5 มิ.ย. 2020 เวลา 08:52 • ไลฟ์สไตล์
เรื่องราวการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงที่ป่าแก่งกระจาน ทำให้ผู้คนรู้จัก "มารชรา" มากที่สุด
ในโอกาสที่เปิดเพจใหม่ ... ผมขอยกเรื่องนี้ กลับมาโพสต์ใหม่อีกครั้ง ... เป็นโพสต์แรกของมารชรา ที่พูดถึงชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
ปฐมบทการต่อสู้เมื่อเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา ... ทุกคนในบทความนี้ล้วนเสียชีวิตหมดแล้ว
เรื่องราวนี้แบ่งเป็น 4 บท ทัศน์กมล ปู่คออี้ ใจแผ่นดิน บิลลี่
ด้วยความอาลัยยิ่งต่อนักสู้
3 กันยายน 2562 ... DSI มีแถลงข่าวสำคัญ เกี่ยวกับ "กระดูกมนุษย์" ที่พบใต้สะพานไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีสมมติฐานว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของ "บิลลี่" หรือ "นายพอละจี รักจงเจริญ" ชาวกะเหรี่ยง ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิการอาศัยในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ผมเป็นคนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แม้ในช่วงของบิลลี่ ผมจะถอยห่างมาแล้ว แต่ผมเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ก่อนหน้านั้น
มีความทรงจำ มีไฟลุกโชน จนกระทั่งทรุดตัวลงทั้งยืน โศกเศร้าเสียใจ และเกือบจะอำลาอาชีพนี้ไปแล้ว
แด่เหล่านักสู้ที่จากไป
เชิญอ่าน ... ครับ
#มารชรา
ภาพแรกที่ปู่คออี้ปรากฎตัวต่อสื่อ ถ่ายโดย พี่หนุ่ม รังสี นสพ.เดลินิวส์
“ปู่คออี้ ทัศน์กมล บิลลี่ และบ้านที่ถูกเผาของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน”
บทที่ 1 ทัศน์กมล
10 กันยายน 2554 .. “เป็นวันที่ผม เกือบจะตัดสินใจจบอาชีพนักข่าวของตัวเองลง”
ผมอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงเย็นระหว่างนั่งกินข้าว รับโทรศัพท์สายหนึ่ง ปลายสายมาจากจังหวัดเพชรบุรี
“อาจารย์ป๊อด ถูกยิง ตายแล้ว”
ข้อความที่ถูกส่งมา ทำเอาผมทรุดลงกับพื้นทันที น้ำตาไหลออกมาไม่หยุด ผมปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียวทั้งคืน ในใจครุ่นคิดอยากเลิกเป็นนักข่าว .... มีประโยคหนึ่งที่กระแทกเข้าใส่หัวผมตลอดเวลา
“มึงทำให้เขาตาย” คำว่า “มึง” ย่อมหมายถึงตัวผมเอง
อาจารย์ป๊อด หรือ “ทัศน์กมล โอบอ้อม” รู้จักกับผม ก่อนหน้าที่เขาจะตายไม่นาน ชายคนนี้ ได้ชื่อว่า เป็น “ลูกของกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน”
เขาแทบจะเป็นคนเดียวในเวลานั้น ที่รู้จัก มีความสัมพันธ์อันดีกับกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอย่างมาก เป็นคนที่ชาวกะเหรี่ยงที่นั่นไว้ใจ และเล่าทุกอย่างให้ฟัง
วันที่ผมได้ข้อมูลว่า “บ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกเผา” คือ วันที่ผมเข้าไปที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ด้วยข้อสงสัยบางอย่าง ที่จนวันนี้ ผมก็ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อสงสัยนี้ออกสู่สาธารณะได้ และชาวกะเหรี่ยงที่นั่นก็เล่าให้ผมฟังเพียงเล็กน้อย ซึ่งผมเข้าใจได้เองว่า มันเกิดจากความไม่ไว้ใจ
และวันนั้น ชื่อ “ปู่คออี้” ก็ยังเป็นเพียง เสียงเล่าลือสำหรับผม
