7 มิ.ย. 2020 เวลา 04:20 • ท่องเที่ยว
ตำรวจจราจรมีอำนาจขับรถย้อนศรหรือไม่ จอดรถในที่ห้ามได้หรือไม่ หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎจราจรได้แค่ไหนมาดูกัน ซึ่งจริงๆ ว่าไปตามหลักกฎหมายมหาชนเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรมีอำนาจอยู่แล้ว แต่ไหนๆ ก็มีกฎหมายบัญญัติชัดเจนอยู่ก็ต้องว่าไปตามนั้น
คำนิยาม ในพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม.4(19) “รถฉุกเฉิน” หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหาร ส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจาก ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียง สัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกําหนดให้
“รถอื่นที่ได้รับอนุญาต”จาก ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียง สัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกําหนดให้
ซึ่งเป็นไปตามข้อกําหนดสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เรื่อง กําหนดเงื่อนไขในการใช้ไฟสัญญาณวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นและเครื่องหมายแสดงลักษณะของรถฉุกเฉิน พ.ศ.2546 ข้อ ๓ รถที่จะอนุญาตให้ใช้ไฟสัญญาณวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น จะต้องเป็นรถดังต่อไปนี้
๓.๑ รถในราชการทหารหรือตํารวจ
เฉพาะกรณีรถตำรวจ แยกองค์ประกอบได้ว่า
1.ต้องเป็นรถใช้ในราชการตำรวจ กรณีมีตราโล่เป็นรถในราชการตำรวจแล้ว
2.ต้องเป็นรถตามข้อ1.ที่ได้รับอนุญาต”จาก ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียง สัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกําหนดให้ เพียงแต่มีหนังสืออนุญาต และรถตำรวจที่ได้รับเบิกมาทุกคันติดตั้งไฟสัญญาณแสงวับวาบมาอยู่แล้วจึงผ่านการอนุญาตมาจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่า ผบ.ตร.เพียงแค่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น ทำให้รถอยู่ในสถานะเป็น “รถฉุกเฉิน” ทันที
 
ผลของการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้รถฉุกเฉิน
ม.75 บัญญัติว่า ในขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้
(๑) ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น ตามที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนดไว้
(๒) หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด
(๓) ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กําหนดไว้
(๔) ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร
(๕) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กําหนดไว้
ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี
หลักการของม.75 จะเห็นได้ว่าผลในทางกฎหมายเริ่มให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มตั้งแต่ “ไปปฏิบัติหน้าที่จนถึงสิ้นสุดหน้าที่” แล้วนั่นหมายความ เมื่อ “ได้ไปปฎิบัติหน้าที่” ตามกฎหมาย กฎ คำสั่งผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจ ดังนี้
(1) ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น ตามที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนดไว้ คือรถหลวงตำรวจตราโล่ทุกคันที่มีการติดตั้งไฟวับวาน เสียงไซเรน ได้รับการอนุญาตจาก ผบ.ตร.ทุกคัน
(2) หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด เช่น รถตำรวจไปจอดรถอำนวยการจราจร สามารถไปจอดรถที่มีป้ายห้ามจอดได้ หรือไปจอดที่ขาวแดง หรือจอดบนทางเท้า เขตปลอดภัย ฯลฯ สรุปที่ห้ามจอดทั้งหมดสามารถจอดได้
(3) ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กําหนดไว้ เช่น หากไปปฏิบัติหน้าที่ดูการจราจร จะขับเกิน 90 อย่างไรก็ได้
(4) ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร เช่น รถตำรวจสามารถฝ่าสัญญานไฟแดงได้ แต่มีเงื่อนไขคือลดความเร็วเท่านั้น
(5) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กําหนดไว้ เช่นรถตำรวจจะขับคร่อมเลน จะสวนเลน จะย้อนศรยาวๆ จะเลี้ยวหรือจะกลับรถในที่ห้ามก็ย่อมทำได้
แต่ทั้งนี้ม.75 ได้บัญญัติวิธีการใช้อำนาจดังกล่าวไว้ว่าผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี นั้นคือภาระการระวังตกอยู่แก่เจ้าหน้าที่อยู่ เกิดไปชนผู้อื่นที่ขับรถมาตามปกติเจ้าหน้าที่จะตกเป็นผู้ผิดทันที เพราะหน้าที่ระมัดระวังยังตกอยู่แก่เขา แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถหลวงไปปฏิบัติหน้าที่ และในการไปปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือเปิดเสียงสัญญาณไซเรนด้วย ผลจะเป็นตรงกันข้ามซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในม.76
 
ซึ่งม.76 บัญญัติว่า มาตรา ๗๖ เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะ ปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น ตามที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) สําหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขต ปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด
(๒) สําหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มี ช่องเดินรถประจําทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถ ประจําทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก
(๓) สําหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วม ทางแยก
 
ในการปฏิบัติตาม (๒) และ (๓) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทําโดยเร็ว ที่สุดเท่าที่จะกระทําได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี
เห็นได้ว่าอนุม. (1)-(3) เพียงแค่เห็นหรือได้ยินเห็น รถฉุกเฉินที่เปิดไฟวับวาบ หรือไซเรน มีหน้าที่ต้องหลบให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน ยิ่งคนขับรถต้องระวังเป็นอย่างมากตามม.76(2)+ววรคท้าย หากรถฉุกเฉินย้อนศรและเปิดไซเรน รถทั่วไปต้องหลบให้ทัน ถ้าเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนมารถทั่วไปผิดสถานเดียวเพราะมีหน้าที่ “ต้องหลบ” และ “ใช้ความระมัดระวัง”
สรุป 1.รถหลวงมีเครื่องไฟวับวาบ(ยังไม่เปิดไฟ)= เป็นรถฉุกเฉิน+ปฏิบัติหน้าที่ = มีสิทธิตามม.75 แต่ต้องระมัดระวังชนมาผิดเอง
2.รถหลวงมีเครื่องไฟวับวาบ(เปิดไฟ)= เป็นรถฉุกเฉิน+ปฏิบัติหน้าที่ = มีสิทธิตามม.75+ผู้ใช้ทางมีหน้าที่ตามม.76 ต้องหลบและระวังรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชนมาตำรวจถูก
นบท.59
#รู้ไว้ใช่ว่า...
โฆษณา