4 มิ.ย. 2020 เวลา 04:22 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต คือจุดเริ่มของ "ยุทธการมิดเวย์ (Battle of Midway)" ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ยุทธนาวีมิดเวย์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) จัดว่าเป็นศึกครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างกองทัพเรือสหรัฐ กับกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นศึกที่เกิดขึ้นให้หลัง “การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์” 6 เดือน ที่ครั้งนั้นเป็นชัยชนะของฝ่ายญี่ปุ่น
แต่ในยุทธนาวีมิดเวย์นี้ ชัยชนะกลับมาเป็นของสหรัฐฯ ในการทำศึกระหว่างภาคทางอากาศ และภาคมหาสมุทร เป็นการหยุดโอกาสของฝ่ายญี่ปุ่น ที่หวังจะสกัดกั้นเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือสหรัฐฯ การเดินหมากผิดพลาดของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาชิงความได้เปรียบในยุทธบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มเป็นฝ่ายรุกโจมตีกองทัพเรือญี่ปุ่นจนจบสงคราม
เกาะมิดเวย์ ตั้งอยู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ อยู่ห่างจากซานฟรานซิสโก ทางตะวันตก ราว 2,800 ไมล์ทะเล (5,200 กม./3,200 ไมล์) และ ห่างจากโตเกียวทางตะวันออก ราว 2,200ไมล์ทะเล (4,100 กม./2,500 ไมล์) มีพื้นที่ 6.2 ตารางกิโลเมตร อยู่ครึ่งทางระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นพอดี มิดเวย์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1867 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯใช้มิดเวย์ เป็นที่มั่นของกองทัพเรือ มีทั้งสนามบินและฐานทัพเรือ ปัจจุบันเกาะมิดเวย์ ไม่มีผู้อยู่อาศัยแล้ว
เกาะมิดเวย์ อยู่กึ่งกลางในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ
กองทัพญี่ปุ่นบุกตะลุยทั่วทั้งเอเชีย พิชิตฮ่องกง อินโดจีน มลายู สิงคโปร์ พม่า ราวเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942 ได้บุกไปถึงเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ เกาะโซโลมอน และตั้งฐานที่มั่นที่นิวกินีโดยมีเป้าหมายในการยึดออสเตรเลีย แม้จะแผ่อิทธิพลเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างรวดเร็ว แต่ญี่ปุ่นทราบดีว่าจะต้องดำเนินยุทธการโจมตีสหรัฐอเมริกาเพื่อครองอำนาจเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกไว้อย่างเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียว ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเอาชนะกองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาให้ได้ เป้าหมายจึงพุ่งไปที่เกาะมิดเวย์
1
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น ญี่ปุ่นได้พัฒนาเครื่องเข้ารหัสที่อาศัยหลักการการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องอินิกมาของเยอรมนี เครื่องนี้มีชื่อว่า “97 ชิกิ โอบุน อินจิกิ” แปลว่า เครื่องพิมพ์ตัวอักษร 97 (ตัวเลข 97 มาจากปีศักราชที่ 2597 ของญี่ปุ่น) ซึ่งญี่ปุ่นมั่นใจว่าเครื่องเข้ารหัสนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องอินิกมา และไม่มีชาติใดถอดรหัสได้
สหรัฐอเมริกาได้พยายามที่จะถอดรหัสลับของญี่ปุ่นตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ค.ศ. 1937 ซึ่งจักรวรรดิญี่ปุ่นได้แสดงแสนยานุภาพขึ้นเหนือเอเชียได้สร้างความตื่นตัวต่อสหรัฐอเมริกา โดยญี่ปุ่นอาจเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในมหาสมุทรแปซิฟิก
2
