Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TFEX for Future
•
ติดตาม
4 มิ.ย. 2020 เวลา 09:41 • การศึกษา
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
คณะวิศวกรรมการเงิน เส้นทางสายใหม่ของนักการเงินไทย Financial Engineering
gs.utcc.ac.th
หลักสูตรวิทยาศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการเงิน - บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ค้นหาจุดเด่นในตัวคุณ แล้วมาพัฒนาศักยภาพกับเรา ผ่านการเรียนรู้จากของจริง และฝึกฝนกับคนเก่งจริง………ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงและดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ บัณฑิตวิทยาลัยจึงพัฒนาหลักสูตรจากหลากหลายคณะวิชา รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวทาง การเรียนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Interactive and co-crea…
ติดต่อเรา
“มันมีด้วยหรอ คณะนี้” นี่คือคำตอบส่วนใหญ่ ที่เรามักได้รับกลับมาในบทสนทนาที่ถูกถามว่าเรียนจบคณะอะไร โดยมีบางคนแทบจะไม่เชื่อเลยด้วยซ้ำว่า มันมีคณะนี้อยู่จริง ๆ ในหลักสูตรการศึกษา ซึ่งอาจเป็นเพราะคำว่า วิศวะ กับ การเงิน เป็นคำที่ถูกจำแนกแยกออกจากกัน และไม่น่ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และในฐานะที่ทีมงานเราบางคนได้เรียนจบในหลักสูตรมหาบัณฑิตของคณะนี้ จึงขอออกมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็น 1 ในทางเลือกให้กับคนที่กำลังสนใจหาแนวทางศึกษาต่อ
โดยก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า เราไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นจากการรีวิวครั้งนี้ ดังนั้น เราจะให้ข้อมูลทุกอย่างอย่างเป็นกลางเพื่อประโยชน์สูงสุดกับทุกท่าน
คำว่าวิศวกรรมการเงิน ได้ถูกนิยามออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ในมุมมองของเราที่ได้เข้ารับการศึกษาโดยตรงและอยู่ในวงการหลักทรัพย์มาเป็นเวลานาน เราคิดว่านิยามที่ตรงที่สุด คือ “Finnerty (1988) กิจกรรมด้านการออกแบบ พัฒนา เครื่องมือทางการเงินหรือกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ระดมทุน หน่วยธุรกิจ ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน”
จากนิยามจะเห็นว่าศาสตร์ของวิศวกรรมการเงิน เปรียบเสมือนหลักสูตรที่เชื่อมระหว่างโลกของการเงินและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อผลิต Product และ Process ใหม่ ๆ โดยอาศัยความรู้เฉพะทางรวมถึงประสบการณ์ เพราะในปัจจุบัน เครื่องมือทางการเงินสามารถพลิกแพลงได้เป็นร้อยเป็นพันรูปแบบ อาทิเช่น ตราสารอนุพันธ์หรือสกุลเงินดิจิตอลโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงินไทย ดังนั้น องค์ความรู้ที่ต้องศึกษาจึงแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ดังนี้
รูปแสดงโครงสร้างเนื้อหาของคณะวิศวกรรมการเงิน
เนื้อหาที่ทุกท่านต้องศึกษาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ คณิตศาสตร์ การเงิน และการเขียนโปรแกรม โดยในแต่ละวิทยาลัยที่เปิดสอนก็จะแบ่งสัดส่วนน้ำหนักแตกต่างกันออกจากไป ขึ้นอยู่กับว่าจะ Design ให้ออกไปใช้งานในทิศทางไหน แต่สำหรับบทความนี้เราขออ้างอิงจาก หลักสูตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมการเงิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
