14 มิ.ย. 2020 เวลา 02:26
'Operation Overlord' ความจริงอีกด้านของปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี
วันที่ 6 มิถุนายน 1944 หรือ วันดีเดย์ ที่เรารู้จักกันดี มันคือวันที่แผนยุทธการหนึ่งซึ่งกองทัพพันธมิตรได้ร่างมันขึ้นมาและถูกนำไปปฏิบัติจริง ชื่อของแผนการนี้ก็เป็นชื่อที่คุ้นหูเราเช่นกันนั่นคือ 'Operation Overlord' หรือ ยุทธการโอเวอร์ลอร์ด
ในความเข้าใจของทุกคน เมื่อเอ่ยชื่อแผนยุทธการโอเวอร์ลอร์ด ต่างก็จะคิดถึงการยกพลขึ้นบกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ยุทธการโอเวอร์ลอร์ดนั้นไม่ได้หมายถึงการยกพลขึ้นบกในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 ที่ชายฝั่งในแคว้นนอร์มังดีเพียงอย่างเดียว
เป้าหมายที่แท้จริงของแผนนี้คือ ยุทธการปลดปล่อยยุโรปและรุกเข้าสู่ไรซ์ที่ 3 ของนาซีเยอรมันและพิชิตมันให้ได้
นายพลดไวท์ ดี ไอเซนฮาวเออร์ (Dwight D. Eisenhower) และแม่ทัพคนสำคัญคนอื่นๆ ของกองทัพพันธมิตรร่วมกันร่างแผนยุทธการโอเวอร์ลอร์ดนี้ขึ้นมา โดยในขั้นแรกพวกเขาจะต้องนำไพร่พลจำนวนนับล้านนายที่ชุมนุมพลกันอยู่ในเกาะอังกฤษขึ้นฝั่งที่ฝรั่งเศสให้ได้เสียก่อน จากนั้นรวบรวมกำลังพลและทรัพยากรสงครามที่สำคัญตีฝ่าออกจากนอร์มังดีแล้วไปยึดคาบสมุทรบริททานีให้ได้
ขั้นต่อไปคือการใช้กำลังทหารทั้ง 2 กลุ่มกองทัพขับไล่ทหารเยอรมันในฝรั่งเศส และประสานการรุกกับกองกำลังพันธมิตรที่ยกพลขึ้นบกบริเวณตอนใต้ของฝรั่งเศสมุ่งตรงไปชายแดนเยอรมัน โดยปีกซ้ายสุดของแนวรบคือกองทัพอังกฤษจะต้องยึดท่าเรือสำคัญทางเหนือของฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และ ฮอลแลนด์ ขณะที่ปีกขวาคือกองทัพอเมริกันที่รวมพลกับกำลังทหารที่ยกพลขึ้นบกมาจากตอนใต้ของฝรั่งเศสและประสานกับกองทัพอเมริกันในแนวรบอิตาลี จะร่วมกันทะลวงแนวซิกฟรีดเข้าสู่เยอรมัน ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการรวมพลทั้งปีกซ้ายและขวารุกข้ามแม่น้ำไรน์เป็นคีมหนีบเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการที่แท้จริงของยุทธการโอเวอร์ลอร์ดที่กองทัพพันธมิตรวางเอาไว้ แต่เมื่อเข้าทำการรบจริงและสภาพการของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงเวลาต่อมา จึงทำให้มีการเจรจาระหว่างผู้นำชาติพันธมิตรในการบุกพิชิตกรุงเบอร์ลิน และให้เป็นหน้าที่ของกองทัพแดงแห่งหสภาพโซเวียตทำหน้าที่นี้
กล่าวโดยสรุปแล้ว ชื่อยุทธการโอเวอร์ลอร์ดเป็นชื่อแผนการปลดปล่อยยุโรปและพิชิตกองทัพนาซีเยอรมันของฝ่ายพันธมิตร แต่ชื่อของยุทธการยกพลขึ้นบกในครั้งนี้ แท้จริงแล้วมีชื่อว่า ยุทธการเนปจูน หรือ Operation Neptune
เรื่อง : ปัญญาณัฏฐ์ ณัธญาธรนินน์
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
โฆษณา