5 มิ.ย. 2020 เวลา 14:28 • ความคิดเห็น
ประสบการณ์ทำงานกับสถานทูตไทยในตะวันออกกลาง: ดราม่า คะ/ค่ะ
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้
ภาพปกโดย brgfx จาก freepik
ก่อนอื่นเลยนะคะ ผู้เขียนเคยทำงานกับสถานทูตไทยในสองประเทศใน
ตะวันออกกลาง และผู้เขียนไม่ใช่ทูตหรือมีตำแหน่งในทางราชการใดๆทั้งสิ้น ผู้เขียนเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานทูตไทยในต่างแดน
นั้นเป็นข้าราชการของกระทรวงฯทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่ง
นักการทูตหรือข้าราชการในสถานทูตนั้นมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น จากประสบ
การณ์ของผู้เขียนนั้นในแต่ละสถานทูตที่ผู้เขียนเคยทำงานด้วยมีข้าราชการ
เพียง 5 คน ดังนี้ เอกอัครราชทูต อุปทูต เลขานุการเอกและ/หรือเลขานุการ
โท (ซึ่งชำนาญการในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เศรษฐกิจ กงสุล
พิธีการทางการทูต เป็นต้น) และเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี
ส่วนตำแหน่งอื่นๆในสถานทูตนั้น จะเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือลูกจ้าง
ชั่วคราว (ซึ่งคนในสถานทูตมักจะเรียกกันเองว่า local staff) เช่น เลขานุ-
การ ล่ามประจำสถานทูต (ซึ่งชำนาญภาษาราชการหรือภาษาถิ่นซึ่งสถานทูตนั้นๆตั้งอยู่ สถานทูตทั้ง 2 แห่งที่ผู้เขียนเคยทำงานด้วยนั้น มีล่ามคนไทยที่
ชำนาญภาษาอาหรับหรืออารบิก) พนักงานขับรถ พนักงานรักษาความ
ปลอดภัย (ซึ่งในบางประเทศสถานทูตไทยไม่ได้ทำการจัดจ้างเอง แต่หน่วย
งานท้องถิ่นในประเทศนั้นๆจัดส่งเจ้าหน้าที่ของประเทศตนมาให้ประจำการ) และที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีประมาณ 2-4 คน แล้วแต่ว่าปริมาณงานและคนไทยประจำประเทศนั้นๆมีมากน้อยเพียงใด
บางสถานทูตมีลูกจ้างฝ่ายกงสุลแค่ 2 คน เนื่องจากไม่ค่อยมีชาวต่างชาติมาขอรับการตรวจลงตราหรือวีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทย และจำนวนคนไทยที่อาจต้องเข้ามาใช้บริการหรือขอความช่วยเหลือนั้นมีน้อย
ภาพโดย jaydeep_ จาก pixabay
จากสถิติโดยสังเกตของผู้เขียนเอง และจากการสอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลประจำสถานทูตในบางประเทศ พบว่าโดยเฉลี่ยในสถานทูตที่
ปริมาณงานในแต่ละวันมีค่อนข้างน้อยนั้น จะมีชาวต่างชาติเข้ามาขอวีซ่า
เพียง 0-50 คน (คือบางวันก็ไม่มีคนเข้ามาติดต่อขอวีซ่าเลย) มีคนไทยเข้า
มาติดต่อขอรับบริการ เช่น นิติกรณ์ (รับรองเอกสาร) แจ้งเกิด แจ้งตาย จด
ทะเบียนสมรส ต่ออายุหรือทำบัตรประชาชน และหนังสือเดินทางหรือ
พาสปอร์ตใหม่ เป็นต้น โดยเฉลี่ยเพียงอาทิตย์ละ 2-3 คนเท่านั้น ส่วนคน
ไทยที่เข้ามาติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณี
แรงงาน คืออาจมีปัญหาที่ตกลงไม่ได้กับนายจ้างของตนในประเทศนั้นๆ
หรือเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศนั้นๆโดยผิดกฎหมาย ทั้งที่เข้ามาเอง
โดยเต็มใจและประเภทที่ถูกหลอกให้เข้ามาทำงาน ในบางสถานทูตนั้น เคสคนไทยที่เข้ามาขอความช่วยเหลือนั้นแทบจะไม่มีเลย เฉลี่ยเพียงปีละ 2-3
กรณีเท่านั้น