1.การเงิน => สัดส่วนน้ำหนัก 50%
รูปแสดงตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุนตามทฤษฎี Markowitz Portfolio Theory(MPT)
ในหลักสูตรนี้พวกท่านจะได้ศึกษาเรื่องการเงินเพียง 50% เท่านั้น เพราะต้องแบ่งเวลาอีกครึ่งหนึ่งให้องค์ความรู้ด้านอื่น ซึ่งก็อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ ว่าความรู้ที่ได้จะต้องน้อยลง เพราะหลักสูตรนี้ “จำเป็น” ต้องเข้าใจเรื่องของการเงินทั้งหมดไม่แพ้หลักสูตรอื่น ๆ ดังนั้น “มันจึงเป็นเพียงแค่การลดเวลาเท่านั้น” พวกท่านจะต้องเจอกับเนื้อหาที่ค่อนข้างอัดแน่น โดยใส่สมมุติฐานลงไปว่า “คนที่เรียนต้องมีพื้นฐานเรื่องการลงทุนมาก่อนแล้ว”
อย่างวิชาทฤษฎีการลงทุนที่เป็นวิชาแรกของการศึกษา ก็เริ่มต้นจากการให้ผู้เรียนจัดพอร์ตหุ้นในคาบแรกๆ (ดังรูปตัวอย่าง) หรือวิชาอย่างตราสารอนุพันธ์และตราสารหนี้ ที่ปกติควรแยกออกจากกัน แต่สำหรับคณะนี้จำเป็นต้องอยู่ในหน่วยกิตเดียวกัน ดังนั้น ครึ่งเทอมแรกเมื่อท่านสร้าง Strategy Options เสร็จ ในครึ่งเทอมหลังท่านต้องเปลี่ยนไปจัดพอร์ต Bond ต่อทันที นอกจากนี้ คณะนี้จะเน้นไปที่เรื่อง Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยงที่เป็นตัวการของปัญหาทางด้านการเงิน (เนื้อหาจะออกไปทาง FRM มากกว่า CFA)
2.คณิตศาสตร์ => สัดส่วนน้ำหนัก 30%
รูปแสดงตัวอย่างการ Generate paths ของราคาสินทรัพย์ด้วยวิธี Monte Carlo Theory
Statistic, Optimization, Stochastic, Econometrics, Term Structure นี่คือวิชาทั้งหมดที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่พวกท่านจะต้องเรียน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ เพราะมันแทบจะไม่มีอยู่ในหลักสูตร ป ตรี แม้แต่คนที่จบการเงินมาก็ตาม หากให้เรานิยามโดยสังเขปคงอธิบายได้ประมาณว่า มันคือวิชาสถิติและแคลคูลัสเชิงลึก ที่คนเกลียดการคำนวณแค่ได้ยินชื่อก็เครียดแล้ว แต่วิชาเหล่านี้ดันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงการสร้างแบบจำลองทางการเงินเกือบทั้งหมด
ดังนั้น เราขอเตือนก่อนว่า ถ้าพวกท่านไม่ชอบอะไรที่ต้องพิสูจน์ด้วย Math คณะนี้อาจไม่ตอบโจทย์ของพวกท่าน แต่ถ้าใครผ่านมันไปได้ ท่านจะเข้าใจที่มาของพวกตราสารอนุพันธ์ซับซ้อน และจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการเข้าใจรูปตัวอย่าง เพราะมันจะอยู่ใน IS หรือ Thesis ของใครหลายคนที่จบคณะนี้
3.เขียนโปรแกรม 20%
รูปแสดงตัวอย่างการเขียนโปรแกรมสร้าง Model คำนวณราคา Options
สำหรับหลักสูตรนี้จะมีวิชาที่สอนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมโดยตรงไม่มากนัก แต่ในแต่ละวิชาที่เรียนก็จะถูกบังคับให้ใช้โปรแกรมไปในตัว เช่น Econometrics ที่ทุกคนต้องใช้ E-view ในการ run regression หรือ Financial Risk management ที่ต้องใช้ VBA เข้ามาช่วยในการหาค่าต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งทักษะนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐาน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้ Excel ให้คล่องในระดับหนึ่ง ส่วนใครที่จบสายโปรแกรมมิ่งมาก็สามารถประยุกต์ใช้โปรแกรมอื่นได้ตามความถนัด
