปลาวาฬสามารถเห็นและใช้ชีวิตผ่านโลกนั้นมาเยอะแยะแล้ว ถ้าเราอยากจะลองเป็นสัตว์อะไร เราก็คงอยากเป็นปลาวาฬที่มีอิสระ ได้เห็นโลกที่แปลกกว่าคนอื่น และเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ไม่มีที่สิ้นสุด”
หนังสือความรู้ เป็นหนังสือที่ไม่ตาย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ก็คือภาพถ่ายที่บันทึกเรื่องราวในอดีต ที่เราไม่สามารถหาชมหรือบันทึกได้อีก
หนังสือ Nation geographic ที่จัดวางเป็นมุมหนังสือภายในร้าน ก็เป็นหนังสือที่คุณย่าของอาเบย์สะสมมาตั้งแต่อาเบย์ยังเด็ก และมีแทบจะทุก
ฉบับ บางอันก็เป็นฉบับที่ยังไม่มีการตีพิมพ์เป็นภาษาไทย สะสมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ให้คนที่แวะเวียนมานั่งในร้านได้อ่าน อาเบย์มองหนังสือความรู้เป็นหนังสือที่ไม่ตาย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์
ของหนังสือพวกนี้คือภาพถ่ายที่บันทึกเรื่องราวในอดีต ที่เราไม่สามารถหาชมหรือบันทึกได้อีก ภาพบางภาพอาจมากจากฟิล์มถ่ายรูปที่ต้องอาศัยความพอดีของจังหวะและแสง ผ่านความพยายามของช่างภาพ เพื่อให้ได้ภาพประกอบหนึ่งภาพออกมาตีพิมพ์ให้ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เป็นเหมือนการเก็บประสบการณ์โลกกว้างจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ที่ร้าน ทำให้คนที่เข้ามาได้รับประโยชน์จากตรงนี้
ถ้าวันนึงมันพัฒนาเติบโตไปเป็นธุรกิจมากขึ้น แล้วต้องขยายไปเปิดอีกที่ เราก็ไม่รู้ว่าจะคงบรรยากาศที่เหมือนบ้านแบบนี้ไว้ได้อีกหรือเปล่า
ในทุกวันที่อาเบย์ไม่ติดงาน ก็จะเข้ามาที่ร้านเพื่อพบปะกับลูกค้าที่แวะเวียนมา โดยเสน่ห์ของกาแฟ อาเบย์มองว่ามันคล้ายอาหารที่แต่ละคนจะชอบรส
ชาติที่ไม่เหมือนกัน การได้มาคุยถึงรสชาติและความรู้สึกของลูกค้า ทำให้รู้สึกสนุก และอยากเจอบรรยากาศแบบนี้ทุกวัน อย่างลูกค้าบางคนมาตอนแรกก็ไม่ได้สนิทสนมกัน แต่ตอนนี้ก็มาเป็นประจำจนเป็นเหมือนเพื่อนสนิทกันไปเลยก็มี
ซึ่งภาพในอนาคตของ After November อาเบย์ต้องการคงบรรยากาศร้านที่รู้สึกเหมือนบ้านที่เป็นแหล่งพูดคุยแลกเปลี่ยน และถามไถ่ชีวิตประจำวัน มีบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง
1
“ถ้าวันหนึ่งมันพัฒนาเติบโตไปเป็นธุรกิจมากขึ้น แล้วต้องขยายไปเปิดอีกที่ เราก็ไม่รู้ว่าจะคงบรรยากาศที่เหมือนบ้านแบบนี้ไว้ได้อีกหรือเปล่า เพราะที่นี่มันก็ถอดแบบมาจากบ้านเราเลย และเพราะเราถนัดทำงานด้านนี้ หากไม่ทำงานบริการก็ไม่รู้จะทำอะไรอีก คนที่อยากทำร้านกาแฟ จะต้องรักกาแฟและรักงานบริการจริงๆ แล้วความสุขก็จะส่งไปถึงลูกค้าได้อย่างแน่นอน”
ร่วมเดินทางท่องโลกไปกับเราทั้งรูปแบบนิตยสารและออนไลน์
ติดตามข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านกาแฟได้ตามลิงก์ด้านล่าง
โฆษณา