ในส่วนของสถานทูตที่ผู้เขียนเคยร่วมงานด้วยนั้น ที่หนึ่งมีชาวต่างชาติเข้ามาขอรับการตรวจลงตราโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 50-150 คน เนื่องจากใน
ประเทศนั้น มีคนหลากหลายสัญชาติแทบจะทั่วทุกมุมโลกเข้ามาทำงาน และในหลายๆสัญชาติจะต้องขอวีซ่าก่อนเดินทางมาประเทศไทย และมีคนไทย
เข้ามาติดต่อใช้บริการอาทิตย์ละ 1-2 คน แต่คนไทยที่เข้ามาขอความช่วย
เหลือโดยเฉพาะในกรณีแรงงานนั้นมีจำนวนมาก จนทางสถานทูตต้องมีฝ่ายแรงงานโดยเฉพาะเพื่อเข้ามาดูแลคนไทยกลุ่มนี้ ซึ่งฝ่ายแรงงานนี้ ก็มีข้า
ราชการเพียงไม่กี่คน ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือลูกจ้าง
ชั่วคราว เช่นเดียวกับฝ่ายกงสุลซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของสถานทูต
ส่วนกับอีกสถานทูตนึงนั้น มีชาวต่างชาติเข้ามาขอวีซ่าเฉลี่ยเพียงวันละ 5-10 คน เนื่องจากประชาชนของประเทศนั้นสามารถเดินทางเข้าและอยู่ใน
ประเทศไทยได้เลย 30 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่มีกรณีที่คนไทยเข้ามาขอ
ความช่วยเหลือค่อนข้างมากเฉลี่ยอาทิตย์ละ 2-4 คนเลยทีเดียว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นคนไทยที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศโดยผิดกฎหมาย
โดนนายจ้างยึดพาสปอร์ตไว้และต้องทำงานหนักใช้หนี้ จึงติดต่อหรือหนีมาที่สถานทูตไทยเพื่อให้สถานทูตไทยเจรจาขอพาสปอร์ตคืนจากนายจ้างให้
สถานทูตไทยยังช่วยประสานเรื่องการจ่ายค่าปรับเมื่อบุคคลอยู่ในประเทศ
นั้นเกินกำหนด (overstay) ติดต่อไปยังครอบครัวที่ไทยในกรณีที่คนที่มาติดต่อไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินกลับบ้านที่ไทยเอง และช่วยเหลือให้ที่พักพิง
ชั่วคราวก่อนถึงวันบินกลับไทย
ภาพโดย Nor Gal จาก shutterstock
เจ้าหน้าที่ที่เป็นด่านหน้ารับเรื่องขอใช้บริการและขอความช่วยเหลือจากคน
ไทยในประเทศต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ที่รับสายโทรศัพท์ ตอบอีเมล์และตอบข้อ
ความจากคนไทยที่มีคำถามหรือขอความช่วยเหลือเข้าไปนั้น ส่วนใหญ่แล้ว
มักจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกจ้างท้องถิ่นเหล่านี้ ในสถานการณ์ปกติบาง
สถานทูตก็มีคนไทยเข้ามาติดต่อขอความช่วยเหลือจนล้นมือเจ้าหน้าที่
สถานทูตอยู่แล้ว การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีจำนวนคนไทยติดต่อขอ
ความช่วยเหลือมากขึ้นหลายเท่าตัว
ในบางประเทศมีทั้งสถานทูตไทย (Royal Thai Embassy) ในเมืองหลวง
และสถานกงสุลไทย (Royal Thai Consulate-General) ในเมืองใหญ่ เช่น ในประเทศออสเตรเลีย มีสถานทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา (Canberra ตามหลักออกเสียงที่ถูกต้องแล้ว ชื่อเมืองคือ แคน-บรา ค่ะ) ซึ่งเป็นเมืองหลวง
และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก และสหรัฐ
อาหรับเอมิเรตส์ มีสถานทูตไทย ณ กรุงอาบูดาบี ที่เป็นเมืองหลวง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก เป็นต้น แต่ในบางประเทศนั้นไม่มีสถานทูตไทยหรือแม้แต่สถานกงสุลใหญ่อยู่เลยด้วยซ้ำ เช่น ตอนนี้ผู้
เขียนอาศัยอยู่ในประเทศฟิจิ ถ้าผู้เขียนต้องการติดต่อขอความช่วยเหลือ
กลับไทยเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้เขียนต้องติดต่อไปยังสถานทูต
ไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่สะดวกสบายเท่ากับคน
ไทยคนอื่นๆที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสถานทูตไทยประจำและมีเจ้าหน้าที่
คนไทยพร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว
ภาพโดย Kurious จาก pixabay
จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ทางสถานทูตพยายามคัดสรรบุคลากรที่ดี
และมีประสิทธิภาพที่สุดในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดเพื่อเข้ามาทำงานเป็น
ลูกจ้างท้องถิ่นกับสถานทูต แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เนื่องจากลูกจ้าง
ท้องถิ่นนั้นจะไม่ได้รับสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พัก ค่าเดินทาง
ค่าอาหาร ค่าทำวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานประจำประเทศนั้นๆ สิ่งเดียวที่
ลูกจ้างท้องถิ่นจะได้รับคือเงินเดือน ซึ่งก็มากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่
มาตรฐานเงินเดือนขั้นต่ำของประเทศนั้นๆ ลูกจ้างท้องถิ่นจึงมักจะเป็นคนที่มีครอบครัวทำงานอยู่ในประเทศนั้นๆอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานหรือ
คู่สมรสของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มีธุรกิจ ทำงาน หรือมีใบอนุญาต
พำนักอยู่ในประเทศแล้ว ตัวผู้เขียนเองก็เป็น “แม่บ้าน” อาศัยอยู่กับสามีที่มีงานประจำทำอยู่ในประเทศนั้นแล้ว
ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้เขียนก็ยอมรับว่ามีบ้างที่คนบางคนใช้เส้นสาย
คนรู้จัก หรือคอนเนคชั่น (connection) แทนที่จะใช้ความสามารถของ
ตนเองเพื่อให้ได้งานทำ แต่ทุกคนล้วนมีข้อดีข้อเสียและความผิดพลาดของ
ตนเองด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ลูกจ้างท้องถิ่นที่ได้งานด้วยความสามารถของตนเองจริงๆก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งไปทุกเรื่องและไม่เคยทำผิดพลาด บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองทำผิด สิ่งสำคัญคือเราพร้อมที่จะยอมรับข้อผิดพลาดนั้น ขอโทษในความผิดพลาดที่เราทำ และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขต่อไปเพื่อไม่ให้ทำ
ผิดพลาดซ้ำในเรื่องเดิมอีกหรือไม่
ภาพโดย brgfx จาก freepik
ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนะคะ ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่เราคนไทยทุกคนควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องค่ะ แต่อยากให้เราดูเป็นรายบุคคล
มากกว่าที่จะตำหนิคนทั้งองค์กรนะคะ สิ่งที่เราคนไทยด้วยกันควรจะมีให้แก่
กันไม่เพียงแต่ในเฉพาะสถานการณ์ที่ลำบากเช่นนี้แต่ในทุกๆสถานการณ์
ไม่ใช่ การเหมารวม (stereotype) และต่อว่าดราม่ากันไปอย่างไม่จบสิ้น
และไม่ได้ประโยชน์ใดๆ แต่เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือเห็นอกเห็นใจกัน (empathy) การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ (constructive criticism) และ
การให้อภัย (forgiveness) ค่ะ
หวังว่าผู้เขียนจะใช้ คะ/ค่ะ ถูกนะคะ ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่ นี้ ค่ะ
เครดิตภาพ
โฆษณา