จากเนื้อหาทั้งหมดสิ่งที่เราพรีเซ็นต์ดูเหมือนจะเป็นคำขู่ที่น่ากลัวจนเกินไป แต่อย่าเพิ่งกังวลไปครับ เพราะนี่เป็นการเอาช่วงเวลา 2 ปีมาย่อให้เหลือเพียงไม่กี่บรรทัด เลยอาจทำให้ดูยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนจะซึมซับและทำมันได้ โดยเราขอยืนยันว่ามันไม่ยากเกินไป สัดส่วนการจบสำหรับคนที่ตั้งใจเรียนต่อจริงๆ สูงกว่า 90% ดังนั้น พวกท่านสามารถจบได้ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า
คณะนี้ไม่มีการปล่อยเกรด บางคนจึงอาจจบแบบทุลักทุเลเล็กน้อย (หาวิชาเสริมจากคณะอื่นมาช่วยเพิ่มเกรด) ส่วนข้อดีของคณะนี้คือ เน้นการสอบเป็นหลัก จึงทำให้ไม่รบกวนเวลาสำหรับคนที่ทำงานไปเรียนไป ถ้าใครสนใจศึกษาเพิ่มเติมทางด้านการเงินหรือคิดจะผันตัวมาสายการเงิน ลองพิจารณากันดูนะครับ เราการันตีว่าท่านได้ความรู้ที่เข้มข้น และ Connection คนเก่ง ๆ จากคณะนี้อย่างแน่นอน
จบไปแล้วจะทำอะไร ?
4
นี่คงเป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบมากที่สุด โดยเราได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวมาตอบคำถาม ดังนี้
วิศวกรรมการเงิน VS การเงินการลงทุน
ก่อนอื่นทุกคนจำเป็นต้องแยกให้ออกระหว่าง 2 หลักสูตรนี้ โดยแม้จะใช้คำว่า “การเงิน” เหมือนกัน แต่เนื้อหา “มีความแตกต่างกันมากกว่า 80%” โดยหลักสูตรการเงินทั่วไป จะสอนภาพกว้างของการเงินทั้งหมด เช่น การวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ บัญชีงบการเงิน การคำนวนพื้นฐานในการหามูลค่าสินทรัพย์ ตลอดจนการทำความเข้าใจพฤติกรรมนักทุน เพื่อต่อยอดไปทำงานเป็น “นักวางแผนการเงิน นักวิเคราะห์การลงทุน ผู้จัดการกองทุน” ที่ทุกท่านคุ้นเคยกัน
แต่สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมการเงิน จะเน้นศึกษาโครงสร้างผลิตภัณฑ์/กระบวนการทางการเงิน โดยเฉพาะตัวที่ซับซ้อนอย่างตราสารอนุพันธ์ และการใช้คณิตศาสตร์เชิงลึกในการสร้างแบบจำลองทางการเงินเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ จึงสามารถไปทำงานเป็น “นักสร้างผลิตภัณฑ์การเงิน นักพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน นักกลยุทธ์/บริหารความเสี่ยง”
*แม้ในบางสายงานทั้ง 2 หลักสูตรอาจมีความคาบเกี่ยวกัน เช่น นักวิเคราะห์การเงิน ที่ทำหน้าที่คาดการณ์ราคาสินทรัพย์ แต่วิธีการคิดก็มีความแตกต่างกัน โดยสายการเงินทั่วไปจะเน้นไปทาง Fundamental ส่วนวิศวกรรมการเงินจะเน้น Pure Math หรือที่เราแบ่งกันว่า ใครเป็นนักวิเคราะห์พื้นฐาน ใครเป็นนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ นั่นเอง
รูปแสดง Careers path ของสายอาชีพวิศวกรรมการเงิน
1.นักออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
3
