Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โปรดใช้วิจารณญาณในการฟัง
•
ติดตาม
4 มิ.ย. 2020 เวลา 04:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทอม แฮงส์ กับ อูฐโลกใหม่ มีอะไรเหมือนกัน??
ว่าด้วยแอนติบอดีไม่ใช่โนบอดี ไม่ได้วอนท์ซัมบอดีทูเลิฟ เอนี่บอดีไฟด์มี้ ซั้มบอดี้ทู้…… แต่มันคือสารโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น มันเป็นสิ่งที่จะไปเกาะเข้ากับแอนติเจน (สิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย) แอนติบอดี และ แอนติเจนก็ไม่ได้เกาะกันมั่วซั่นนะ แต่มันจะเกาะกับโปรตีนที่จำเพาะเจาะจง ประหนึ่งกุญแจและแม่กุญแจ ซึ่งมันสามารถป้องกันเชื้อโรคต่างๆได้ด้วยการไปเกาะชิงเกาะกับโปรตีนของเชื้อโรคก่อนที่เชื้อจะไปติดต่อกับเซลล์ และยังส่งสัญญาณให้กับเซลลเม็ดเลือดขาวให้มาเขมือบสิ่งที่แอนติบอดี้ไปเกาะติดอยู่ เชื้อโรคชนิดนั้นก็จะไม่มีพิษภัยกับร่างกาย
แต่ ถ้าเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย เป็นเชื้อโรคที่แอนตีบอดีของเราเกาะไม่ได้ เพราะไม่รู้จักมาก่อน ก็….งานงอกไงครับ แต่ไม่ต้องกังวลไปนัก เพราะเหล่าเซลเม็ดเลือดขาวจะเข้ามาโจมตีเรียนรู้และจดจำเชื้อโรค แล้วร่างกายเราก็จะสร้างแอนตบอดีมากำจัดโรค ตามขั้นตอนการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย….
โดยในร่างกายเราๆท่านๆ (ซึ่งคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นโฮโมเซเปี้ยน แต่ถ้าใครที่เป็นสปีชีส์อื่นๆมาอ่าน ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ที่เหมารวมไปก่อน)
แอนติบอดีจะมีรูปร่างเป็นอักษร ”Y“ โดยประกอบด้วยสายกรดอมิโนสี่สาย เรียกว่าเชน เป็นเฮวี่เชน(สายหนัก) สองสาย และ ไลท์เชน(สายเบา ที่สั้นกว่า) สองสาย (ไม่ได้มีสายแครี่หรือสายแทงค์ในเลือดแต่อย่างใด)
แต่
มันไม่ใช่แอนตีบอดีชนิดเดียวในโลก ในสัตว์จำพวกอูฐ แอนตีบอดีจะประกอบด้วยสายกรดอะมีโนแบบเฮวี่เชนเพียงสองสาย เรียกว่าซิงเกิ้ลโดเมนแอนตีบอดี ทำให้มันมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากแอนติบอดีของเราๆท่านๆ (หากมีสัตว์เท้ากีบเข้ามาอ่านก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ที่เหมารวมไปก่อน) นั่นคือ มันเล็กกว่า เสถียรกว่าเมื่อโดนความร้อน และสามารถเข้าไปเกาะกับแอนติเจนในจุดที่แอนตีบอดีสี่สายทำไม่ได้
ว่าแต่แล้วมันเกี่ยวอะไรกับดาราตุ๊กตาทองสองสมัยกันเล่า???
