5 มิ.ย. 2020 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
เซเนกัล จากอดีตเมืองท่าค้าทาส สู่ความท้าทายในปัจจุบัน
1
ช่วงศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 19 เปรียบเสมือนฝันร้ายของชาวแอฟริกัน
มหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคมต่างเดินทางมาแอฟริกาเพราะต้องการ “แรงงานทาส”
1
หนึ่งในแหล่งค้าทาสที่สำคัญในสมัยนั้น คือประเทศที่มีเมืองหลวงตั้งอยู่ตะวันตกสุดของทวีปแอฟริกา
ที่ชื่อว่า “สาธารณรัฐเซเนกัล”
ประเทศนี้ผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ชื่อประเทศ เซเนกัล มาจากภาษาโปรตุเกสที่หมายความว่า ส่วนหนึ่งของผืนน้ำ
เนื่องจากดินแดนฝั่งตะวันตกของประเทศติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
เมืองหลวงของเซเนกัลชื่อว่า “ดาการ์” ตั้งอยู่ตะวันตกสุดของประเทศ และตะวันตกสุดของทวีปแอฟริกา
ทำเลที่ตั้งที่เอื้ออำนวยต่อการค้าทางทะเล
ทำให้ดาการ์กลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของแอฟริกาตะวันตก
2
ชาติแรกที่เข้ามาตั้งสถานีการค้าคือ โปรตุเกส เจ้าอาณานิคมโลกในยุคแรกๆ
เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับนายทุนชาวแอฟริกัน
โดยเฉพาะ “แรงงานทาส”
เพื่อนำไปใช้แรงงานในไร่อ้อยประเทศบราซิล ซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในสมัยนั้น
ทาสในทวีปแอฟริกาจะถูกนำมาที่เมืองดาการ์
แล้วขึ้นเรือไปยังเกาะที่ชื่อว่า กอรี
เกาะเล็กๆ ห่างจากเมืองดาการ์ออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก 3 กิโลเมตร
เพื่อรอการแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น
สถานที่บนเกาะแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “House of Slaves”
Cr. Flickr
หลังจากโปรตุเกส มหาอำนาจในสมัยนั้นก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาครอบครองเกาะแห่งนี้
ทั้งอังกฤษ เนเธอร์แลนด์
เพื่อส่งออกทาสไปใช้แรงงานในอาณานิคมของตน
แต่ชาติที่เข้ามามีอิทธิพลต่อเซเนกัลมากที่สุดคือ ฝรั่งเศส
ปี ค.ศ. 1659 พื้นที่แถบแอฟริกาตะวันตก กลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ซึ่งรวมถึงเซเนกัล
ฝรั่งเศสตั้งให้ดาการ์เป็นศูนย์กลางการค้ากับประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก
และได้สิทธิ์ครอบครองเกาะกอรีต่อจากเนเธอร์แลนด์
เพื่อส่งออกทาสไปใช้แรงงานในตอนใต้ของอเมริกาเหนือ
และตั้งเมืองท่าเพื่อขยายการค้าที่ปากแม่น้ำเซเนกัล
ห่างจากเมืองดาการ์ขึ้นเหนือไปตามแนวชายฝั่ง 300 กิโลเมตร
โดยให้ชื่อเมืองนี้ว่า “เซนต์-หลุยส์”
Cr. Very Hungry Nomads
ฝรั่งเศสวางรากฐานให้เซเนกัลเป็นประตูการค้าสู่ทวีปแอฟริกา
สร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่าง ดาการ์ และ เซนต์-หลุยส์ เพื่อการส่งสินค้า
นอกจากนี้ ยังวางรากฐานการศึกษาให้คนท้องถิ่น
เพื่อให้มาช่วยเรื่องการค้าขายสินค้า
โดยการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยในดาการ์ และ เซนต์-หลุยส์
จึงเป็นสาเหตุให้เซเนกัลใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ
และใช้ ฟรังก์เซฟา เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ
Cr. DW
และแล้วการค้าทาสที่มีมากว่า 5 ศตวรรษก็สิ้นสุดลงในช่วงกลางศตวรรษที่ 19
ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 เซเนกัลก็หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
แล้วปกครองประเทศด้วยประธานาธิบดี และรัฐบาลท้องถิ่นตั้งแต่นั้นมา
แม้เซเนกัลจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของแอฟริกาตะวันตก
แต่เนื่องจากพื้นที่กว่าครึ่งของประเทศทางตอนบนอยู่ในเขตทะเลทรายสะฮารา
ทำให้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมมีจำกัด
จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร และพลังงานจากต่างประเทศในปริมาณมาก
ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักอย่าง แร่ฟอสเฟต สินค้าจากการทำประมง น้ำมันถั่วลิสง มีมูลค่าต่ำ
Cr. PRI
รัฐบาลกู้หนี้จากต่างประเทศจำนวนมากมาใช้จ่าย
และแทรกแซงราคาสินค้าในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ
เซเนกัลจึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง
1
จนในปี ค.ศ. 1994 รัฐบาลเซเนกัลก็ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ
เริ่มจากการลดค่าเงินฟรังก์เซฟาลง 50% ทำให้เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 32% ทันที เพราะสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น
จากเดิมที่เซเนกัลใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ผูกกับค่าเงินยูโร ก็เปลี่ยนมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว
ลดการแทรกแซงราคาสินค้าจากภาครัฐ
และรับเงินช่วยเหลือจาก IMF และประเทศอื่น เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา
แม้เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้
แต่เซเนกัลยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม
จากการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและเงินสนับสนุนจากต่างชาติตลอดเวลา
1
ปี 2016 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4.2% ของ GDP
ปี 2017 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 7.3% ของ GDP
ปี 2018 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6.9% ของ GDP
เพราะฉะนั้น
ความท้าทายของเซเนกัลในตอนนี้
คือจะจัดการทรัพยากร และเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศอย่างไร
ให้พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศตลอดเวลา
จากเรื่องของเซเนกัล เป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้เรียนรู้
ถึงแม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาตอนนี้จะมีฐานะดีขึ้นจากในอดีตที่มีการค้าทาส
แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก
เพราะว่าขาดการพัฒนาสินค้าที่สามารถส่งออกได้ในมูลค่าสูง
และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะเป็นตรงกันข้ามคือ
การนำเข้าสินค้าจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตให้ได้สินค้าที่มูลค่าสูงเพื่อส่งออก
1
เคล็ดลับมันอยู่ที่ ประเทศเหล่านี้จะทำอย่างไร
เพื่อหลุดพ้นจากปัญหานี้
ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจทัดเทียมกับประเทศอื่นได้ในที่สุด..
โฆษณา