นี่เป็นอาชีพที่ตรงที่สุดของคนที่จบหลักสูตรวิศวกรรมการเงิน เพราะเนื้อหาจะเอื้อไปในด้านการทำความเข้าใจโครงสร้างของ Product ทางการเงินอย่างลึกซึ้งทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ จึงทำให้สามารถคิดค้นพวกเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน หากใครที่นึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด อย่าง Derivative Warrant ที่พวกท่านเทรดกันอยู่
รวมทั้งสินทรัพย์จำพวก หุ้นกู้อนุพันธ์, Exotic Option หรือสกุลเงินดิจิตอลต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการทางวิศวกรรมการเงินทั้งสิ้น นอกจากนี้วิศวกรรมการเงินยังสามารถสร้าง Model ในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดตาม Require ของนักลงทุน/กองทุนได้ โดยแทบทุกโบรกเกอร์หรือทุกธนาคาร จะมีฝ่าย Structure Product ที่รองรับบุคลลากรที่ทำหน้าทางด้านนี้
2.นักสร้างสรรค์เทคโนโลยีในการสนับสนุนกระบวนการทางการเงิน
คนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในการสรรสร้างหา Process และพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุนหรือเวลาจากการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น การทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น,การทำโปรแกรมวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการเทรด
การสร้างระบบตรวจสอบราคาซื้อ-ขายหุ้นให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตลอดจนการสร้างเทคโนโลยีจำพวก Robot Adviser มาทำหน้าที่แทน อย่างการสร้าง Algorithmic Trading เพื่อซื้อ-ขายหุ้นอัตโนมัติที่นักลงทุนหลายคนต้องการ ซึ่งจากประสบการณ์ของพวกเราที่อยู่ในตลาดทุนแห่งนี้มา พบว่ายังมีช่องว่างอีกมากมายที่นักการเงินได้เปิดเอาไว้ และรอให้บุคลากรทางด้านนี้เข้าไปพัฒนาต่อ
3.นักกลยุทธ์/บริหารความเสี่ยงทางการเงิน
นอกจากเข้าใจเรื่อง Product อย่างลึกซึ้งแล้ว หลักสูตรนี้ยังเน้นสอนเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองทางการเงิน ซึ่งส่วนจะใหญ่จะเกี่ยวกับสร้างกลยุทธ์การลงทุนและการป้องกันความเสี่ยง เช่น การคิดกลยุทธ์เพื่อมือกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง, การปรับเปลี่ยนสัดส่วนน้ำหนักพอร์ตการลงทุน (Rebalance) หรือคำนวนปริมาณการใช้ Futures, Options ในการป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น โดยแม้ว่าความรู้อาจไม่ได้แน่นเท่ากับคนที่จบ Finance หรือ Risk Management มาโดยตรง
แต่พวกท่านจะได้สกิลเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน เพราะบางครั้งบุคคลากรที่ต้องการเพิ่มอาจไม่ใช่นักการเงินมืออาชีพ เนื่องจากที่มีอยู่ก็แน่นแล้ว แต่เป็นบุคคลที่สามารถทำได้ทั้งสร้างกลยุทธ์และสนับสนุน Process เพื่อทำให้งานเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนี้คือจุดเด่นของคนที่จบคณะนี้ เพราะท่านจะเข้าใจทั้งเรื่องการเงินและรู้วิธีประมวลผลลัพธ์ให้รอบคอบและรวดเร็วที่สุด จึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสายงาน Fund, Analyst หรือ Risk ได้
นอกจากนี้ยังมีงานด้านอื่น ๆ ที่พวกท่านยังสามารถต่อยอดไปได้ ดังนี้
นักสร้าง Model เทรดหุ้น/TFEX & นักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
หลายคนอาจจะรู้สึกผิดหวังและแปลกใจที่เราไม่ได้ใส่อาชีพนี้ลงไปเป็นอาชีพหลักของคนที่จบหลักสูตรนี้ เพราะเราบอกแล้วว่าจะให้ข้อมูลอย่างเป็นกลางที่สุด โดยในฐานะนักพัฒนา Model Trade ในตลาด TFEX เราคิดว่า เนื้อหาของหลักสูตรไม่ได้ส่งเสริมทางด้านนี้ โดยแม้พวกท่านจะได้ทักษะเรื่องการเขียนโปรแกรมช่วยสร้าง Platform ส่งคำสั่งอัตโนมัติ
แต่ความสำคัญของอาชีพนี้ คือ “หา Logic หรือ Signal ที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งต้องอาศัยศาสตร์ทางด้านสถิติและ Data Science เข้าช่วย รวมถึงนักวิชาการหลายคนก็มีความเชื่อกับเรื่อง การวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่สามารถทำกำไรในตลาดได้ ขัดแย้งกับนักลงทุนสาย Quant ที่เชื่อว่ามันทำได้ เป็นต้น
นักการเงินพื้นฐาน
สำหรับคนที่จบคณะนี้ พวกท่านมั่นใจได้เลย ว่าตัวเองจะมีความรู้เพียงพอในการทำงานเป็นนักการเงินพื้นฐานอย่าง Investment consult , Financial Officer หรือแม้กระทั่ง Assistant Analyst โดยพวกท่านจะเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ได้ไม่ยาก เพราะนายจ้างจะทราบดีว่า คนที่จบด้านนี้มีทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และการเขียนโปรแกรมติดไม้ติดมือ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อทีมและมีแนวโน้มพัฒนาต่อได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
มาต่อกันด้วยเรื่องสำคัญที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะนี้
1.เนื้อหาในหลักสูตรจะทำให้เทรดหุ้น/TFEXเก่งขึ้น
นี่เป็นเรื่องหลายคนเข้าใจผิดมากที่สุด เพราะพอได้ลองอ่านนิยามโดยกว้างของคณะนี้แล้ว มักพบคำที่อธิบายในเรื่อง “การสอนสร้างแบบจำลองทางการเงิน” จึงทึกทักกันไปว่าจะต้องนำมาช่วยพัฒนาการเล่นหุ้นของตัวเองให้ดีขึ้น (พวกเราเป็น 1 ในนั้น) แต่แท้จริงแล้วคณะนี้ “แทบไม่มีแตะเรื่องการสร้าง Model เทรดเลย”
แต่ทุกคนอย่าเพิ่งผิดหวังกันนะครับ เราการันตีว่า หลักสูตรนี้จะเพิ่ม Skill การเทรดให้พวกท่านอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่บอกว่าคณะนี้ “ดึงดูดคนที่เล่นหุ้นเข้ามารวมตัวกัน” ดังนั้น พวกท่านจะได้เจอกับเทพสายต่าง ๆ ทั้งหุ้น TFEX Forex รวมถึงโปรแกรมเมอร์และนักบริหารความเสี่ยงมืออาชีพ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของความรู้ครั้งใหญ่ และแชร์มุมมองตามความถนัดของตนเอง ซึ่งนี้อาจเป็นประโยชน์ที่มากที่สุดจากการเรียนในคณะนี้ก็ได้
2.เขียนโปรแกรมไม่เป็นคงเรียนไม่ได้
นี่เป็นอีก 1 ความเข้าใจผิดที่คนหันหลังให้กับคณะนี้ ซึ่งแน่นอนพวกท่านคงหนีไม่พ้นกับการเขียนโปรแกรมอย่างต่อเนื่องในหลักสูตรนี้ เพียงแต่เขาเองก็ไม่ได้โหดร้ายถึงขนาดให้กระดาษเปล่ามาแล้วเขียนโค้ดลงไปทันที เพราะการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะเป็นไปในระบบ ให้โค้ดสำเร็จรูปมาแล้วสอนให้อ่าน/ทำความเข้าใจ เพื่อนำโค้ดเหล่านั้นไปแก้และประยุกต์ต่อ ส่วนโปรแกรมที่ใช้มากที่สุด ก็คือโปรแกรม Excel ที่ทุกคนคุ้นหน้าคุ้นตากัน (เขียนโค้ดหลังบ้านที่เรียกว่า VBA เป็นหลัก)
อีกทั้งยังมีคนเก่ง ๆ ในคณะคอยช่วย ซึ่งหากเคยใช้ Excel มาบ้างก็สามารถศึกษาต่อไปได้ และในมุมกลับกัน สำหรับนายจ้างเอง ก็ต้องเข้าใจว่าคนที่จบหลักสูตรนี้ก็มีน้อยคนที่จะเขียนโปรแกรมเก่ง โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีพื้นฐานหรือจบ ป ตรีทางด้านคอมพิวเตอร์มาก่อน
3.จบออกไปแล้วรายได้สูง
อันที่จริงประเด็นนี้อาจไม่ใช่ความเข้าใจผิดแต่อย่างใด เพียงแต่เราไม่ค่อยชอบกับการใช้เนื้อหาในทางการันตีว่า จบไปแล้วจะมีงานดี+เงินเดือนสูงรองรับ เพราะคนที่จบจากสายนี้แล้วได้รับเงินเดือนสูงจริง พวกท่านจำเป็นต้องมีของมากกว่าคนอื่นด้วย เพราะปัญหาของคนส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยว่า ความรู้ที่ได้จากคณะนี้สามารถเอาไปใช้จริงได้อย่างไร จึงกลายเป็นแค่ คนที่มีความรู้อยู่ในหัวแต่ไม่สามารถหยิบจับมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากไว้คือ
พวกท่านต้องเลือกเส้นทางที่ตั้งใจ เช่น สายโปรแกรม, สายการเงิน, หรือสายการสร้าง Model คณิตศาสตร์เพื่อการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเมื่อท่านเจอแล้ว ความรู้ในคณะนี้จะทำให้ท่านกลายเป็น Specialist คนหนึ่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและได้งานดี+รายได้สูงอย่างที่คาดหวังเอาไว้
ทั้งหมดนี้เป็นทั้งความรู้และประสบการณ์ที่พวกเรารวบรวมขึ้นมา หวังว่าคงจะทำให้พวกท่านเห็นภาพเรื่องวิศวกรรมการเงินมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากที่ทุกท่านได้รับรู้เรื่องดี ๆ ของวิศวกรรการเงินไปแล้ว เรามาทิ้งท้ายในประเด็น “ด้านมืดของศาสตร์วิศวกรรมการเงิน” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญและต้องระวังตัวกับผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น หากถ้าศาสตร์นี้ได้พัฒนาไปเกินขอบเขต
วิศวกรรมการเงินถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในแทบทุกครั้ง
พวกท่านสังเกตเหมือนเราไหม? ว่าหายนะทางการเงินส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาด ไล่ตั้งแต่ข่าวต่อเนื่องอย่างเรื่องบริษัทต่างชาติที่ล้มละลายลง เนื่องจากความผิดพลาดในการเข้าไปเก็งกำไรในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือจะเป็นเหตุการณ์วิกฤตครั้งใหญ่อย่าง Sup prime ที่เกิดจากการเติบโตของตราสารประเภท Securitization ที่เป็น 1 ในผลงานชิ้นเอกของวิศวกรรมการเงิน หรือแม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวอย่างในตลาดหุ้นไทยเอง
ที่ช่วงหลังมานี้ Product อย่าง Block Trade ก็เข้ามามีบทบาทและเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิด Crash อยู่บ่อย ๆ จนทำให้บางคนเริ่มแสลงศาสตร์นี้ว่า เป็นวิศวกรรมการเงินหรือวินาศกรรมการเงินกันแน่ โดยแม้สุดท้ายจะมีนักการเงินหลายคนออกมาวิพากย์ในเชิงต่อต้านว่า ความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ใช่ความผิดของวิศวกรรมการเงิน
