18 มิ.ย. 2020 เวลา 00:21
'โมสาร์ท'และ 'แวร์ดี' ผู้เปลี่ยนบทสวดงานศพเป็นขุมนรกไฟบรรลัยกัลป์
+ เพลงสวด ‘ดีเอส อีเร’ เป็นบทสวดศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่งในศตวรรษที่ 13 มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘วันพิพากษา’ เหตุการณ์ที่พระเจ้าจะพิพากษามนุษย์แต่ละคนตามที่สมควรได้รับ โดยจะให้รางวัลแก่ผู้ชอบธรรม และลงโทษผู้ชั่วร้ายด้วยความพิโรธ
+ เพลงสวดดีเอส อีเร ใช้ประกอบพิธี ‘มิสซาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ’ (Mass of the Dead) พิธีศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เพื่อภาวนาให้วิญญาณผู้เสียชีวิตพักสงบในสวรรค์ร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เดิมพระสงฆ์หรือนักร้องจะแบบมีทำนองหรือเสียงเดียว (Monophony) ไม่มีทำนองประสานเหมือนคอร์ด และไม่มีจังหวะตายตัว ซึ่งอาจให้ความรู้สึกเนิบเอื่อยอย่างกับว่าวันพิพากษาอยู่ห่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์
ถ้ามีคนขอให้คุณแต่งเพลง ‘น่ากลัว’ คุณจะแต่งอย่างไร ? คุณอาจให้เครื่องสายเล่นโน้ตสูงปรี๊ด คุณอาจให้นักร้องทำเสียงโหยหวน หรือคุณอาจใช้แต่งเนื้อเพลงให้หลอกหลอน
แล้วถ้ามีคนขอให้คุณแต่งเพลงเกี่ยวกับ ‘วันพิพากษา’ คุณจะแต่งอย่างไร ? จริงอยู่ที่คุณแต่งเนื้อเพลงให้พูดถึงวันพิพากษาได้ ให้ถ้อยคำสร้างจินตนาการ แต่ตัวเพลงจะเป็นอย่างไร ต้องใช้องค์ประกอบทางดนตรีอย่างไร จึงจะสร้างภาพวันพิพากษาในหัวคนเราได้ ทำไมไม่ให้จิตรกรหรือคนทำหนังสร้างผลงานสื่อถึงวันพิพากษา ทั้งเห็นภาพง่ายกว่า และเข้าถึงผู้ชมง่ายกว่า
ที่จริง มีนักแต่งเพลงสองคน จากสองยุค ที่สามารถสร้างเพลงชวนนึกภาพวันพิพากษาได้ พวกเขาเปลี่ยนเพลงสวดงานศพ เป็นขุมนรกไฟบรรลัยกัลป์
เพลงสวดที่ว่าคือ ‘ดีเอส อีเร’ (Dies irae) เป็นภาษาละติน แปลว่า วันแห่งความพิโรธ ดีเอส อีเรแต่งในศตวรรษที่ 13 โดยโธมัสแห่งเชลาโน (Thomas of Celano, 1185–1265) พระสงฆ์คณะฟรันซิสกัน มีทั้งหมด 19 บท แต่พระสงฆ์และคีตกวีมักแบ่งย่อยเป็น 5–10 เพลง เพลงดีเอส อีเร จึงหมายถึงบทสวด 2 บทแรก มีเนื้อความละตินและคำแปล ดังนี้
Dies irae, dies illa
Solvet saeclum in favilla,
Teste David cum Sibylla.
วันแห่งความพิโรธ วันนั้น
โลกจะกลายเป็นเถ้าถ่าน,
ดาวิดเป็นพยานร่วมกับเหล่าซีบิล
Quantus tremor est futurus,
Quando Judex est venturus,
Cuncta stricte discussurus!
ความสั่นไหวจะรุนแรงเพียงใด,
เมื่อองค์ผู้พิพากษากำลังเสด็จมา,
เพื่อพิจารณาทุกสิ่งอย่างถี่ถ้วน!
