8 มิ.ย. 2020 เวลา 08:30 • ธุรกิจ
มารู้จักวัวบรามันให้มากขึ้น
คนอินเดียนับถือวัวว่าเป็นพระเจ้า เพราะคำว่า “บราห์มัน” มาจากคำว่า “พราหมณ์” ซึ่งวัวบราห์มันที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ดั้งเดิมแล้ววัวพันธุ์นี้ได้รับการสร้างพันธุ์และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ในประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน โดยใช้ชื่อว่า “อเมริกันบราห์มัน” โดยนำวัวตระกูลซีบู (Bos indicus) จากประเทศอินเดียหลายสายพันธุ์เข้ามาผสมพันธุ์ปรับปรุงพันธุ์ เช่น กุซเซอราท (Guzerat) หรือวัวแคนเกรจ (Kankrej) เนลเลอร์ (Nellore) หรือวัวอองโกล (Ongole) กีร์ (Gir/Gyr) และ กฤษณะแวลเลย์ (Krishna Valley)
จนกระทั่งได้วัวพันธุ์อเมริกันบราห์มัน ที่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในสภาพแวดล้อมทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐ Texas, New Mexico, Oklahoma, Mississippi, Georgia, Arkansas, Louisiana และ Florida ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตกึ่งร้อน (Semi tropic) มีโรคและแมลงชุกชุม ปัจจุบันวัวบราห์มันได้กระจายไปทั่วภูมิภาคของโลก จัดเป็นพันธุ์วัวอเนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงเป็นทั้งสายพันธุ์วัวเนื้อและวัวนม
สำหรับในประเทศไทยได้นำเข้าวัวอเมริกันบราห์มันครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2497 และมีการนำเข้าอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา จนถึงขณะนี้วัวอเมริกันบราห์มันได้รับการเลี้ยงดูปรับปรุงพันธุ์ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมายาวนานถึง 60 ปีแล้ว จึงน่าจะเรียกชื่อว่า “ไทยบราห์มัน” (Thai Brahman) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวัวบราห์มันได้มีการเลี้ยงดูในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่มีเอกสารเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัวพันธุ์นี้ค่อนข้างน้อย บทความเรื่อง “วัวบราห์มันในประเทศไทย” นี้เขียนมาจากประสบการณ์ของผู้เขียน เพื่อมุ่งหวังให้เป็นองค์ความรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัวบราห์มัน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงคาดหวังว่าเนื้อหานี้จะก่อประโยชน์ต่อวงการวัวเนื้อของไทยไม่มากก็น้อย
โฆษณา