แต่เป็นความผิดของนักลงทุนที่ใช้มันเกินขนาด ทั้ง Case การเก็งกำไรเกินลิมิตที่กำหนดของบริษัท ความประมาทของธนาคารที่ละเลยการคัดกรองคุณภาพของผู้กู้ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ ว่าต้นเหตุนั้นก็เกิดมาจาก Product เหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องผลกระทบของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Algo Trade ที่มีแนวโน้มทำให้นักลงทุนมีการซื้อขายกันแบบผิดธรรมชาติ และก่อให้การความปั่นป่วนกับตลาด รวมไปถึงการสร้างแบบจำลองทางการเงินในทางที่ผิด อย่างการทำราคาหุ้น หรือการคาดการณ์จุด Force sell ของนักลงทุน Futures/Margin เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำกำไรขาลงจากการ Panic และซื้อหุ้นกลับ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
โดยเรื่องเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างของการใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมการเงินในที่เกินเหมาะสม และยังมีอีกหลายเคสที่เราไม่ได้ยกตัวอย่าง ซึ่งปัญหาจำพวกนี้จะแปรผันตรงกับการพัฒนาความรู้ทางวิศวกรรมการเงิน ซึ่งพวกท่านก็เป็น 1 ในคนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเข้าศาสตร์เหล่านี้เพื่อรับมือกับผลกระทบที่ตามมา
เราคิดว่าสังคมการลงทุนยังขาดแคลนบุคคลกรด้านนี้อยู่มาก และหวังว่าความรู้ที่แชร์จะสร้างประโยชน์ให้กับคนที่สนใจ และหากใครที่มีคำถามเพิ่มเติมสามารถทักหลังไมค์ทางเฟสหรือไลน์มาสอบถามกันได้ เรายินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทุกท่าน ส่วนกลุ่มของพวกเราเลือกเป้าหมายในการพัฒนาความรู้ควบคู่ไปกับการลงทุนตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย หรือตลาด TFEX
โดยเป็นไปอย่างระมัดระวังและจะให้ความเคารพในกฎระเบียบ หากใครที่มีแนวทางเดียวกัน ก็สามารถติดตามหรือร่วม Join กับพวกเราได้ทาง Open chat ด้านล่าง สุดท้ายนี้เราหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถผลิตวิศวกรการเงินที่มีคุณภาพออกมาช่วยกันพัฒนาตลาดทุน และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณครับ
*สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณกาญจนา เกรียงไกรสิริกุล 089-8909394
gs.utcc.ac.th
หลักสูตรวิทยาศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการเงิน - บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ค้นหาจุดเด่นในตัวคุณ แล้วมาพัฒนาศักยภาพกับเรา ผ่านการเรียนรู้จากของจริง และฝึกฝนกับคนเก่งจริง………ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงและดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ บัณฑิตวิทยาลัยจึงพัฒนาหลักสูตรจากหลากหลายคณะวิชา รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวทาง การเรียนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Interactive and co-crea…
ติดต่อเรา
📣ข่าวการลงทุนสำคัญ ตลาดไทย ต่างประเทศ บทวิเคราะห์และบทความ สัมมนาต่างๆ
https://line.me/ti/g2/k8NPHPH1906UA4KiwRupnw
✅สอบถามการลงทุน Inbox หรือ Line : @tfexff
https://line.me/R/ti/p/%40wfk8084j
💬ตอนนี้เรามีห้องใน Line ไว้พูดคุยแชร์ข้อมูลกัน ใครสนใจเข้าได้เลยค่ะ
TFEX For Future
https://line.me/ti/g2/yBUFpPW6mk1eLNU-ETYB8w
การศึกษา
5 บันทึก
4
28
5
4
28
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย