3 มิ.ย. 2020 เวลา 13:03 • ปรัชญา
พระแม่โพสพ ที่อินเดียไม่มี
พระแม่โพสพ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น "เทพีแห่งข้าว" และปรากฏอยู่ในหลาย ๆ วัฒนธรรมบนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือมักเรียกกันว่า "สุวรรณภูมิ"
รูปปั้นพระแม่โพสพ ตั้งอยู่ที่สยามสมาคม - (ที่มา : wikimedia)
น่าแปลกที่พระแม่โพสพไม่ปรากฏในวัฒนธรรมอินเดีย จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นเมืองมาก่อนที่จะรับเอาศาสนาจากดินแดนภายนอก
สำหรับในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ของพระแม่โพสพ น่าจะเริ่มต้นมีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งมีนักวิชาการค้นพบหลักฐานปรากฏอยู่ในพระอัยการเบ็ดเสร็จ ที่ถูกตราขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 1884 (กรุงศรีอยุธยามีหลักฐานการสถาปนา คือ ปี พ.ศ. 1893)
นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในทวาทศมาสโคลงดั้น ซึ่งเป็นวรรณกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
โดยสมัยนั้นมีการเรียกว่า "พระไพสพ" อย่างเช่นตอนหนึ่งที่ว่า
“...ฤดูส่งพระไพสพราช มาแม่
ยังไป่เห็นนุชไท้ พี่ไห้เอกา ฯ...”
คำว่า "พระไพสพ" น่าจะเป็นคำเรียกพระแม่โพสพมาแต่เดิม มีการสันนิษฐานว่าคำ ๆ นี้ น่าจะมาจากคำว่า "ไพศฺรพณะ" / "ไวศฺรวณะ" หรือ "เวสฺสวณฺ" ซึ่งตรงกับชื่อของ "ท้าวเวสสุวรรณ" ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นเทพเจ้าเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย ผู้มีรูปเป็นยักษ์
เหตุที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นไปได้ว่า แต่เดิมพระแม่โพสพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นที่คอยบันดาลความอุดมสมบูรณ์
ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้เข้ามา จึงเล็งเห็นว่าเป็นเทพที่มีอำนาจเฉกเช่นเดียวกับเทพผู้มีนามว่า "ไพศฺรพณะ" หรือ "ท้าวเวสสุวรรณ" ตามที่ปัจจุบันคุ้นเคย แล้วก็ได้เรียกซ้ำกันไป จนกลายมาเป็นคำภาษาไทยในปัจจุบันว่า "พระแม่โพสพ"
สำหรับคาถาบูชาพระแม่โพสพ ฉบับที่นิยมกันมาก มีดังนี้
ตั้ง นะโมฯ 3 จบ แล้วสวดว่า
"โพสะวะ โภชะนัง อุตตะมะ ลาภัง มัยหัง สัพพะสิทธิ หิตัง โหตุ"
โฆษณา