10 มิ.ย. 2020 เวลา 09:14 • การศึกษา
ปล่อยปลา กินปลาได้ไหม ?
คำถามนี้ เป็นคำถามยอดฮิต สำหรับผู้ชอบให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน
พระวรพจน์ ฐิตวจโน
เรามักจะคิดกันแบบนี้เพราะมันรู้สึกแหนงใจว่า ”อ่าวเราปล่อยปลาไปแล้ว ให้ชีวิตสัตว์เป็นทานไปแล้ว แล้วก็ไปกินมันอีก” จริงไหม
คำถามนี้มีคำตอบ คือ เราต้องแยก ระหว่างการทำบุญ กับการทำบาป ออกจากกัน กล่าวคือ การให้ชีวิตเป็นบุญ การฆ่าชีวิตเป็นบาป พอจะแยกออกแล้วใช่ไหม
บาป-บุญ
คราวนี้เรามาดูที่มาของคำว่า ปล่อยปลา แต่ไม่กินปลาที่ปล่อย
“ความเป็นอยู่ในสมัยก่อนนั้น มักใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำ เมื่อเราปล่อยปลาแล้ว ปลาก็มักจะอยู่บริเวณที่เราปล่อย ถ้าเราปล่อยที่ท่าน้ำบ้านของเรา มักก็จะอยู่ตรงนั้นและออกลูกหลานอยู่ตรงนั้น สมัยก่อนในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่ต้องซื้อก็มีกิน ปลูกข้าว จับปลาในน้ำก็มีกินแล้ว คนโบราณเมื่อปล่อยปลาชนิดใดแล้วจะไม่กินปลาชนิดนั้น
แต่ปัจจุบันเวลาเราทานอาหารก็ทานอาหารที่ทำสำเร็จมาแล้ว หรือไปซื้อปลาที่ตลาดที่ตายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่า ปล่อยปลาชนิดไหนแล้วห้ามทานชนิดนั้น”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หลวงพ่อทัตตะชีโว
เพจ : พระวรพจน์ ฐิตวจโน
ถ้าหากทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ถ้าเราไปซื้อปลาที่ตายแล้ว ย้ำว่าตายแล้ว หรือ กล่าวง่ายๆก็คือ ไปซื้อศพปลา นั่นเอง เพราะเราไม่ได้ฆ่าเอง และอย่าไปสั่งฆ่า เลือกซื้อเฉพาะตัวที่ตายแล้ว ถ้าทำแบบนี้ไม่ผิด ไม่บาป ซื้อกินโล้ด
ในสมัยนี้มีร้านอาหาร เอา กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ยังไม่ตายมาใส่ไว้ในตู้กระจก แล้วเมื่อลูกค้าเข้ามาในร้านแล้วก็เลือก ตัวนั้น ตัวนี้ ให้พ่อครัวไปทำอย่างนี้คิดว่าบาปไหม
แน่นอนก็ต้องบาป เพราะเป็นคนไปสั่งฆ่านั้นเอง
มีความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่างั้นเราไม่ต้องกินเนื้อได้ไหม จะได้ไม่มีคนขาย ถ้าจะทำอย่างนี้คงต้องทำกันหมดทั้งโลกแน่ๆ ยังไงๆก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพของเขา และก็ยังมีคนอื่นๆ กินเนื้อกันอยู่ดี
ในทางพระพุทธศาสนา ได้ให้ไว้ในเรื่อง องค์แห่งการผิดศีล ข้อยกมาแค่ข้อที่ 1 ไม่ฆ่าสัตว์
ศีลข้อที่ 1 : เว้นจาการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป หมายถึง การห้ามฆ่าสัตว์ ทั้งการฆ่ามนุษย์และการฆ่าสัตว์ดิรัจฉานที่มีชีวิตอยู่ทุกเพศทุกชนิด โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ 5 ข้อ คือ
1) ปาโณ สัตว์มีชีวิต
2) ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
3) วธกจิตฺตํ มีจิตคิดจะฆ่า
4) อุปกฺกโม ทำความพยายามฆ่า
5) เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น*
การฆ่าสัตว์มีชีวิตพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อนี้ ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ นี้ แม้องค์ใดองค์หนึ่ง เช่น ไม่มีจิตคิดจะฆ่า เป็นต้น เช่นนี้ ศีลไม่ขาด แต่เป็นเพียงศีลตกพร่องไป
จากข้อความองค์แห่งศีล จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นไปอีกว่า ถ้าเราทำไม่ครบ ทั้ง 5 ข้อ ก็ไม่ผิดศีล เพียงแต่ศีลไม่บริสุทธิ์ และเกิดเป็นบาปกรรมเล็กน้อยไป
#สรุปว่า ปล่อยปลากินปลาได้นะ ขอเพียงอย่าไปฆ่าเอง หรือสั่งให้คนอื่นฆ่า
เจริญพร อย่าลืมกดติดตาม
Facebook, Youtube, IG: pworapoth
* สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่มที่ 1 หน้าที่ 187 ข้อที่ 90 ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ 11

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา