8 มิ.ย. 2020 เวลา 09:52
ทีวีช่องดังฟิลิปปินส์ ทำรายการเปรียบเทียบระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ VS มะนิลา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นที่สนใจและอยู่ในการจับจ้องของนานาประเทศเสมอ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ที่ให้ความสนใจเราในหลายๆ เรื่อง และมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย หรือแม้แต่มีการถ่ายทำรายการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บ้านเราให้ความสนใจ หรือรู้จักประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างน้อย
เมื่อเร็ว นี้มีรายการทีวีของสถานีโทรทัศน์ GMA Network ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทำรายการสารคดีข่าวแนวเจาะลึกที่ชื่อว่า "Reporter's Notebook" รายการสารคดีข่าวชื่อดังที่อยู่คู่กับสถานีมานานถึง 16 ปี แถมเป็นรายการที่การันตีด้วยรางวัล "Best Documentary Program" จาก "PMPC Star Awards for Television" ทุกปีนับตั้งแต่ปีแรกที่ออกอากาศเลยทีเดียว และยังมีรางวัลนานาชาติ เช่น "Best Public Affairs Program" จาก "New York Festivals for Television" ที่การันตีผลงานคุณภาพอีกด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในคอนเทนต์ของรายการ
1
https://www.facebook.com/reportersnotebook/
GMA Public Affairs
GMA Public Affairs
โดยเป็นรายการยาว 20 นาที เพื่อเปรียบเทียบฟิลิปนส์และเพื่อนบ้านอาเซียนในแง่มุมต่างๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และเทปนี้ซึ่งออกอากาศไปเมื่อเดือนพฤษจิกายน ปี 2019 เป็นการเปรียบเทียบระบบ Mass Transit หรือขนส่งมวลชนระหว่าง กรุงทพฯ และกรุงมะนิลา ซึ่งผมเห็นว่ามันน่าสนใจดี เพราะมันคือมุมมองจากสื่อของประเทศเพื่อนบ้านที่มองเราเข้ามา ผ่านรายการทีวีช่องใหญ่ที่ไม่ใช่โซเชียลมีเดียที่คอยบลัฟกัน เพื่อเป็นการเรียนรู้ว่าเพื่อนบ้านมองเราอย่างไร
ผมพยายามแปลสรุปเนื้อหาคร่าวๆ มาให้อ่าน นับเป็นการขุดทักษะตากาล็อกที่ติดสมองน้อยนิดจนแทบจะลืมเลือน แต่จับใจความได้มาเขียนให้อ่านกัน
เริ่มต้นคือพิธีกร "Maki Pulido" ซึ่งถือว่าเป็นพิธีกรข่าวหญิงอันดับต้นๆ ของสถานีและของประเทศ เปรียบเทียบก็ประมาณคุณ "กรุณา บัวคําศรี" เพราะเธอสามารถดำเนินรายการทั้งในสตูดิโอและลงพื้นที่ได้คล้ายกัน ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเหมือนกับเมืองคู่แฝดของมะนิลา เธอว่าอย่างนั้นนะ และเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่คนฟิลิปปินส์เองก็นิยมเข้ามาทำงานและท่องเที่ยว เธอพูดถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นสนามบินหลักของภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ ต้อนรับนักเดินทางต่อปีมากกว่า 40 ล้านคน และการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองก็มีระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ้ง เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าภายในเมืองซึ่งมีความสะดวกสบาย ซึ่งที่มะนิลายังไม่มีแบบนี้ และต้องใช้รถโดยสาร แท๊กซี่ หรือจิ๊บนี่ ที่ต้องเจอกับปัญหารถติด แม้จะมีแผนจะสร้างแต่ก็เป็นแค่แผน
1
