บุรุษอาชาไนย คือ บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิต เป็นพระโพธิสัตว์ผู้อุบัติขึ้นมาเพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง บ่มบารมีให้แก่รอบ มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน เมื่อท่านเกิดมา ท่านจะตั้งใจสั่งสมบุญกุศล ทำแต่ความดีล้วนๆ ไม่ข้องเกี่ยวกับบาปอกุศลอันจะนำความทุกข์มาให้ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และวงศ์ตระกูล บุคคลประเภทนี้ ใช่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ได้ ท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป ด้วยท่านเคยสั่งสมบุญเก่ามาดี เมื่อเกิดทั้งที จะเลือกเกิดในปฏิรูปเทส ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างบารมี จะได้สั่งสมบุญบารมีให้แก่รอบยิ่งๆ ขึ้นไป ครอบครัวใดได้บุรุษอาชาไนย ผู้มีบุญบารมีมาเกิด ครอบครัวนั้นถือว่าโชคดี มีสิริมงคลเกิดขึ้น เหมือนอย่างเรื่องของมโหสถบัณฑิต
*เรื่องมีอยู่ว่า เย็นวันหนึ่ง พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้นั่งประชุมกันในธรรมสภา กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระบรมศาสดาว่า พระองค์เป็นผู้มีพระปัญญายิ่งใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาหลักแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอดในสรรพสิ่ง สามารถครอบงำวาทะของเจ้าลัทธิอื่นๆ ได้ทรงทรมานพราหมณ์เจ้าทิฐิ มีกูฏทันตพราหมณ์ และเวรัญชพราหมณ์ เป็นต้น ทรงกลับใจพวกปริพาชก นักบวชนอกศาสนาให้หันกลับมานับถือพระรัตนตรัย ทรงทรมานอมนุษย์เช่นนาคหรือยักษ์ มีอาฬวกยักษ์ เป็นต้น ทรงเป็นครูของเหล่าพรหมและอรูปพรหม ด้วยพระปัญญาหาประมาณมิได้
เมื่อได้เวลาอันสมควร พระบรมศาสดาก็เสด็จมา และตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไรกันอยู่" เมื่อตัวแทนของภิกษุสงฆ์กราบทูลพระองค์แล้ว จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระตถาคตมีปัญญาหาประมาณมิได้ แม้ในอดีตกาลเมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่นั้น ก็เป็นผู้มีปัญญามากเหมือนกัน" จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตสมัยที่เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ผู้กำลังบำเพ็ญปัญญาบารมีให้แก่รอบ มาตรัสเล่าให้เหล่าภิกษุสงฆ์ได้รับฟังกัน
เรื่องมโหสถบัณฑิตแห่งมิถิลานครนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาว แต่มีเนื้อหาสาระที่น่ารู้น่าศึกษามาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปัญญา และปฏิภาณอันเฉียบแหลมของพระบรมโพธิสัตว์ แม้บางครั้งจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน ขนาดเอาชีวิตเกือบไม่รอด แต่ท่านก็ยังมีจิตใจมั่นคง ใช้สติปัญญาเปลี่ยนวิกฤติมาเป็นโอกาส จนสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ ทำให้มนุษย์และเทวาทั้งหลายต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ ภพชาติที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิตนี้ จึงเป็นภพชาติที่นักสร้างบารมี ทั้งหลายจะต้องศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ได้ทรงแสดงความสามารถทางด้านปัญญาไว้อย่างยอดเยี่ยม
เมืองมิถิลานคร เป็นราชธานีของแคว้นวิเทหรัฐ เป็นมหานครกว้างใหญ่ไพศาล มีความอุดมสมบูรณ์ และคับคั่งไปด้วยผู้คน มีพระเจ้าวิเทหราชเป็นจอมราชันย์ ทรงปกครองประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม มีพระทัยมุ่งที่จะอำนวยความสุขความสงบร่มเย็นแก่พสกนิกรอย่างทั่วถึง พระองค์ทรงแต่งผู้ที่อุดมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ มีความรู้ความสามารถให้เป็นที่ปรึกษาราชการบ้านเมือง มีปุโรหิตผู้ให้คำแนะนำปรึกษา ถึง ๔ ท่าน มีนามตามลำดับอาวุโส คือ อาจารย์เสนกะ อาจารย์ปุกกุสะ อาจารย์กามินท์ และอาจารย์เทวินท์ อาจารย์ทั้งสี่นี้ เสมือนเป็นจตุสดมภ์แห่งปัญญา ที่ค้ำจุนวิเทหรัฐและราชบัลลังก์ไว้เป็นอย่างดี ทำให้ปราศจากภัยทั้งภายนอกและภายใน ถึงกระนั้นพระเจ้าวิเทหราชก็ยังทรงใฝ่พระทัยที่จะแสวงหาผู้รู้บัณฑิตนักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญในการต่างๆ มาช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป
ใกล้รุ่งวันหนึ่งพระองค์ทรงพระสุบินว่า ที่ท้องพระลานหลวงมีกองเพลิงลุกขึ้นมุมละ ๑ กอง รวมเป็นกองเพลิง ๔ กอง แต่ละกองประมาณเท่าป้อมปราการของพระราชนิเวศน์ เป็นกองเพลิงโชนแสงรุ่งโรจน์สว่างไสว พลันเกิดมีกองเพลิงอีก กองหนึ่งผุดพุ่งขึ้นมาท่ามกลางกองเพลิงทั้งสี่ กองเพลิงที่ห้านี้ มีจุดเริ่มต้นเป็นจุดเล็กๆ ประมาณเท่าแสงหิ่งห้อย ทว่าฉายแสงพวยพุ่งจากกลางพระลานหลวงไปจรดถึงพรหมโลก แสงนั้นสว่างเจิดจ้าไปทั่วจักรวาล โชติช่วงรุ่งเรืองกว่าแสงสว่างใดๆ