7 มิ.ย. 2020 เวลา 07:39 • ไลฟ์สไตล์
Peer to Peer Lending
มีข่าวออกมาเมื่อวันศุกร์ ว่าแบงก์ชาติเปิดให้ทดสอบการให้บริการ Peer to Peer Lending ภายใต้ Regulatory Sandbox
ก็เลยอยากมาเล่าให้ฟังเข้าใจกันง่ายๆครับ
ว่าไอ้เจ้า Peer to Peer หรือ P2P Lending นี่ มันคืออะไร
และจะมีประโยชน์อะไรกับเรา
อ้อ ก่อนอื่น ขออธิบายคำว่า Regulatory Sandbox ก่อน
สมัยเด็กๆ เราเคยเล่นปั้นดินปั้นทรายมั้ยครับ
ไปเที่ยวทะเล เด็กๆก็ชอบปั้นทรายเล่นที่หาดทราย
จะปั้นปราสาท ปั้นยอดมนุษย์ super hero อะไร ก็แล้วแต่จินตนาการ
ปั้นผิด ไม่สวย ก็ทลายทิ้ง ปั้นใหม่ ไม่เสียอะไร นอกจากเวลา
Regulatory Sandbox ก็เหมือนกระบะทราย
ที่แบงก์ชาติเตรียมไว้ให้ ใครจะทำธุรกิจที่อยู่ในความควบคุมของแบงก์ชาติ
โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจแบบใหม่ บริการแบบใหม่
ได้มาลองระบบในนี้ก่อน
ถ้าไม่ถูก ผิดพลาด จะได้แก้ไข ก่อนออกไปให้บริการจริงต่อลูกค้า
Peer to Peer Lending คืออะไร
มันเริ่มมาจากพวก startup / fintech ครับ
พวกนี้ชอบคิดหาโอกาส ดูว่าผู้คน ผู้บริโภคอย่างเราๆ
มี pain point
สิ่งที่ทำให้ลำบาก ทำให้ไม่ชอบ ไม่สะดวกสบาย อึดอัด อะไร
แล้วหาทางออกมาให้
ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
ในเรื่องการเงิน การกู้เงิน การฝากเงิน
ซึ่งส่วนใหญ่ เดิมๆ เราต้องทำผ่านสถาบันการเงิน แบงก์ทั้งหลาย
มันมี pain points คือ
ด้านคนขอกู้เงิน
⁃ กู้เงิน ขั้นตอนกู้ยากจัง กว่าแบงก์จะให้กู้ ใช้เอกสารเยอะ ใช้เวลานาน
⁃ ดอกเบี้ย แพงมากกกก แพงเท่ากันหมด ไม่ว่าเราเครดิตดีแค่ไหน
⁃ โดนปฏิเสธ ไม่ให้กู้ซะงั้น
ด้านคนฝากเงิน
⁃ ได้ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เราฝากเงิน ได้ดอกเบี้ย 1% ไหงแบงก์เอาไปปล่อยกู้ personal loan ดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียม ตั้ง 28%
เจ็บปวดๆๆๆ
P2P Lending เลยมาแก้ pain points ตรงนี้ให้
คนที่ทำธุรกิจ P2P Lending นี่
เปรียบเสมือน พ่อสื่อ แม่สื่อ
จับเอาคนที่ต้องการกู้เงิน กับคนที่มีเงินเหลือแต่ไม่อยากฝากแบงก์กินดอกเบี้ยต่ำๆ
ให้มาเจอกัน โดยไม่ต้องไปผ่านแบงก์
ตัดคนกลางอย่างแบงก์ทิ้งไป
ข้อดี คือ
คนกู้
⁃ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เป็นระบบอัตโนมัติเกือบหมด
⁃ ที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามเครดิตเรา เครดิตดีประวัติดี ดอกเบี้ยก็ต่ำ / เครดิตกลางๆ ดอกเบี้ยก็กลางๆ / เครดิตแย่หน่อย ดอกเบี้ยก็สูงขึ้นไป
⁃ โอกาสโดนปฏิเสธน้อย เพราะดอกเบี้ยคิดตามความเสี่ยงแล้ว
คนฝากเงิน (เปลี่ยนสภาพเป็นคนลงทุนเงินให้กู้)
⁃ เลือกผลตอบแทนได้ตามความต้องการ
⁃ ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูง ก็ถูกจับคู่กับคนกู้ที่ความเสี่ยงสูง (high risk/ high return)
⁃ ถ้าอยากปลอดภัยหน่อย ก็เลือกรับดอกเบี้ยต่ำลง เงินเราก็จะไปปล่อยให้คนกู้ที่เสี่ยงน้อย (low risk/ low return)
แล้วคนที่ทำธุรกิจ P2P Lending ได้อะไร
พ่อสื่อแม่สื่อ ก็ได้ค่าธรรมเนียมไปครับ
คิดไม่แพง พอสมน้ำสมเนื้อ
ที่คิดได้ไม่แพง เพราะต้นทุนการดำเนินงานถูก
ใช้ระบบอัตโนมัติ ใช้แอพ ไม่ต้องใช้คนมาก
ไม่ต้องมีตึกอาคารสถานที่ สาขาเยอะแบบแบงก์
ไม่มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายรุงรัง แล้วต้องมาผลักให้ผู้บริโภคอย่างแบงก์
P2P Lending ดีอย่างนี้ ทำไมเมืองไทยมีช้าจัง
ความจริงไอเดียนี้ มีมาหลายปีแล้วครับ
เมื่อ 3-4 ปีก่อน สมัยทำงานอยู่ที่แบงก์นึง ผมก็เคยเกือบจะลาออกมาตั้งบริษัททำเองแล้ว
เท่าที่ทราบ ก็มีหลายคนสนใจจะทำกันในตอนนั้น
แต่เผอิญแบงก์ชาติเบรคไอเดียนี้ไว้ก่อน
เพราะอยากศึกษาและควบคุมธุรกิจนี้
เพื่อรักษาความมั่นคงและความเรียบร้อยของระบบการเงิน
มันก็เลยค้างเนิ่นนานมา จนเพิ่งออกมาเปิดให้ทดสอบการให้บริการใน sandbox เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี่เอง
เงื่อนไขหลักๆที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ตอนนี้ ก็ ตามนี้ครับ
⁃ เพดานดอกเบี้ย ไม่เกิน 15% ต่อปี
⁃ บุคคลธรรมดา กู้เพื่ออุปโภค บริโภค ได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้
⁃ บุคคลธรรมดา กู้เพื่อประกอบธุรกิจ ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท
⁃ ผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุนปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี
⁃ ผู้ลงทุนสถาบัน ลงทุนปล่อยกู้ได้ไม่จำกัด
ก็หวังว่า P2P Lending จะมาช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเรา ได้ประโยชน์
มีทางเลือกในการกู้เงิน ทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นครับ
#มันส์หนี้Money
#เรียนรู้หนี้ชีวิตก็มันส์ได้
#peertopeerlending
#p2plending
#เงินกู้
#สินเชื่อบุคคล
โฆษณา