9 มิ.ย. 2020 เวลา 06:08 • การเมือง
Podcast & Democracy
ปี 2020 เป็นปีที่ Podcast จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ถ้านับจากวันที่มันถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบ “audioblogging” แต่ถ้านับจากวันที่ชาวโลกเริ่มรู้จักคำว่า Podcast ครั้งแรกในปี 2005 ปีนี้ Podcast จะมีอายุครบ 15 ปีเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะนับแบบไหน ต้องถือว่า Podcast ยังเป็นเด็กน้อยในวงการสื่อ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับสื่อกระแสดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
อย่างไรก็ตาม Podcast เป็นเด็กน้อยที่โตเร็วมาก จากการสำรวจข้อมูลของ Edison Research and Triton Digital พบว่า ในปี 2019 คนอเมริกันเกินครึ่ง (51%) เคยฟัง Podcast เกือบหนึ่งในสาม (32%) ฟัง Podcast ในช่วงเดือนที่ผ่านมา และมากกว่าหนึ่งในห้าเล็กน้อย (22%) ฟัง Podcast ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผลสำรวจนี้สะท้อนว่า Podcast เป็นสื่อขาขึ้นเอามากๆ เนื่องจาก ตัวเลข 51% ในปี 2019 คือสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 14 ปีก่อน ตอนที่ Podcast เพิ่งลืมตาดูโลกใหม่ๆ ในปี 2006 ถึง 40% ส่วนตัวเลข 32% และ 22% นั้นคือปริมาณการรับฟังที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับการสำรวจข้อมูลในปี 2008 และ 2013 ตามลำดับ
ในแง่ของการสื่อสารสาธารณะ Podcast ถือเป็นเครื่องมือที่สื่อในต่างประเทศ เช่น The Wall Street Journal, The BBC นำมาใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดรายการและผู้ฟัง เพื่อเพิ่มปริมาณการรับรู้ที่ขยายขอบเขตไปจากการอ่านเนื้อหาข่าวออนไลน์
 
นอกจากนี้ ในด้านการเรียนรู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตย มีรายการ Podcast ในต่างประเทศที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะเพื่อให้คนที่สนใจในประเด็นการเมืองภายในและระหว่างประเทศได้รับฟัง เช่น The Guardian UK: Politics Weekly, FT UK Politics โดย The Financial Times, The New Yorker Politics and More, Inside Politics โดย CNN, So That Happened โดย HuffPost Politics, Power House Politics โดย ABC News
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย รายการ Podcast ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองยังคงมีอยู่ในปริมาณไม่มาก แม้จะเริ่มมีจำนวนมากขึ้นและกำลังขยายจำนวนผู้ผลิตรายการมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม
 
รายการ Podcast การเมืองที่เป็นที่รู้จักและมีผู้สนใจจำนวนมาก เช่น The Power Game ในเครือ The Standard จัดโดย สรกล อดุลยานนท์ รายการ “Interregnum” ของคณะก้าวหน้า ในชื่อ “The Progressive Podcast” ที่จัดรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล 101 One-On-One ที่เป็น podcast หนึ่งในเครือของ The101.World เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รายการ Podcast การเมืองที่จัดรายการโดยนักวิชาการที่เน้นการให้ความรู้ด้านรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยที่มีการนำเอาข้อมูลเชิงวิชาการ จำนวนสถิติ ผลงานวิจัย มากระจายสารให้แก่ผู้ฟังยังมีอยู่น้อยมาก
ที่พอจะสำรวจพบอยู่บ้างก็มี รายการ podcast ของ Thailand Political Database (TPD) ที่เน้นการวิเคราะห์เล่าเรื่องการเมืองไทยและโลกให้ฟังสนุกและเข้าใจง่าย ผ่านรายการ “เกียกกายกอสซิป” ที่จัดโดยอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชยพฤกษ์ กองจันทร์ ที่จะมาเล่าเรื่องการเมืองให้เหมือนประเด็นทอล์คสนุกอย่างมีสาระ หรือรายการ “Back for The Future” ของ ณัชชาภัทร อมรกุล จากสำนักวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ที่จะมาสำรวจประเด็นร้อนของการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก
นอกจากนี้ ก็จะมีรายการ “Democracy X Innovation” รายการวิเคราะห์การเมืองภายใต้ความร่วมมือระหว่างแชนแนล “Infinity Podcast” และสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า โดย Democracy X Innovation เป็นรายการ Podcast ที่เน้นการวิเคราะห์บอกเล่าการเมืองผ่านมุมมองของขวัญข้าว คงเดชา และศิปภน อรรคศรี นักวิชาการรุ่นใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน พร้อมไปกับการมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ของการเมืองไทยและการเมืองโลก รวมถึงประยุกต์ทฤษฎีทางการเมืองต่างๆ ที่สามารถนำมาอธิบายสถานการณ์ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตาม Democracy X Innovation Podcast ได้ผ่านช่องทางต่อไปนี้:
บทความโดย: ทีมวิชาการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
ติดตามสาระความรู้เพิ่มเติมได้ที่: https://democracyxinnovation.com
โฆษณา