5 มิ.ย. 2020 เวลา 15:12
ข้าวเหนียวมะม่วง Style อีสาน กับวิธีการง่ายๆที่สุดคูล!!!
จะว่าไปแล้วมะม่วงบ้านเรามีหลากหลายสายพันธุ์มาก รสชาติก็จะแตกต่างกันไปแต่ละสายพันธุ์ แต่วันนี้ ผมจะมาแนะนำมะม่วงชนิดหนึ่ง ชนิดเดียวที่คนอีสานสมัยก่อนนำมาทำเป็นข้าวเหนียวมะม่วง ในรูปแบบที่หลายๆคนอาจไม่เคยเจอมาก่อน และอยากลองชิมกันเลยทีเดียว
...ยังไม่พ้นเรื่องของกิน ^^
“มะม่วงน้อย” หรือ มะม่วงกะสอ มะม่วงนา มะม่วงกะล่อน แล้วแต่ภูมิภาคใดจะเรียก (เอาแค่ชื่อก้อมากมายละเนี่ย) เป็นมะม่วงชนิดหนึ่งที่พบทั่วไปในทุกภาค ลำต้นค่อนข้างสูงใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่นๆ ผลดิบมีรสเปรี้ยวจัด ผลขนาดเล็ก นำมาผ่าครึ่งแช่น้ำเพื่อลดการระคายของยางที่ขั้วผลเวลากิน จิ้มกับพริกน้ำปลา เป็นความฟินนน ของการกินของเปรี้ยวที่สุดจะบรรยายจริงๆ.. แต่ !!! วันนี้เราจะไม่มาพูดถึงผลดิบครับ เราจะพูดกันเรื่องผลสุกที่สุดจะอเมซซิ่งทีเดียว
ผลสุกของมันจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มะม่วงสายพันธุ์อื่นไม่มีครับ นั่นคือเปลือกที่แยกกันอย่างอิสระกับมะเมล็ดเวลาสุกเต็มที่ นั่นทำให้มันมีความพิเศษเวลาเราแกะเมล็ดออก เนื้อจะถูกแบ่งคนละครึ่งกันกับเมล็ด ด้วยความพิเศษนี้เองจึงเป็นที่มาของการทำข้าวเหนียวมะม่วงแบบไม่ต้องพึ่งกะทิและน้ำตาลเลย
มันเป็นความลงตัวที่สุดจริงๆ ของมะม่วงพันธุ์นี้ที่ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ กับการคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวเพียวๆ รสชาติที่ออกมาค่อนข้างลงตัวสุดๆ ผสมกับภูมิปัญญาแบบชาวบ้านในการนำข้าวเหนียวยัดลงไปในปลอกที่เป็นเปลือกของมะม่วง ที่มีเนื้อมะม่วงปนอยู่ คลุกเคล้านิดหน่อย ออกมาเป็นของหวานรสชาติสุดคูล (ถ้านึกไม่ออกดูภาพประกอบ) ซึ่งวิธีการนี้ชาวอีสานมีคำเรียกเก๋ๆว่า "บ่ายโบก"
ด้วยความที่เนื้อมะม่วงค่อนข้างฉ่ำน้ำ รสที่หวานผสมกับข้าวเหนียว ตัดด้วยความเปรี้ยวนิดหน่อยของมะม่วง และกลิ่นหอมหวานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพันธุ์นี้ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ใครที่ได้เคยลิ้มลองต้องติดใจในรสชาติแบบไม่มีวันลืมได้เลย..
“แต่สิ่งที่สำคัญของมะม่วงพันธุ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติ แต่มันคือรสชาติที่มาพร้อมความทรงจำที่แสนมีความสุข ที่ทำให้บางคนหวนนึกถึงวัยเด็กที่สนุกสนาน และภาพอดีตของบ้านเกิด และครอบครัวที่ห่วงใย อบอุ่น สังคมที่แบ่งปัน ต่างหากล่ะ...”
....ไหนใครคิดถึงอดีตและอยากกินมะม่วงในบรรยากาศวัยเด็กบ้าง รายงานตัวด้วยครับ ^ ^
“ขอบคุณทุกท่านที่รับชมและ อย่าลืม!!! ฝากกดติดตามด้วยนะครับ”
🙏🙏🙏ขอบคุณภาพประกอบจาก : Facebook เพจ คนอีสาน
โฆษณา