เมื่อลงมาจากโป่งลึก – บางกลอย ผมจึงตัดสินใจโทรหา อ.ป๊อด ... ซึ่งแน่นอน คำตอบที่ได้รับทีแรก คือ คำปฏิเสธ
แต่หลังการเจรจาอย่างดุเดือดผ่านไปนานนับชั่วโมง อ.ป๊อด ก็ยอมให้ความช่วยเหลือ ให้สัมภาษณ์ และแน่นอน เขาสามารถพาผมไปหา “ปู่คออี้ มีมิ” ผู้นำทางจิตวิญญาณของกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน
ปู่คออี้ ผู้ซึ่งถูกอุ้มขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาจาก “บ้านเดิม” หรือ ที่คนที่นั่นเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” จากนั้นบ้านของเขาก็ถูกเผา โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
เรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของ “กะเหรี่ยงแก่งกระจาน” เริ่มขึ้นนับตั้งแต่วันนั้น
บทที่ 2 ปู่คออี้
บ้านโป่งลึก – บางกลอย เป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดน อยู่ในป่าลึก ยากต่อการสัญจรไปมา ตั้งอยู่ 2 ฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี มีประชากรรวมกันประมาณ 1 พันคน มากกว่าครึ่งมีสัญชาติไทย และมีผู้ที่อายุถึงเกณฑ์มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ 450 คน
เขาพาผมเข้าไปที่บ้านหลังหนึ่ง ในนั้น เราพบ “ชายชรา รูปร่างสูงใหญ่ นอนผมกระเซิงอยู่ภายในบ้าน”
พอเราเข้าไป ชายชราลุกขึ้นนั่ง หยิบผ้าที่อยู่ข้างกายขึ้นมาพันศรีษะ แม้จะอายุมากและดูไร้เรี่ยวแรง แต่ร่างนั้นกลับสามารถทำให้ผู้คนรอบๆรู้สึกยำเกรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ชายชราพนมมือขึ้น ... และกล่าวอะไรบางอย่าง คล้ายบทสวด
“ปู่คออี้” พูดในวันนั้น แปลได้ว่า “เราอาศัยอยู่ในจุดที่ถูกผลักกดันลงมา คือ “ใจแผ่นดิน” ตั้งแต่เกิด ทำกินตามวิถีชีวิต ไม่มีเจตนาทำลายหรือบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อให้ร่ำรวย อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาพูดคุยแก้ปัญหา โดยให้ความใส่ใจต่อประเพณี ความเชื่อ ของชาวกะเหรี่ยงที่จะต้องมีพิธีกรรมในการย้ายถิ่นที่อยู่ด้วย” ... นั่นเป็นข้อความแรก จากปากของชายชราแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ที่ผมได้ยินและนั่งอยู่ตรงนั้น
นับจากวันนั้นมา ทุกอย่างก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้ถูกพัฒนาขึ้นจนมีสภาทนายความเข้ามาช่วยเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชนก็ลงมาพบปู่คออี้ รวมทั้ง อ.ป๊อด ที่เปิดหน้าแลกเต็มตัว
เวลาเดียวกัน ฝ่ายอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็ยืนยันหลักฐานที่หน่วยงานมี ยืนยันว่า ที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยง ที่ใจแผ่นดิน เป็นการ “บุกรุกป่า” ... ในรายงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีหลายข้อความที่อาจเป็นไปเพื่อการอธิบายว่า “ทำไมต้องเผา” นั่นคือ ข้อความที่ระบุถึงการปลูกพืชเสพติด แม้แต่การปลูกพืชไร่ ก็ถูกระบุว่า เป็นไปเพื่อสะสมเสบียงสนับสนุนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ โดยมีผู้ต้องหาหนึ่งคน ชื่อ หน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ...