GMA Public Affairs
ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ มีความหลากหลายทันสมัย และให้เลือกใช้บริการมากมาย ครอบคลุมพื้นที่ในเมืองและชานเมือง แตกต่างจากมะนิลาที่แม้จะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีระบบรถไฟฟ้า แต่การพัฒนากลับล่าช้ากว่าเพื่อนบ้าน จนเกิดปัญหาคนล้น เสียบ่อย ไม่ปลอดภัย และไม่สะอาด
GMA Public Affairs
มีการเปรียบเทียบเส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันของมะนิลา ที่มี LRT 2 สาย และ MRT 1 สาย ส่วนกรุงเทพฯมีรถไฟฟ้าทั้งหมด 5 สาย และกำลังก่อสร้างอีก 5 สาย นอกจากนี้ก็เปรียบเทียบเส้นทางรถไฟในประเทศ ที่ของไทยมีมากกว่าและยาวกว่า ครอบคลุมกว่า โดยเฉพาะรถไฟทางไกลระหว่างเมืองที่มีความยาวมากกว่าฟิลิปปินส์ถึง 10 เท่า
GMA Public Affairs
GMA Public Affairs
เธอออกสำรวจเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วมาที่สถานีบางนา เพื่อพูดคุยกับคนฟิลิปปินส์ในไทย ที่ทำอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งก็พูดถึงเรื่องระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่มีความทันสมัย สามารถพาคนเข้าและออกเมืองได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ตามมาจากรถไฟฟ้าสร้างเช่นสกายวอร์คที่เชื่อมต่อย่านที่ยาวและสะดวกสบาย แม้จะเป็นเขตชานเมืองก็ตาม ถือเป็นระบบเชื่อต่อการคมนาคมในเมืองให้ผู้คนสามารถเดินทางเชื่อมต่อได้ตั้งแต่เดินเท้า มาต่อรถไฟฟ้าอย่างปลอดภัย รวมทั้งระบบรถไฟฟ้า ทางด่วน ที่ไขว้กันไปมาก็เป็นระบบการเดินทางของผู้คนในเมืองขนาดใหญ่
GMA Public Affairs
จากนั้นเธอไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานการเดินรถและให้คำแนะนำด้านการบำรุงรักษารถไฟฟ้า ซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในเมืองไทย เขาเล่าว่า ระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ ถือว่ามีความทันสมัยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และกำลังขับเคลื่อนพัฒนาต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ
รถไฟฟ้าในเมืองไทยใช้เวลาสร้างต่อสายเฉลี่ย 5 ปี ทำให้พิธีกรดูตกใจมากว่า 5 ปีเหรอ!! เพราะที่กรุงเทพฯ มีสิ่งที่เรียกว่า "Rulebook" หรือถ้าแปลแบบสวยๆ ก็คือมีสัญญาก่อสร้างซึ่งเป็นแผนการดำเนินโครงการในระยะต่างๆ ซึ่งยึดตามแผนนี้ทำให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย
GMA Public Affairs
GMA Public Affairs
** ขอเสริมข้อมูลของผมครับ**
การที่พิธีกรตกใจเพราะว่า รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ถือว่าสร้างเร็วกว่าในมะนิลามาก อย่างปัจจุบันนี้มะนิลามีรถไฟฟ้า 3 สาย คือ LRT 1 หรือสายสีเหลือง และ LRT 2 หรือสายสีม่วง เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2527
ส่วน MRT 3 หรือสายสีน้ำเงิน แม้จะบอกว่าเป็น MRT แต่จริงๆ เป็นระบบแบบรางเบา หรือ LRT ซึ่งเป็นสายล่าสุดนี้เปิดมาพร้อมๆ กับรถไฟฟ้า BTS สายแรกในปีเดียวกันคือปี 2542 และทั้ง 3 สาย มีระยะทางสั้นๆ แค่สิบกว่ากิโลเมตรตามในคลิปรายการเท่านั้น
1
ทั้งนี้กำลังมีแผนที่จะขยายเส้นทางสาย LRT 2 จากย่าน EDSA ไปที่สถานีเอ็มเมอรอล และสถานีมิสซิ่ง ความยาว 4 กิโลเมตร แต่จนถึงตอนนี้สร้างมาจะ 5 ปีแล้วก็ยังไม่เสร็จซึ่งช้ามากสำหรับระยะทางแค่นั้น
ส่วนอีกสาย คือ MRT 7 หรือสายสีแดง ความยาว 22.7 กิโลเมตร จำนวน 14 สถานี จากย่าน EDSA กำลังจะสร้างสถานีกลางชื่อว่า Unified Grand Central Station ที่จะเป็นศูนย์รวมรถไฟฟ้า 4 สาย คือ LRT 1, MRT 3, MRT 7 และ MRT 5 (Manila Subway) ไปที่ย่านเขตมินดาเนาทางตอนเหนือของ Metro Manila ซึ่งก็ยังไม่คืบหน้าเลย
ส่วนที่เหลือกำลังอนุมัติหรือเริ่มสร้างแล้ว คือส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง PNR North and South รถไฟจากเมืองคลากมาสนามบินนานาชาติ NAIA
เห็นว่า MRT 5 และ Makati Subway จะเริ่มสร้างในปีหน้า แต่ไม่รู้ว่าหลังจากโควิดระบาดหนักในประเทศ อาจเจอโรคเลื่อนอีกยาว เพราะฟิลิปปินส์ตอนนี้สถานะทางการคลังก็ง่อนแง่นเข้าขั้นถังแตกแล้ว
ดังนั้นฟิลิปปินส์มีรถไฟฟ้าครั้งแรกคือปี 2527 และมาเปิดสายล่าสุดในปี 2542 ซึ่งห่างกันถึง 15 ปี และตอนนี้ปี 2563 ฟิลิปปินส์ก็ยังมีรถไฟฟ้า 3 สายที่เปิดให้บริการเท่าเดิม แม้จะผ่านมา 21 ปี
ขณะที่ไทยเรามีรถไฟฟ้าใช้สายแรกคือ BTS ปี 2542 ตามมาด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ปี 2547 แอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ เปิดปี 2553 หลังจากนั้นเราก็เปิดส่วนต่อขยายสายต่างดังนี้
สายสีเขียว สายสุขุมวิท
เปิดปี 2554 : อ่อนนุช - แบริ่ง
เปิดปี 2560 : แบริ่ง - สำโรง
เปิดปี 2561 : สำโรง - เคหะ
เปิดปี 2562 : ห้าแยกลาดพร้าว - ม.เกษตร
เปิดปี 2563 : กรมป่าไม้ - วัดพระศรี
เปิดปี 2563 : พหลโยธิน 59 - คูคต
สายสีเขียว สายสีลม
เปิดปี 2552 : สะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่
เปิดปี 2556 : โพธิ์นิมิตร - บางหว้า
แอร์พอร์ต เรล ลิงก์
เปิดปี 2553 : สนามบินสุวรรณภูมิ - มักกะสัน - พญาไท
สายสีม่วง
เปิดปี 2559 : บางซื่อ - บางใหญ่
สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย
เปิดปี 2560 : บางซื่อ - เตาปูน
เปิดปี 2562 : บางโพธิ์ - ท่าพระ
เปิดปี 2562 : วัดมังกร - หลักสอง
ซึ่งไม่แปลกใจว่าทำไมพิธีกรหญิงถึงต้องตกใจขนาดนั้นเมื่อได้ยินว่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ใช้เวลาเฉลี่ย 5 ปี ในการก่อสร้างก็สามารถเปิดให้บริการได้
******************************************
นอกจากนี้ก็มีไปดูระบบขนส่งอื่นๆ เช่น รถเมล์ แท็กซี่ เรือคลองแสนแสบ เรือด่วน รถเมล์ด่วน BRT ก็กล่าวถึงรวมๆ ประมาณว่าก็ยังมีระบบขนส่งอื่นๆ ที่คอยซัพพอร์เป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า แม้จะไม่ได้ดูทันสมัยแต่ก็เชื่อมต่อได้มีประสิทธิภาพในราคาที่ไม่แพง เธอนั่งเรือคลองแสนแสบแล้วพูดถึงเรือคลองแสนแสบเทียบกับเรือโดยสารแม่น้ำปาซิก ที่เพิ่งเปิดเมื่อไม่นานมานี้ แต่ไม่ได้มีเที่ยวการเดินทางถี่เท่า มีดีแค่เรือใหม่กว่า
GMA Public Affairs
หลังจากนั้นก็โฟกัสไปที่ระบบรถเมล์ที่เป็นแบบบัสเลนซึ่งกรุงเทพมี BRT แต่มะนิลายังไม่มีระบบรถเมล์เป็นสายแบบกิจลักษณะ ถึงมีแต่ก็น้อยและไม่ครอบคลุม แม้จะมีความพยายามเพิ่มสายรถเมล์ แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอและไม่สามารถแข่งกับรถจิ๊บนี่ (รถสองแถวแบบฟิลิปปินส์) หรือไตรซิเคิล (คล้ายรถ 3 ล้อพ่วงข้างให้คนนั่งข้างแล้วมีหลังคาคลุม) ซึ่งรถจิ๊บนี่ที่วิ่งให้บริการนั้นก็สร้างปัญหามลพิษ และก่อปัญหาการจราจรติดขัด กรุงมะนิลาควรจะมีระบบขนส่งที่ดีกว่านี้ ซึ่งพูดทำนองนี้แต่ไม่ได้ตรงขนาดนั้น
