9 มิ.ย. 2020 เวลา 17:17 • สุขภาพ
มารู้จัก special snowflake syndrome กันดีกว่า
เวลาเรามองเกล็ดหิมะ เราก็จะเห็นมันเป็นผลึกสีขาวๆเหมือนกันหมด แต่คนที่มีอาการ SSS (ย่อมาจาก Special Snowflake Syndrome) มักจะคิดว่าตัวเอง ;หรือลูกตัวเอง) นั้นแตกต่างจากคนอื่นเสมอ และจะต้องได้รับการปฏิบัติที่พิเศษกว่าคนอื่น
ฟังดูเหมือนเป็นแนวคิดปกติของคนยุคนี้ เพราะชาว. Gen Y และลูกๆของชาว Gen Y มักถูกเลี้ยงมาให้รู้สึกว่าตัวเอง “พิเศษ” กว่าคนทั่วไป
แน่นอนว่าการคิดว่าตัวเองพิเศษนั้น หากเป็นเเพียงการให้กำลังใจตัวเองหรือคนที่เรารัก คงไม่ใช่ปัญหา เราคิดเงียบๆในใจได้ไม่ต้องบอกใคร แต่หากมันชัดเกินไปก็อาจจะต้องได้รับการบำบัด
จะดูว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวเข้าข่ายเป็น SSS หรือไม่ลองสังเกตดูตามนี้
😈มักจะเรียกร้องสิทธิพิเศษที่ต่างจากคนอื่นเสมอ โดยไม่ดูกาลเทศะ
Case Study รู้จักคนหนึ่งที่ลูกเล่นซนมาก ซนขนาดไม่สามารถอยู่นิ่งๆในงานพิธีการสำคัญได้ ต้องลุกไปเล่นตรงดอกไม้ที่เขาจัด วิ่งชนคนที่มางาน พอเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังคุยกับแม่ของเด็ก เขากลับบอกว่าลูกเค้าเป็นแบบนั้นเอง ไม่สามารถสอนให้นั่งนิ่งๆได้ ให้ทุกคนทำใจ (เด็กปกติอายุ 10 ขวบ ไม่ใช่เด็กพิเศษ)
👑อยากได้รับการปฏิบัติแบบอภิสิทธิชน ไม่สนว่าตัวเองสมควรได้รับหรือไม่
Case study เจ้าของโฮสเทลแห่งหนึ่งเคยเล่าให้ฉันฟังว่า มีแขกคู่หนึ่งบอกว่ามาฮันนีมูนกันและต้องการให้ทางโฮสเทลจัดแชมเปญมาให้ทั้งคู่แบบ complimentary แขกคงจะลืมไปว่านี่เป็นห้องพักแบบราคาถูก คืนละไม่กี่ร้อยเท่านั้น
🥂คิดว่าความต้องการของตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น ไม่เกรงใจหากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่สนใจลำดับความสำคัญใดๆ
Case study หลายคนคงจำได้กับกรณีผู้บริหารสายการบินของเกาหลีสั่งให้กัปตันหยุด take off เพราะไม่พอใจการบริการของพนักงานต้อนรับ (เรื่องเสิร์ฟถั่วทั้งถุงหรือเทออกจากถุง) ทำให้เที่ยวบินต้องล่าช้า
🙉ไม่มีความเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจ ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น
Case study ลองนึกภาพคลิปมนุษย์ป้าต่างๆที่แชร์กัน
🤬อ่อนไหวง่าย และมักจะคิดว่าตัวเองถูกหยามด้วยเรื่องเล็กน้อยที่คนอื่นคิดไม่ถึง เพราะไปสะกิดปมบางอย่างเข้า
Case study เคยมีคุณลุงท่านหนึ่งไม่พอใจรปภ.หน้าหมู่บ้านเพราะไม่ยอมยกมือขึ้นทำความเคารพ แต่พอมีรถอีกคันผ่านเข้ามากลับทำ บวกกับตัวเองมีปมว่าขับรถญี่ปุ่นเก่าๆ เลยกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ทั้งที่คนทั่วไปจะไม่เอาเรื่องนี้เป็นอารมณ์เลย
😤ชอบแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ และรู้สึกดีเมื่อเห็นคนอื่นอึดอัดหรือไม่พอใจ บางคนดีใจที่ทำให้คนอื่นร้องไห้ได้
Case study มีคุณป้าท่านหนึ่งเป็นแม่ครัวใหญ่มาเป็นแขกที่บ้าน จะมาขอแสดงฝีมือทำกับข้าวให้ทานด้วย ปรากฏว่าอุปกรณ์ของเจ้าของบ้านไม่ใช่แบบที่เค้าต้องการ ก็แสดงอาการหงุดหงิดไม่พอใจ จนเจ้าของบ้านต้องไปหามาให้ได้ และแสดงอาการวีนเจ้าของบ้านตลอดเวลาจนทุกคนอึดอัดว่าจะเยอะไปเพื่ออะไร แต่ดูเธอพอใจมากที่เห็นทุกคนวุ่นวายกันจ้าละหวั่น เหมือนในเรียลลิตี้ Hell’s Kitchen ของ Gordon Ramsay เพียงแต่ไม่ใช่การแสดง และเป็นแค่การทานข้าวกันเองที่บ้านเฉยๆไม่ใช่ร้านอาหาร
🤯มักแสดงความไม่พอใจรุนแรง หรือชอบดราม่า ใช้คำพูดที่แฝงความหลงตัวเองอยู่ เช่น “รู้มั้ยว่าฉันเป็นใคร!”
Case study คิดว่าคนไทยไม่น่าจะลืมกรณีที่ผู้พิพากษาหญิงท่านหนึ่งไปแสดงอาการเกรี้ยวกราดในสถานที่ราชการ ทราบภายหลังว่ามีอาการทางจิตจริงและกำลังอยู่ระหว่างการรักษา
🤭เชื่ออย่างสนิทใจว่าคนอื่นๆล้วนเป็นต้นเหตุของความไม่สมบูรณ์แบบทั้งปวง
ส่วนตัวแล้วคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์มีอาการนี้ได้หมดในบางเวลา บางอารมณ์ แต่หากเป็นนิสัยและสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองจริงๆ ควรไปพบจิตแพทย์ เข้าใจว่าจิตแพทย์จะรักษาอาการนี้ได้แบบเดียวกับกลุ่มอาการหลงตัวเอง (Narcissistic) ร่วมกับการไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้
Special Snowflake Syndrome: The Unrecognized Personality Disorder Destroying the World. (c) 2016 Heather Silvio
โฆษณา