หน่อแอะ ผู้ซึ่งเมื่อปี 2535 เป็นพรานชาวกะเหรี่ยง ที่นำทางเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปในป่าแก่งกระจาน เพื่อค้นหาตำรวจตระเวนชายแดน 4 คน ที่หายไป จากการปะทะกับกองกำลังต่างชาติในเวลานั้น ใน “ยุทธการบางกลอย”
หน่อแอะ คนเดียวกัน ที่กลายเป็นผู้ต้องหา “สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธ” ถูกหาว่า เป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากที่อื่น และอาวุธที่ถูกจับ ก็ประกอบด้วย มีดดายหญ้า เคียว และปืนแก๊ป ที่ใช้ได้เพียงกระบอกเดียว
ส่วน ทัศน์กมล โอบอ้อม กลายเป็นบุคคลที่ถูกติดประกาศห้ามเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
หลังจากนั้นไม่นาน “ทัศน์กมล” ก็ถูกยิงเสียชีวิต
ผมจะไม่ขอพูดถึงคดีนี้ ... แต่นั่น ทำให้ผมเสียใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ... และต้องตัดสินใจบางอย่างตามมา
บทที่ 3 ใจแผ่นดิน
ผ่านมา 5 ปี ... จากนักข่าว 2-3 คนแรก ที่ได้ไปพบปู่คออี้ ... ผมมาอยู่ในสถานะ ที่กลายเป็นเพียงผู้ติดตามข่าวคราวของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานอยู่ห่างๆ
เห็น และ เศร้าใจ อีกครั้งที่รู้ว่า บิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” หลานของปู่คออี้ กะเหรี่ยงแก่งกระจานคนเดียวที่เขียนและอ่านภาษาไทยได้ เป็นผู้ที่เขียนคำร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆได้ .... แต่แล้วก็ “หายสาบสูญ” ไป
ผมได้หวังว่า การต่อสู้ทางกฎหมาย จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้บ้าง
7 กันยายน 2559 ... ผลคำพิพากษา ศาลปกครอง เป็นอย่างที่ทราบกัน “ปู่คออี้” ชายชราวัยร้อยกว่าปี (เสียชีวิตปี 2561) กลายเป็น “ผู้บุกรุก”
“ตั้งแต่ลืมตามา ก็อยู่ที่นั่น ... เริ่มดูดนมหยดแรก ก็อยู่ที่นั่น” ... ชายชรา ส่งข้อความถึง “โลก” หลังรับทราบคำพิพากษา ... มือของผม ลงมาที่แป้นพิมพ์อีกครั้งจากประโยคนี้
ไหนๆ ก็เคยคลุกคลีตีโมงกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จึงขอเขียนข้อมูลส่วนหนึ่งลงไว้ในบทความชิ้นนี้ เผื่อจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง
ประเด็นแรก ... การตีความ คำว่า “บ้าน” ซึ่งหมายถึง “เจ้าของที่” กับคำที่อุทยานใช้ คือ “เพิงพัก” ซึ่งหมายถึง “คนที่ผ่านมา”
“บ้านโป่งลึก – บางกลอย” จุดที่เป็นที่อยู่ของกะเหรี่ยง แก่งกระจานในปัจจุบัน ในคำพิพากษา เป็นจุดที่ถูกระบุว่า “เป็นพื้นที่จัดสรร” ที่รัฐจัดให้
แต่จุดที่ “เผา” คือจุดที่ ปู่คออี้บอกว่า นั่นคือ บางกลอยบน ซึ่งปู่คออี้ไปอยู่มานานแล้วหลังถูกขับไล่เพื่อให้หากินได้ เพราะคล้ายกับบ้านที่แท้จริงของเขา ที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” อยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นที่บ้านโป่งลึก บางกลอย อีกมาก
การตีความในมุมของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ... คนที่มาอยู่ในพื้นที่นี้ ถือว่า “บุกรุก”
แต่ถ้ามาตีความในมุมของชาวกะเหรี่ยง จะได้ใจความที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในมุมของชาวกะเหรี่ยง “พื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย” ไม่ใช่บ้าน แต่เป็นที่อยู่ใหม่ ที่ถูกจัดสรรให้ ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการทำกินของพวกเขา โดยมีข้อมูลระบุไว้ด้วยว่า การจัดสรรที่ดินบ้านโป่งลึก – บางกลอย โดยผลักดันชาวกะเหรี่ยงลงมาจาก “ที่อยู่เดิม” (ซึ่งอาจหมายถึงใจแผ่นดิน) เกิดขึ้นเมื่อปี 2539
แต่ชาวกะเหรี่ยง บอกว่า ที่อยู่ใหม่ ไม่มีที่ทำกิน อยู๋ไม่ได้ จึงต้อง “กลับบ้าน” ที่ ใจแผ่นดิน
ดังนั้น ในมุมของกะเหรี่ยง “ใจแผ่นดิน” คือ บ้านเดิม หรือ บ้านจริงๆของพวกเขา
นั่นคือสถานที่ที่ปู่คออี้กล่าวถึง “ตั้งแต่ลืมตามา ก็อยู่ที่นั่น ... เริ่มดูดนมหยดแรก ก็อยู่ที่นั่น”
ผมขอจบบทความนี้ ด้วย ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณที่ระบุพิกัดมาว่า คือ “ใจแผ่นดิน”
ก่อนดูภาพ ท่องไว้ก่อนว่า “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกาศตั้งเมื่อปี 2524”
ภาพที่สีสด ถ่ายไว้เมื่อปี 2546 ... ส่วน ภาพที่สีทึบ ถ่ายไว้เมื่อปี 2515