โคโรนาไวรัส ถูกตั้งชื่อจากรูปร่างของมัน ทรงกลมที่มีแท่งยืดออกมาโดยรอบ เมื่อมองจากกล้องจุลทรรศน์ มันจึงดูคล้ายกับมงกฏ(corona ละติน แปลว่ามงกฏ ยืมจาก กรีก korṓnē แปลว่า มาลัยที่ร้อยจากดอกไม้แต่ใช้สวมหัว) แท่งแหลมที่โผล่ออกมาจากทรงกลมถูกเรียกว่า spike แปลว่าหนาม มันคือแท่งโปรตีนที่ทำหน้าที่จับเข้ากับโปรตีนของเซลล์ แล้วปล่อยRNAเข้าไปในเซลล์ เพื่อให่เซลล์ที่ติดเชื้อ สร้างไวรัสเพิ่มขึ้น นี่คือการขยายพันธุ์ของไวรัส
เมื่อเชื้อเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันแบบรับมา(adaptive immunity) จะสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ที่มีแอนติเจนรีเซปเตอร์ ที่อาจจะกำจัดไวรัสได้
ภูมิคุ้มกันของคน จริงๆมันก็ไม่รู้หรอกว่ามันกำลังสร้างโปรตีนอะไรออกมาเป็นแอนติบอดี อาจจะค้านกับนิทานชีวิต หรือ เซลล์ขยันพันธุ์เดือด จริงๆแล้ว พวกเซลล์มันไม่มีจิตใจหรอกนนะตัวเธอ มันก็สร้างโปรตีนขึ้นมาแบบสุ่มนั่นแหละ
เซลล์ลิมโฟไซต์แต่ละเซลล์จะมีรีเซปเตอร์ที่ต่างกันเล็กน้อย เป็นล้านๆเซลล์ หากบังเอิ๊ญบังเอิญ มีรีเซปเตอร์ที่สามารถจับกับหนามเหล่านี้ได้ เซลล์นั้นจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว บางเซลล์จะกลายเป็น effector cell ที่จะผลิตแอนตีบอดีที่จับกับเชื้อโรคใหม่ แล้วทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ
คนคนนั้นก็จะไม่ป่วย หรืออาจจะป่วยไปแล้ว แต่ร่างกายรักษาตัวเองได้ ไวรัสที่โดนแอนตีบอดีจับเข้าที่หนาม จะไม่สามารถทำให้เซลล์อื่นติดเชื้อเพิ่ม(เหมือนใส่ถุงยางให้ไวรัส) และจะถูกเซลล์เม็ดเลือดขาวจับกิน ในขณะเดียวกัน ร่างกายก็จะสร้างเซลล์เจ้าแค้น เมมโมรีเซลล์ ที่จะมีรีเซปเตอร์ของเชื้อโรคที่กำจัดได้ เอาไว้ในร่างกาย เผื่อวันไหนติดเชื้อตัวเดิม ร่างกายก็จะไม่เจ็บป่วย เพราะพร้อมที่จะผลิตแอนติบอดีไปกำจัดเชื้อโรค ไม่ต้องนั่งทุยเดาสุ่มแบบครั้งแรก
การฉีดวัคซีน มันเหมือนกับการลัดขั้นตอนนั่งทุยเดาสุ่มผลิตแอนตีบอดี
วัคซีนมีสองประเภท คือแบบที่มีเชื้อโรคที่ยังแอคทีฟ แต่อ่อนแอจนแทบจะไม่ก่อโรค หรือก่อโรคที่มีอาการน้อออออออยมั่กมาก กับอีกแบบ ที่มีซากของเชื้อโรค ที่แอนติบอดีจะสามารถจับได้ ซึ่งวัคซีนที่มีเชื้อโรคเป็นๆอยู่มีข้อดีคือมันขยายพันธุ์ได้บ้าง….ร่างกายเราจะผลิตรีเซปเตอร์เซลล์ออกมาควบคุมเชื้อเรื่อยๆ ผลการต้านโรคจะคงอยู่นานกว่า แต่ก็ต้องประคบประหงม เพราะถ้าเก็บวัคซีนไม่ดี เชื้อโรคตาย มันก็แค่สารละลายไร้ค่า แล้วยังมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะทำให้คนที่ภูมิต้านทานไม่ดีป่วย ส่วนแบบที่ใช้ซากเชื้อโรค มันก็ทนกว่า เสี่ยงน้อยกว่า แต่มักจะป้องกันโรคได้ไม่นาน
พอร่างกายเราได้รับวัคซีน ลิมโฟไซต์ก็จะมาเรียนรู้จดจำโปรตีนที่ใส่เข้าไป สร้างเซลล์ที่มีรีเซปเตอร์ก่อนที่จะเจอไวรัสจริงๆ
ว่าแต่แล้วมันเกี่ยวอะไรกับดาราตุ๊กตาทองสองสมัยกันเล่า??? ถามอีกครั้งเผื่อลืม
เกี่ยวกันตรงโรคระบาดระดับโลกที่กำลังบั่นทอน และ เบียดเบียนสุขภาพกาย สุขภาพใจ และ สุขภาพกระเป๋าตังค์ของเราๆท่านๆอยู่ในปัจจุบันนั่นไง (หากมีผู้ที่ไม่ได้ถูกบั่นทอนและ/หรือ เบียดเบียนมาอ่านก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ที่เหมารวมไปก่อน)
จากข่าว เราได้ทราบว่า คุณโทมัส เจฟฟรี่ แฮงส์ และครอบครัวได้รับการรักษาให้หายป่วยจาโรคโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย แต่ไม่ใช่หายโรคแล้วหายหัว เขาได้บริจากเลือดของเขา เอาไปสกัดพลาสมา เพื่อเอาไปวิจัยวัคซีนโรคโควิด-19 เพราะในพลาสมานั้นมีแอนติบอดีที่สามารถเอาชนะโคโรนาไวรัส 2019 ได้ อยู่ จริงๆก็ไม่เฉพาะคุณแฮงส์หรอกที่บริจากพลาสมา เพื่อช่วยในการวิจัย เหล่าผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 หลายคน ทั่วโลก ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับไวรัสด้วยวิธีนี้
และไม่ใช่เพียงแค่เซเปี้ยน คุณวินเทอร์ ลามะตัวหนึ่งก็มีแอนติบอดีต้านโคโรน่าไวรัสเช่นกัน
ก่อนหน้าภัยโรคระบาดโควิด-19 คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ทำการวิจัยซิงเกิ้ลโดเมนแอนติบอดีที่ใช้ต่อต้านโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคซารส์ และ เมิร์ส อยู่แล้ว เมื่อนักวิจัยฉีด spike ของไวรัสดังกล่าวเข้าไปในตัวคุณวินเทอร์ และพบว่าแอนติบอดีของคุณวินเทอร์นั้นสามารถต่อต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS‑CoV‑2 ที่ระบาดอยู่ได้ นอกจากนี้แอนติบอดีแบบซิงเกิลโดเมนยังสามารถเข้าไปจับกับโคโรนาไวรัสได้ง่ายกว่า เพราะขนาดเล็กกว่าแอนติบอดีของมนุษย์ ทั้งยังทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้ดีกว่าด้วย!!
เอาเข้าจริง คุณวินเทอร์และคุณแฮงส์คงจะไม่โดนสูบเลือดไปใช้ในในการผลิตแแอนติบอดีแบบอุตสาหกรรมจนหมดตัวซูบซีดหรอก กว่าจะผลิตได้ อาจจะต้องแยกเอาโปรตีนที่ใช้จับกับไวรัสมาศึกษา แล้วใช้เพื่อนเก่าชาวแบคทีเรีย ที่ถูกปรับปรุงดัดตัดแปลงพันธุกรรม ให้ผลิตโปรตีนที่เราต้องการออกมาเสียมากกว่า
ส่วนบางท่านที่อาจสงสัยทำไมกว่าจะโพสต์ตอนจบ เว้นช่วงนาน
แมวมันทับคีย์บอร์ดครับ
ขอวิจารณญาณจงอยู่กับท่าน
ปล. รูปไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย