10 มิ.ย. 2020 เวลา 16:59 • ประวัติศาสตร์
สงคราม อานามสยามยุทธ Siamese-Vietnamese War (ตอนที่ 2)
✍🏻 ในสงครามอานามสยามยุทธ มีเมืองที่สำคัญคือ เมืองบันทายมาศ (พุทไธมาศ) หรือเมืองฮาเตียน ในอดีตเป็นเมืองท่าของเขมรทางด้านอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม เพราะเมืองนี้อยู่ใกล้เวียดนาม จึงมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ป็นจำนวนมาก จากนั้นเขมรก็ได้เสียดินแดนนี้รวมถึงเมืองไซ่ง่อน ให้แก่เวียดนาม มีผลทำให้เวียดนาม ได้ขยายอิทธิพลมาจนถึงปลายแหลมญวน
✍🏻 ในราวปลายกรุงศรีอยุธยา เวียดนามได้ขุดคลองจากเมืองบันทายมาศนี้ เข้าไปเชื่อมกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ เรือสำเภาสามารถแล่นเข้าไปได้ แล้วเกิดเมืองสำคัญที่ปากคลองขุดกับแม่น้ำโขงคือ เมืองโจดก (โจฎก) ถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของเวียดนาม เพราะหากผ่านเมืองนี้ได้ก็จะล่องไปตามแม่น้ำโขง และสามารถไปตีเมืองไซ่ง่อนได้สะดวก
✍🏻 กองทัพของราชอาณาจักรธนบุรี สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เคยยึดครองเมืองนี้ได้ในราวปี พ.ศ. 2315 แล้วตั้งเจ้าเมืองปกครองคือพระยาราชาเศรษฐี(คนจีน) ในอดีตเมืองนี้ก็มีเจ้าเมืองเป็นพระยาราชาเศรษฐี(ญวน) เช่นเดียวกัน ที่มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่รู้จักคือ “มักเทียนตื้อ”
✍🏻 “มักเทียนตื้อ” มีเรื่องบาดหมางกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในช่วงเริ่มก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี มักเทียนตื้อนี้เองเป็นคนทูลข้าหลวงจากเมืองจีน ไม่ให้รับรองสถานะกษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิงไม่ให้การรับรอง แม้จะมีการส่งบรรณาการไปหลายครั้ง แต่ภายหลังก็ให้การรับรองเนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงรวบรวมดินแดนได้เป็นปึกแผ่นได้แล้ว
1
✍🏻 ครั้นสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศคนเดิม ได้กลับเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ปกครองเมืองบันทายมาศตามเดิม พอมาสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 กองทัพของพระเจ้ากรุงเวียดนามเข้าตียึดคืนเป็นของเวียดนาม แล้วขับไล่ผู้ครองชาวสยามออกไป
✍🏻 การเดินทางทางเรือไปค้าขายกับจีนนั้น ต้องผ่านปลายแหลมญวน ซึ่งบางครั้งจะมีลมมรสุมที่ไม่แน่นอน เกิดปัญหาในการเดินเรืออยู่เสมอ ดังนั้นในหน้ามรสุมเรือค้าขายมักเดินทางโดยผ่านคลองขุดนี้เข้าไปผ่านเมืองโจดก แล้วล่องตามแม่น้ำโขง ไปยังเมืองไซ่ง่อน ออกสู่ทะเลบริเวณปากแม่น้ำโขง ดังนั้นเมืองบันทายมาศ จึงมีความสำคัญมาตั้งแต่ตอนนั้นมา
2
✍🏻 การยึดเมืองบันทายมาศคืน จึงเป็นจุดประสงค์ของการสงครามในครั้งนี้ รวมทั้งเป็นการสั่งสอนเวียดนามไม่ให้เหิมเกริม กับการรุกรานดินแดนในปกครองของสยาม แต่สยามประเมินกองทัพเวียดนามต่ำไป ถึงแม้ทางสยามจะยกกองทัพมาเกือบ 120,000 คน มาตีเวียดนามในบริเวณนี้ แต่ผลของสงครามในครั้งนี้ กองทัพสยามกลับถอยกลับไม่เป็นขบวน ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าตีเมืองไซ่ง่อน เพราะได้เจอกับกองทัพเรือของเวียดนามที่มีประสิทธิภาพ และชำนาญการรบในภูมิประเทศในบริเวณนี้ ทำให้สงครามในครั้งนี้มีเรื่องราวมากมายดังจะเล่าให้ฟังกันครับ
📌 สมรภูมิรบที่เมืองบันทายมาศ, เมืองโจดก และคลองหวั่มนาว
กองทัพสยามติดตั้งปืนบาเรียมขานกยางบนหลังช้าง ในการทำสงครามครั้งนี้
