9 มิ.ย. 2020 เวลา 01:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เคล็ดลับการอธิบายเรื่องเข้าใจยากให้เด็ก 7 ขวบรู้เรื่อง
Photo by Pixabay from Pexels
ผู้อ่านคงเคยฟังบรรยาย สัมมนา หรือคนอื่นพูดเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญมาก แต่ฟังเท่าไร เราก็ไม่รู้เรื่องสักที โดยเฉพาะงานประชุมวิชาการ
ผมก็พบเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ครับ และเคยเป็นกับตัวเองด้วยคือ สอนแล้ว ลูกศิษย์ฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจสิ่งที่เราสอน
เราจะมีเทคนิคอะไรในการอธิบายความเชี่ยวชาญของเราให้คนอื่นฟังรู้เรื่อง บทความนี้มีคำตอบครับ
TED Talk เรื่อง ควอนตัมฟิสิกส์สำหรับเด็ก 7 ขวบ
คุณโดมินิค วอลลิแมน (Dominic Walliman) เป็นนักฟิสิกส์ที่ชอบเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเป็นยูทูเบอร์ด้วย ได้บรรยายใน TEDxEastVan เรื่อง Quantum Physics for 7 Year Olds
แค่เห็นชื่อเรื่อง ก็น่าสนใจแล้วว่า เขาจะอธิบายควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ลึกล้ำ ให้เด็ก 7 ขวบรู้เรื่องได้อย่างไร
ผมสรุปสี่ประเด็นจากการบรรยายของคุณวอลลิแมน ดังนี้ครับ
1. บอกผู้พูดอย่างสุภาพว่า ไม่เข้าใจ
เทคนิคง่ายๆ แต่เป็นเรื่องยากของหลายคนคือ เวลาที่เราไม่เข้าใจคนอื่นอธิบาย ก็บอกเขาว่า ไม่เข้าใจ ช่วยอธิบายประเด็นที่เรายังสับสนอีกครั้งหนึ่ง
อย่าไปรู้สึกแย่ว่า เราไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ หรือรู้สึกผิดที่ถามคนอื่น
2. ยกตัวอย่างที่ผู้ฟังนึกภาพได้
ควอนตัมฟิสิกส์คือการศึกษาสิ่งเล็กที่สุดในจักรวาล และมีปรากฎการณ์ประหลาดหลายอย่างที่ขัดกับสามัญสำนึกของเรา
วิธีอธิบายปรากฎการณ์เหล่านี้คือ การยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ผู้ฟังนึกภาพได้ เช่น
- Particle Wave Duality คือปรากฏการณ์ที่เป็นทั้งอนุภาคและคลื่นในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างที่ใกล้เคียงเหตุการณ์นี้คือ การโยนลูกบอลเด้งได้ลงสระน้ำ ทำให้เกิดคลื่นและลูกบอลจมลงไป แต่ลูกบอลไปชนกิ่งไม้ในน้ำ ก็โผล่ขึ้นมาอีกครั้ง
- Quantum tunneling เป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งประหลาดกว่าเดิม แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในดวงอาทิตย์ของเรา เปรียบเทียบว่า เราโยนลูกบอลที่หน้าต่าง ลูกบอลก็เด้งกลับมา โยนลูกบอลไป ก็เด้งกลับมา แต่อยู่ดีๆ โยนลูกบอลไปที่หน้าต่าง ลูกบอลออกนอกหน้าต่างไปซะงั้น
- Superposition หมายถึงสิ่งที่ทำเรื่องตรงข้ามได้ในเวลาเดียวกัน เช่น การที่เราหมุนด้านซ้ายและด้านขวาในเวลาเดียวกัน ซึ่งร่างกายมนุษย์ทำไม่ได้ แต่เป็นเรื่องปกติในควอนตัมฟิสิกส์
ควอนตัมฟิสิกส์จึงเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่เราใช้คณิตศาสตร์อธิบายปรากฎการณ์ในควอนตัมฟิสิกส์ และสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น เครื่อง MRI , ซิลิคอนชิปที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ , เลเซอร์ , โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น
3. หลักการสี่ข้อในการอธิบายเรื่องซับซ้อนให้ผู้ฟังเข้าใจ
- เริ่มต้นอย่างถูกต้อง หมายความว่า ผู้ฟังแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้พูดต้องเข้าใจพื้นฐานผู้ฟัง อาจถามผู้ฟังก่อนว่า เคยทราบเรื่องอะไรบ้าง แล้วเริ่มต้นจากจุดที่ผู้ฟังเข้าใจอยู่แล้ว หรือระหว่างบรรยาย ก็ถามเป็นพักๆ ว่า ไม่เข้าใจหรือสงสัยตรงไหนบ้าง
- อย่าใส่รายละเอียดมากเกินไป การพูดแค่สามเรื่องที่ผู้ฟังเข้าใจและจำได้ ดีกว่าการให้รายละเอียดมาก จนผู้ฟังจำอะไรไม่ได้เลย
- ความชัดเจนดีกว่าความถูกต้อง ควรอธิบายให้เข้าใจคร่าวๆ ก่อน เมื่อผู้ฟังสนใจ จึงค่อยแนะนำข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในภายหลัง
- บอกผู้ฟังว่าทำไมเรื่องนี้เจ๋ง การบอกผู้ฟังว่า ทำไมเรื่องนี้น่าสนใจมากหรือสำคัญมาก จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจและจำเนื้อหามากขึ้น เช่น ยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้ฟัง
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา