4 มิ.ย. 2020 เวลา 16:39
การ “ส้อน” การหากินตามทุ่งนาวิถีคนอีสาน
ภาพจาก Facbook เพจ อีสานมักม่วน
แผ่นดินอีสานเมื่อนานมาแล้ว ได้ขึ้นชื่อว่ามีพื้นที่ ที่มีความแห้งแล้งกันดารมากกว่าภูมิภาคอื่นในประเทศ วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่จึงเน้นการหาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดตามสภาพภูมิประเทศ
แหล่งโปรตีนหลักๆ ของคนอีสานจึงค่อนข้างแตกต่างจากคนภูมิภาคอื่น สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงได้จำนวนมากพอเพียงต่อการบริโภคของคนในครอบครัวทั้งปี ดังนั้นการหาแหล่งโปรตีนจากสัตว์อื่นที่มีในท้องถิ่นจึงเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในบางครั้งสัตว์เหล่านั้นค่อนข้างจะแปลกในสายตาคนภูมิภาคอื่น จนทำให้คนมองว่า คนอีสานกินของแปลกประหลาดหลายๆอย่าง
มาถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าอาหารเริ่มมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น แต่วิถีชีวิตนี้ยังสืบทอดต่อเรื่อยมา เราจึงได้เห็นคนอีสานบางส่วน ยังนิยมบริโภคอาหารพื้นบ้านดั้งเดิม ถึงจะมองดูแปลกจากสายตาคนส่วนใหญ่ แต่กลุ่มคนที่ยังนิยมบริโภคอยู่ก็ไม่แคร์ ถึงแม้ว่าอาหารประเภทนี้จะกลายเป็น “ของหายาก” และมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับอาหารแบบปกติทั่วไปก็ตาม
การ “ส้อน” ตามภาษาอีสาน(พยายามเลียนเสียงให้ใกล้เคียงที่สุดแล้วนะครับ) หรือการใช้สวิง ช้อนตักขึ้นมา คือวิธีการหนึ่งในการจับ ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และแมลงต่างๆ ที่มาวางไข่ เมื่อต้นฤดูฝน เมื่อเริ่มมีฝนตกและเกิดน้ำขังในตามพื้นดิน เมื่อมีน้ำขังสัตว์ดังกล่าวจะออกมาวางไข่ในน้ำ และเพียงแค่ไม่กี่วัน ไข่เหล่านั้นจะกลายเป็นตัวอ่อน
ภาพจาก Facbook เพจ อีสานมักม่วน
ตามปกติในการจับตัวอ่อนสัตว์เหล่านี้มักจะได้สัตว์ต่างๆ รวมๆกันหลายสายพันธุ์ เช่น ฮวก(ตัวอ่อนของกบ) เขียด แมงระงำ(ตัวอ่อนแมลงปอชนิดหนึ่ง) มวนน้ำ แมงดานา และอื่นๆ(จำได้ไม่หมด ใครทราบช่วยตอบหน่อยนะครับ) ซึ่งส่วนใหญ่จะกินได้ทั้งหมด ไม่ทิ้ง ยกเว้นบางประเภทที่อาจอันตรายเมื่อกินเข้าไป เช่น ลูกอ้อดของคางคก งูกินปลา เป็นต้น (ผมว่าอาจจะไม่อันตรายก็ได้แต่แค่มันไม่น่ากิน ^ ^)
การนำมาประกอบอาหาร ส่วนใหญ่แล้วทุอย่างที่จับได้จะนำมาปรุงโดยไม่แยกประเภท จะรวมๆกันไป โดยสัตว์แต่ละชนิดจะนำมาทำความสะอาดด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ชนิดสัตว์ แต่แม้ว่าจะทำความสะอาดต่างกัน แต่สุดท้ายก็นำมาปรุงรวมกันอยู่ดี ซึ่งสูตรที่เป็นที่นิยมที่สุดคือการนำมาทำแกงอ่อมรวมมิตร ซึ่งคนอีสานจะเรียกรวมๆกันไปว่า “อ่อมฮวก” นั่นเอง
ภาพจาก Facbook เพจ อีสานมักม่วน
โฆษณา