📍 สมรภูมิรบที่สำคัญในครั้งนี้คือ เป็นบริเวณเกาะเจียนซ่าย หรือเกาะแตง ที่ใกล้คลองหวั่มนาว ในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโจดก ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ระหว่าง แม่น้ำบาสัก กับแม่น้ำโขง และมีคลองหวั่มนาวเป็นเส้นทางเชื่อมต่อ กับแม่น้ำทั้งสอง โดยเป็นคลองใหญ่ที่สามารถให้เรือรบใหญ่แล่นผ่านได้ และเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพใหญ่เวียดนาม
สยามได้ฤกษ์ยกทัพในวันเสาร์ขึ้นสิบสองค่ำ เดือนอ้าย เวลาเช้าสามโมงเก้าบาท พ.ศ. 2376 ปีที่ 10 ในรัชกาลที่ 3 กองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) และทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ บุนนาค) นัดพบกันที่เกาะแตงในคลองวามนาว ภายหลังได้รวมพลกันที่เมืองโจดก
เดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ได้วางแผนการเดินทัพบก ไปทางตะวันออกผ่านเขตเมืองบาพนม และตัดตรงเข้าสู่เมืองไซ่ง่อน แต่ทราบข่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) มาตั้งอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว จึงยกทัพมาสมทบกับทัพของเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองโจดก
สมรภูมิรบที่ เมืองบันทายมาศ เมืองโจดก และคลองหวั่มนาว
✍🏻 การเดินทัพเรือจากเมืองโจดก ไปยังเมืองไซ่ง่อน ต้องข้ามจากแม่น้ำบาสักไปยังแม่น้ำโขงเพื่อลดระยะทาง แต่คลองโดยส่วนใหญ่ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำบาสัก และแม่น้ำโขง เป็นคลองขนาดเล็ก ทัพเรือไม่สามารถผ่านได้ มีเพียงคลองหวั่มนาวเท่านั้น
👉 กองทัพสยาม ได้พบกับกองทัพเวียดนาม ที่ตั้งรับที่ปากทางเข้าคลองหวั่มนาว สมรภูมิรบที่คลองหวั่มนาวนี้ เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งทัพเรือเวียดนามสามารถสกัดทัพเรือสยามในตำแหน่งนี้ได้ เป็นสมรภูมิรบที่สำคัญโดยสรุปผลของสงครามได้ดังนี้
1
1. กองทัพบกและทัพเรือของสยามได้บุกโจมตีค่ายเวียดนามครั้งที่ 1 ที่คลองหวั่มนาว แต่ถูกกองเรือของเวียดนามโจมตีอย่างหนักด้วยอาวุธปืนที่ใช้ในสงครามครั้งนั้นทั้งสองกองทัพคือ ปืนบาเรียมขานกยาง กองทัพสยามถอยร่นมาที่เมืองโจดก ส่วนทัพเรือถอยมาที่เมืองพุทไธมาศ ซ่อมบำรุงเรือ และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรบครั้งต่อไป
2. ทัพสยามเข้าตีค่ายเวียดนามครั้งที่ 2 ศึกครั้งนี้รบกันหนักมาก ระหว่างปืนบาเรียมขานกยางบนเรือรบเวียดนาม กับปืนบาเรียมขานกยางของกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ตั้งบนหลังช้างกว่า 170 เชือก กองทัพสยามถูกตีโต้อย่างหนัก เกิดการสูญเสียอย่างมาก แม่ทัพใหญ่สยามสั่งให้ถอยทัพทั้งทัพบกและทัพเรือ
1
3. สยามเผาเมืองโจดก เมืองบันทายมาศ เมืองกำป๊อด เพื่อไม่ให้เวียดนามใช้เป็นฐานที่มั่นได้อีกต่อไป
4. เกิดกบฏในเขมร เพราะทราบข่าวว่าสยามพ่ายแพ้สงครามและถอยร่นกลับ
5. สยามกวาดต้อนชาวญวนจำนวนหนึ่งนำกลับไปเมืองจันทบุรี และกรุงเทพฯบางส่วน ภายหลังคือ ต้นตระกูลเวชชาชีวะ
6. ทัพเวียดนามนำกำลังตามตีทัพสยาม สูญเสียทั้งสยามและเวียดนาม ทัพสยามตัดหัวทหารเวียดนามราว 600 คน ที่ต้องกลศึก แล้วส่งไปถวายพระเจ้าหมินหมาง แลกกับที่เวียดนามสังหารกองทัพของพระยานครสวรรค์ แล้วลอยมาตามน้ำโขงกว่า 1,000 คน
7. สยามทำลายเมืองพนมเปญและกวาดต้อนคนเขมร แขกจาม คนจีนบางส่วนมายังกรุงเทพฯ คนเขมรให้ไปตั้งรกรากที่บางกุ้ง ราชุรี คนจีนให้ไปตั้งรกรากที่เมืองนครชัยศรี แขกจามให้ไปตั้งบ้านเรือนแถบบางกะปิ
👉 ในตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดการรบครั้งสำคัญ และจุดเด่นจุดด้อย ของทั้งสองกองทัพครับ รวมทั้งการรบของสองกองทัพที่เหลือทางด้านทิศเหนือคือ เมืองเหง่อาน และหัวเมืองพวน ที่สยามนำกองทัพเข้าตีเวียดนาม
โฆษณา