เพลงนี้กล่าวถึง ‘วันพิพากษา’ เหตุการณ์ที่พระเจ้าจะพิพากษามนุษย์แต่ละคนตามที่สมควรได้รับ โดยจะให้รางวัลแก่ผู้ชอบธรรม และลงโทษผู้ชั่วร้ายด้วยความพิโรธ
ดีเอส อีเรเป็นเพลงสวดประเภทบทเสริม (Sequence) สำหรับใช้ประกอบพิธี ‘มิสซาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ’ (Mass of the Dead) พิธีศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เพื่อภาวนาให้วิญญาณผู้เสียชีวิตพักสงบในสวรรค์ร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
เพลงสวดทั้งหมดที่ใช้ในมิสซาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ มีชื่อเรียกรวมว่า ‘เรควิเอมแมส’ (Requiem mass) ตามเนื้อเพลงภาษาละตินท่อนแรกว่า
Requiem aeternam dona eis, Domine
องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานการพักสงบนิรันดร์แก่พวกเขา
เมื่อเราเข้าใจเนื้อเพลงแล้ว มาดูที่ตัวเพลงกันบ้าง
ดีเอส อีเรเป็นเพลงสวดแบบเพลนแชนท์ (Plainchant) คือมีทำนองหรือเสียงเดียว (Monophony) ไม่มีทำนองประสานเหมือนคอร์ด และไม่มีจังหวะตายตัว ผู้ร้องทุกคนจึงร้องเสียงเดียวกัน หรือสูงหรือต่ำกว่าเสียงหลักหนึ่งคู่แปด และร้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบบท แม้ดีเอส อีเรจะมีเนื้อหาเข้มข้น แต่วิธีร้องดังกล่าวอาจให้ความรู้สึกเนือยเนิบ ประหนึ่งวันพิพากษาอยู่ห่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์
กระทั่งบทสวดนี้อยู่ในมือโมสาร์ท
วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) เกิดวันที่ 27 มกราคม 1756 เป็นนักดนตรีและคีตกวีชาวออสเตรีย เขาเป็นบุคคลสำคัญแถวหน้าในประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตกยุคคลาสสิก (1730–1820) เขามีผลงานมากกว่า 6 ร้อยผลงาน ซึ่งครอบคลุมดนตรีทุกแขนงในสมัยนั้น เช่น ซิมโฟนี คอนแชร์โต ดนตรีแชมเบอร์ อุปรากร และดนตรีนักร้องหมู่
โมสาร์ทแต่งเพลงสำหรับมิสซาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับด้วย ชื่อ เรควิเอมแมส ในบันไดเสียง ดี ไมเนอร์, เค. 622 (Requiem mass in D minor, K. 622) นี่เป็นเรควิเอมแมสเพียงชิ้นเดียวของโมสาร์ท และเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา
เรื่องมีอยู่ว่า ในปี 1791 เคาท์ฟรานซ์ ฟอน วัลเส็กก์-สตุปปัช (Count Franz von Walsegg- Stuppach) ขุนนางและนักดนตรี ว่าจ้างให้โมสาร์ทแต่งเพลงเรควิเอมแมสสำหรับพิธีศพภรรยาของเขาที่เพิ่งเสียชีวิต แต่โมสาร์ทไม่สามารถแต่งให้เสร็จ เพราะหักโหมทำทั้งงานแต่งเพลงและออกแสดง สุขภาพร่างกายและจิตใจเขาแย่ลงเรื่อยๆ เขาน้ำตาไหลสลับร้องไห้ทุกครั้งที่แต่งเพลง และรู้สึกดำดิ่งอยู่ในห้วงความตายและความโศกเศร้า
ประโยคติดปากโมสาร์ทช่วงที่เขาแต่งเรควิเอมแมสคือ “ผมบอกแล้วไม่ใช่หรือว่า ผมกลัวว่าผมกำลังเพลงเรควิเอมสำหรับผมเอง ?”
โมสาร์ทจากไปในวันที่ 5 ธันวาคม 1791 ด้วยอายุเพียง 35 ปี ภรรยาของเขา คอนสตานส์ โมสาร์ท (Constanze Mozart) ขอให้เพื่อนของโมสาร์ทชื่อ โยเซฟ ฟอน เอไอแบล (Joseph von Eybler) และฟรานซ์ ซาแวร์ ซุสไมเออร์ (Franz Xaver Sussmayr) ช่วยกันแต่งเพลงให้เสร็จสมบูรณ์ โดยอ้างอิงจากต้นฉบับที่โมสาร์ทแต่งค้างไว้ เวลานั้นมีเพียงไม่กี่คนที่รู้การกระทำเหล่านี้ เพราะใครๆ ก็เข้าใจว่า โมสาร์ทแต่งเพลงนี้เสร็จก่อนเสียชีวิต
โมสาร์ทตั้งใจทำให้เพลงสวดดีเอส อีเร เข้มข้นสมกับความหมายของบทสวด สังเกตได้จากการใช้บันไดเสียงไมเนอร์ (Minor) ซึ่งความรู้สึกเศร้า กดดันและมืดหม่น ใช้จังหวะเพลง Allegro assai (ภาษาอิตาเลียน แปลว่า เร็วมาก) เพื่อให้เพลงมีจังหวะบีบคั้นดุดัน, ใช้วงดุริยางค์ทั้งวง เพื่อสร้างแรงปะทะสู่ผู้ฟัง และใช้คณะนักร้องทั้งวง ซึ่งประกอบด้วยแนวเสียง 4 ย่าน (โซปราโน อัลโต เทเนอร์ และเบส) เพื่อให้มีพลังมากพอที่ประชันกับวงดนตรี และส่งแรงปะทะไปยังผู้ฟัง องค์ประกอบเหล่านี้สร้างเพลงสวดที่ทรงพลัง ดุดัน กระตุ้นความรู้สึกกลัวและสิ้นหวัง
โมสาร์ทเป็นบุคคลแรกที่เปิดประตูนรกในวงการดนตรีตะวันตก แม้เป็นนรกฉบับดนตรีคลาสสิก คือน่ากลัวแต่สวยงาม น่าเกรงขามแต่สง่างาม แม้มีเปลวเพลงพวยพุ่งจากประตูนรก แต่เปลวไฟกลับอ่อนช้อย เหล่ายมทูต มาร ภูตผีที่ออกมาดูน่ายำเกรงมากกว่าน่าขยะแขยง
83 ปีผ่านไป มีคีตกวีหลายคนแต่งเรควิเอมแมสที่น่าสนใจ แต่ผู้ที่สร้างปรากฏการณ์น่าสนใจที่สุดคือ แวร์ดี
จูเซปเป แวร์ดี (Giuseppe Verdi, 9 หรือ 10 ตุลาคม 1813 ถึง 27 มกราคม 1901) เป็นคีตกวีชาวอิตาเลียน เขาเชี่ยวชาญการแต่งอุปรากร (โอเปรา) ซึ่งเป็นการแสดงบนเวทีที่ผสมละครเวทีกับดนตรีเข้าด้วยกัน อุปรากรจึงเป็นการแสดงที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่ แวร์ดีเก่งเรื่องการแต่งอุปรากรให้มีเนื้อเรื่องเข้มข้นและเร้าใจ สามารถถ่ายทอดข้อคิดให้แตะต้องใจคนดูได้ และมีดนตรีและเพลงที่ไพเราะ
แวร์ดีมีพรสวรรค์เรื่องการแต่งเพลงเศร้า ซึ่งอาจได้อิทธิพลจากความชอบอ่านวรรณกรรมต่างๆ และชีวิตส่วนตัว ในปี 1836 แวร์ดีในวัย 22 ปี แต่งงานกับมาร์เกริทา บาเร็สซี (Margherita Barezzi) ในวัย 23 ปี แต่ลูกทั้งสองคนเสียชีวิตในปี 1838 และปี 1839 ตามลำดับ ขณะทั้งคู่อายุได้เพียง 1 ขวบ มาร์เกริทาเสียชีวิตในปี 1840 ขณะอายุเพียง 26 ปี ในปีเดียวกัน อุปรากรเรื่อง 'Un giorno di regno' อุปรากรเรื่องที่สองของแวร์ดี ไม่ประสบความสำเร็จ
วันที่ 22 พฤษภาคม 1873 อเลซซานโดร มานโซนี (Alessandro Manzoni) กวีและนักเขียนอิตาเลียนชื่อดังเสียชีวิต เขาและแวร์ดีเป็นเพื่อนสนิทกัน แวร์ดีสะเทือนใจเมื่อทราบข่าวและตั้งใจแต่งเรควิเอมแมสเพื่อให้เกียรติเพื่อนรัก โดยตั้งชื่อว่า ‘เมซซา ดา เรควิเอม’ (Messa da Requiem)
ก่อนหน้านี้ในปี 1869 แวร์ดีเคยผิดหวังจากการยกเลิกการแสดงเรควิเอมแมสในงานครบรอบ 1 ปีการจากไปของโจอาคีโน โรซซินี (Gioachino Rossini) คีตกวีอิตาเลียนคนสำคัญ แวร์ดีเป็นผู้ชักชวนคีตกวีอิตาเลียนร่วมกันแต่งเพลงเรควิเอมแมส โดยแวร์ดีแต่งเพลงสวด Libera Me ซึ่งเป็นท่อนสุดท้าย
คราวนี้ แวร์ดีจึงจัดการทำทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่แต่งเพลง จัดหาและฝึกซ้อมนักดนตรีนักร้อง จัดการสถานที่ จนถึงอำนวยการสร้างทั้งหมด กระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 1874 เรควิเอมแมสของแวร์ดีในออกแสดงครั้งแรกในวิหารซาน มาร์โก (Chiesa di San Marco) ที่เมืองมิลาน
ตลอดชีวิตแวร์ดี เขาแต่งอุปรากรถึง 26 เรื่อง แต่ไม่เคยแต่งเพลงศาสนาเลยจนอายุ 50 กว่าปี เมซซา ดา เรควิเอมจึงกลายเป็นเพลงศาสนาชิ้นใหญ่ที่สุด และเพลงศาสนาเพียงชิ้นเดียวของแวร์ดี บางคนถึงขั้นเหน็บแนมว่านี่คือ ‘อุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแวร์ดี’
จูเซปปีนา สเตรปโปนี (Giuseppina Strepponi) ภรรยาคนที่สองของแวร์ดีกล่าวว่า “ฉันว่าแวร์ดีไม่ใช่อเทวนิยม (ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า) แต่เขาก็ไม่เชิงเป็นผู้ศรัทธา” แวร์ดีไม่เคร่งศาสนาและต่อต้านศาสนจักร (anti-clerical) ขณะที่จอห์น โรสเซลลี (John Rosselli) ผู้เขียนชีวประวัติแวร์ดี กล่าวว่า “ตลอดเรควิเอมแมสของแวร์ดี ‘ความเชื่อเรื่องนรกครอบงำเพลง และผุดขึ้นตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ’ เพลงให้ความรู้สึกปลอบโยนเพียงเล็กน้อย”
นรกดังกล่าวปรากฏชัดเจนที่สุดในบทดีเอส อีเร เพลงเปิดด้วยเสียงกลองทิมปานีและกลองเบส ประหนึ่งประตูนรกเหวี่ยงออกพร้อมกองทัพรัวกลองศึกจากนรกพรั่งพรูออกมา เครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้ไล่โน้ตขึ้นลงเหมือนเปลวไฟที่พวยพุ่ง เครื่องทองเหลืองแผดเสียงคำรามดุดัน นักร้องทั้ง 4 ย่านเสียงโหยหวนขึ้นลงเหมือนอมนุษย์จากบาดาล
3
ดีเอส อีเรฉบับแวร์ดีถือเป็นนรกโลกันต์และไฟมัจจุราชอย่างแท้จริง นอกจากนี้ โมสาร์ทและแวร์ดียังเป็นแนวทางให้คีตกวีรุ่นหลังเห็นว่า หากจะแต่งเพลงเกี่ยวกับ ‘วันพิพากษา’ ให้เห็นภาพ ควรแต่งอย่างไร. .
เรื่อง: พชร อังคเรืองรัตนา
ภาพประกอบ: เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
โฆษณา