ภาพถ่ายนี้ อาจกลายไปเป็นหลักฐานในอนาคตได้ เพราะปรากฏร่องรอยที่คล้าย หรือ อาจจะเคยมีการอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2515 (ย้ำว่า คล้าย หรือ อาจจะ – แต่จะใช่ร่องรอยการทำประโยชน์หรือไม่ ต้องถูกอ่านโดยผู้เชี่ยวชาญการแปรภาพถ่ายทางอากาศ)
นี่อาจเป็นหลักฐานสำคัญ
กลับมาที่ท่องไว้ .... อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกประกาศตั้งเมื่อปี 2524 ... นั่นหมายความว่า หากพิสูจน์ได้ว่ามี “ชุมชน” ที่ชื่อ “ใจแผ่นดิน” อยู่มาก่อนปี 2524 ก็อาจเป็นหลักฐานใหม่
*** หลังจากนั้น ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.3 ส.ค.2553 ที่ระบุให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและต้องยุติการจับกุม
ส่วนเรื่องถิ่นที่อยู่ ศาลรองรับว่าชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานเป็นกลุ่มคนดั้งเดิม และรองรับว่า “ใจแผ่นดิน” เป็นชุมชนดั้งเดิมท่มีอยู่จริง แต่ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานใดรองรับสิทธิการอยู่มาก่อน จึงไม่สามารถรองรับสิทธิได้ ต้องอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยต่อไป
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณ บ้านใจแผ่นดิน ปี 2515 (สีซีด) และ 2546 (สีสด)
บทที่ 4 พอละจี รักจงเจริญ
พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นหลานคนหนึ่งของ ปู่คออี้ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้หลังการตายของ อ.ป๊อด จากกะเหรี่ยงหนุ่มที่ติดตามดูแลปู่คออี้ แต่เขาเป็นกะเหรี่ยงที่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ดีที่สุดในชุมชน จึงพลิกบทบาทมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกเผาบ้าน ตั้งแต่ปประมาณปี 2555 เป็นผู้ที่ลงชื่อในเอกสารร้องต่อศาลปกครอง และเป็นผู้ถวายฎีกาเกี่ยวกับการถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเผาบ้าน
จนวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ หายตัวไปอย่างลึกลับ โดยครั้งสุดท้ายที่มีพยานพบเห็นอยู่กับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะถูกจับที่ด่านมะเร็ว โดยกล่าวอ้างว่า มีน้ำผึ้งติดตัว 3 ขวด แต่ได้ปล่อยตัวมาแล้ว แต่ภายหลังพยานที่ถูกนำมาอ้างว่าเห็นการปล่อยตัวกลับคำให้การ โดยยืนยันกับตำรวจว่า ไม่เห็นการปล่อยตัว
ภาพจากงาน พาบิลลี่กลับบ้าน
3 ก.ย.62
DSI แถลงคืบหน้าคดี บิลลี่ กะเหรี่ยง แก่งกระจาน หลานปู่คออี้ หายตัวกว่า 5 ปี หลังพบกระดูกมนุษย์ในอุทยานตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา
พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน หลานปู่คออี้ หรือนายโคอิ มีมิ ที่หายตัวไปตั้งแต่ 17 เมษายน 2557
การแถลงนี้เกิดขึ้นหลังดีเอสไอ พบกะโหลกมนุษย์ ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร อยู่ใต้น้ำบริเวณที่เป็นสะพานไม้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากนั้นจึงนำไปตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์รวมทั้่งตรวจ DNA ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยืนยันในการแถลงข่าวว่า เป็นชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ ด้วยวิธีการตรวจ "ไมโตรคอนเครีย DNA"
ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ไตรวิช น้ำทองไทย อดีตรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งเคยเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ บันทึกในสำนวนการสืบสวนว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน(ในขณะนั้น) ที่ถูกพบเห็นว่าเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับบิลลี่ อ้างว่า มีพยานเป็นนักศึกษา 2 คน เห็นว่า ปล่อยตัวบิลลี่มาแล้ว แต่เมื่อเอาตัวนักศึกษามาสอบปากคำ พร้อมให้คุยกับพ่อแม่และอาจารย์ จนเมื่อสอบปากคำ นักศึกษาทั้ง 2 คนให้การว่าไม่เห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว พร้อมบอกว่า มีคนมาพาไปชี้จุดต่างๆ เพื่อให้มาให้การกับตำรวจ
สุดท้ายสำนวนของ พ.ต.อ.ไตรวิช สรุปว่า ไม่พบว่าบิลลี่ถูกปล่อยตัว
แด่ ปู่คออี้ บิลลี่ ทัศน์กมล
#มารชรา
โฆษณา