ภายใต้การทำงานของแผนกข่าวกรองอาณัติสัญญาณ (SIS) โดยวิลเลียม ฟรีดแมน (William F. Friedman) เขาและทีมพยายามอย่างหนักในการถอดรหัสลับนี้ พวกเขาถอด “รหัสแดง” ของญี่ปุ่นสำเร็จในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 แต่รหัสแดงเป็นเพียงการสื่อสารทางการทูตเท่านั้น
ญี่ปุ่นได้คิดค้น “รหัสม่วง” อันมีที่มาจากสีของแฟ้มเอกสารรวบรวมการถอดรหัสรุ่นดังกล่าวโดยเฉพาะ ฟรีดแมนและทีมงานต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กระทั่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1940 จึงสามารถถอดรหัสม่วงได้สำเร็จ
Purple Encryption Machine (เครื่องเข้ารหัสม่วง) ของฝ่ายญี่ปุ่น ที่โดนฝ่ายอเมริกาสามารถถอดรหัสได้สำเร็จ
Midway Atoll คำว่า อะทอลล์ หมายถึงเกาะที่เป็นรูปวงแหวนเกิดจากการทับถมของหินปะการัง คือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการทำสนามบิน และฐานทัพเรือ
ผลการสู้รบกันที่เกาะมิดเวย์
++ สหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะ ++
กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเคลื่อนกองพลก่อน นำโดย พลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Admiral Isoroku Yamamoto) โดยมีการวางแผนอย่างซับซ้อน เริ่มจากการส่งกองกำลังพลเล็กไปยังหมู่เกาะอะลูเชี่ยน เพื่อดึงความสนใจของสหรัฐฯออกจากมิดเวย์ แต่แล้วแผนการก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ญี่ปุ่นคิดไว้ ความชะล่าใจเป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ยามาโมโตะคิดว่ากองกำลังของตนเองมีมากกว่าอเมริกาถึง 4 ต่อ 1 จนลืมคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะล่วงรู้แผนของญี่ปุ่นล่วงหน้า ส่งผลให้กองทัพญี่ปุ่นเองกลับเป็นฝ่ายที่กำลังเดินเข้าหลุมพรางโดยไม่คาดคิด
พลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Admiral Isoroku Yamamoto)
แผนถอดรหัสคว่ำแผนรบญี่ปุ่น และการสู้ไม่ถอย ของทหารสหรัฐฯ
พลเรือเอกเชสเตอร์ เนมิตซ์ (Admiral Chester W. Nimitz) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองเรือแปซิฟิก ได้วางแผนการรบส่วนใหญ่ไปที่การโจมตีทางอากาศ วางตำแหน่งเรือบรรทุกเครื่องบินทุกลำให้ไกลจากรัศมีการโจมตีจากญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายหลักในการจมเรือบรรทุกเครื่องบินของฝ่ายญี่ปุ่นด้วยยุทธศาสตร์การรบจากทั้งทางน้ำและทางอากาศ กองทัพญี่ปุ่นที่กำลังมุ่งความสนใจไปที่การจู่โจมมิดเวย์ก็ต้องตกใจเมื่อจู่ ๆ เรือของญี่ปุ่นเองถูกโจมตีจากทางอากาศจากสหรัฐฯโดยไม่ทันได้เตรียมตัว
พลเรือเอกเชสเตอร์ เนมิตซ์ (Admiral Chester W. Nimitz) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองเรือแปซิฟิก ของสหรัฐฯ
ด้วยความกล้าหาญ และสู้ไม่ถอยของ นาวาตรีเวด แม็คคลัสกี้ (Lt. Commander Wade McClusky) และทีมนักบินของเขา ในการทำลายจุดสำคัญของกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่น ทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามครั้งนี้ และได้รับชัยชนะในที่สุดของยุทธการครั้งนี้
นาวาตรีเวด แม็คคลัสกี้ (Lt. Commander Wade McClusky) จากความกล้าหาญ และสู้ไม่ถอยของเขา และทีม ทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในยุทธการครั้งนี้
หลังจากยุทธการมิดเวย์ ทำให้ญี่ปุ่นได้ยกเลิกแผนการที่จะบุกออสเตรเลีย และการขยายอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิก กองเรือญี่ปุ่นลดความสำคัญลงเป็นเพียงยุทธปัจจัยสนับสนุนการสงครามเท่านั้น ยุทธการนี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การสู้รบในยุทธการต่อๆ มา ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับและป้องกันตลอดช่วงเวลาที่เหลือของสงครามโลกครั้งที่ 2
1
โฆษณา