GMA Public Affairs
ส่วนในช่วงท้ายๆ รายการก็ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ของ MRT มะนิลา ก็พูดถึงแผนการต่อขยายรถไฟฟ้าเพิ่มไปอีกหลายสาย ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของการดำเนินโครงการและก่อสร้าง เพื่อให้มีรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่หนาแน่น ซึ่งผมสรุปไว้ที่ย่อหน้ากลางๆ ที่อ่านผ่านๆ มาแล้ว
GMA Public Affairs
สรุปตอนจบรายการก็ประมาณว่า แม้ฟิลิปปินส์จะมีระบบรถไฟฟ้ามาก่อนใครในอาเซียนแต่ตอนนี้ฟิลิปปินส์ตามหลังเพื่อนบ้านอยู่มาก และต้องเร่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม แต่ก็ติดเรื่องการดำเนินการที่ล่าช้า เรื่องงบประมาณ รวมทั้งรัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญมากเพียงพอ
GMA Public Affairs
ส่วนใครที่อยากดูคลิปนี้ ผมแปะลิ้งค์ไว้ให้เผื่อจะเข้าไปดูครับ อย่างที่บอกครับว่าประเทศเพื่อนบ้านให้ความสนใจเราเสมอ เรียนรู้การพัฒนาจากเรามาโดยตลอด ไม่ว่าประเทศไทยจะทำอะไร หรือขยับตัวแบบไหน เพื่อนบ้านจะจับตามองในทุกๆ มิติ ต้องยอมรับว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้นก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทยค่อนข้างมากในหลายๆ ด้าน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเขาถึงมองเราเป็นคู่แข่งและพยายามจะล้มเราให้ได้นั่นเอง
**ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการ**
Reporter's Notebook รายการสารคดีเชิงข่าวที่อยู่มายาวนานถึง 16 ปีของสถานีโทรทัศน์ GMA NETWORK สถานีโทรทัศน์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของฟิลิปปินส์ คู่แข่งกับช่อง ABS CBN เหมือนมวยคู่เอกของวงการอย่างช่อง 3 กับช่อง 7 บ้านเราแหละ
เป็นรายการที่ได้รางวัล Best Documentary Program จาก PMPC Star Awards for Television ทุกปี ฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพคอนเทนต์ แถมเมื่อปี 2008 เคยได้รับรางวัลระดับนานาชาติจาก New York Festivals for Television ในฐานะ Best Public Affairs Program อีกด้วย
ส่วนพิธีกรหญิงชื่อว่า Maki Pulido เธอเป็นพิธีกรสารคดีข่าวที่เก่งมาก และมีประเด็นข่าวที่คมที่สุดคนนึงของประเทศ และเธอเคยได้รางวัล The Silver Screen Award ในปี 2005 จากเวที US International Film and Video Festival. และรางวัลจากเวที Asian TV Awards ในปีเดียวกันอีกด้วย
เสียดายที่ประเทศเราพวกสารคดีเชิงข่าวแบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม ทำให้รายการดีๆ หลายรายการ เช่นข่าวดังข้ามเวลาของช่อง 9 หรือรายการชีพจรโลก โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น หรือรายการอื่นๆ เป็นอันต้องหลุดผังรายการไป เพราะเรามุ่งเน้นไปที่เรื่องเรตติ้ง และขายข่าวดราม่าเป็นหลัก ข่าวที่ส่งเสริมให้รู้เขารู้เราแบบนี้ ค่อยๆ ลดน้อยลงไปทุกที.
โฆษณา