11 มิ.ย. 2020 เวลา 08:52 • กีฬา
11 อันดับ มหาอำนาจแห่งฟุตบอลยุโรป
ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ถือเป็นศึกฟุตบอลระดับสโมสรที่ยอดทีมต่างๆจากทั่วยุโรปจะมารวมตัวแข่งขันกันและมันจึงก่อให้เกิดเป็นเกมฟุตบอลที่เต็มไปด้วยคุณภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นที่สนใจจากแฟนบอลทั่วทุกมุมโลกที่ต่างก็ตั้งตารอชมกันในทุกๆฤดูกาล ดังนั้นในแต่ละฤดูกาลถ้าหากทีมไหนสามารถพิชิตถ้วยบิ๊กเอียร์ใบนี้ได้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทีมๆนั้นจะถือเป็นที่สุดในฤดูกาลนั้นๆเลย
ซึ่งหลังจากฟุตบอลรายการนี้ได้ถูกเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ฤดูกาล 1955-56 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้มีทีมอยู่ไม่น้อยที่สามารถประสบความสำเร็จในรายการนี้จนกลายเป็นมหาอำนาจของยุคนั้นๆไป ซึ่งทีมที่สามารถครองยุคได้นั้นบ้างก็ครองได้ยาวนานบ้างก็ครองได้แค่ช่วงสั้นๆแตกต่างกันไปในแต่ละยุค
บทความนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อจัดอันดับทีมที่เคยเป็นถึงมหาอำนาจแห่งศึกฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกตั้งแต่ยุกบุกเบิกมาจนถึงปัจจุบันในช่วงทศวรรษ 2010 โดยจะวัดปัจจัยจากจำนวนฤดูกาลที่สามารถชนะเลิศเป็นหลักควบไปกับจำนวนฤดูกาลที่สามารถเข้าชิงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อหาว่าทีมใดสามารถครองยุโรปได้ยาวนานและยิ่งใหญ่ที่สุด
อันดับที่ 11 เอซี มิลานแห่งช่วงกลางทศวรรษ 2000
เอซี มิลาน สโมสรฟุตบอลจากอิตาลีที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของคาร์โล อันเชล็อตติที่ถึงแม้ทีมชุดนั้นจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในกัลโช่ เซเรียอา ลีกสูงสุดของอิตาลีมากนักโดยทำได้เพียงคว้าแชมป์ลีกได้ 1 สมัยในฤดูกาล 2003–04
แต่ในทางกลับกันเอซี มิลานชุดนี้ที่นำทัพโดยเปาโล มัลดินี, อังเดร เชฟเชนโก้ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 2004, อันเดรีย ปีร์โล่ และ ริคาร์โด้ กาก้า ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 2007 กลับสามารถเข้าชิงบอลถ้วยใหญ่ของยุโรปได้ถึง 3 ครั้งในฤดูกาล 2002–03, 2004–05 และ 2006–07 ซึ่งสวนทางกลับผลงานในลีกซะเหลือเกิน
คาร์โล อันเชล็อตติ ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวอิตาลี
เปาโล มัลดินี,อันเดรีย ปีร์โล่,ริคาร์โด้ กาก้า,อังเดร เชฟเชนโก้(เรียงจากซ้ายไปขวา)
ด้วยสุดยอดขุมกำลังผู้เล่นเหล่านี้บวกกับฝีมือของยอดโค้ชอย่างคาร์โล อันเชล็อตติจึงทำให้พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ยุโรปไปได้ถึง 2 สมัยจากการเข้าชิงถึง 3 หนในฤดูกาล 2002–03 และ 2006–07
ยิ่งไปกว่านั้นที่จริงแล้วเอซี มิลานชุดนี้ยังเกือบจะสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้ทั้งสามครั้งที่เข้าชิงเพราะในฤดูกาลที่พลาดแชมป์นั้นเอซี มิลานถือว่าเป็นทีมที่มีขุมกำลังที่ดีสุดในยุโรปเลยก็ว่าได้แต่ดันโชคร้ายที่พวกเขาต้องมาพบกับฝันร้ายที่ลืมไม่ลงอย่างเหตุการณ์ปาฏิหาริย์แห่งอิสตันบูลซึ่งเป็นการคัมแบ็คจากการตามหลัง 3-0 ของลิเวอร์พูลและสุดท้ายพวกเขาก็พ่ายแพ้จากการดวลจุดโทษไปในที่สุดอย่างน่าเหลือเชื่อเนื่องจากลิเวอร์พูลที่เป็นรองเกือบทุกๆด้านแต่กลับสามารถพลิกกลับมาเอาชนะได้ดั่งปาฏิหาริย์
ค่ำคืนอันแสนโหดร้ายของเอซี มิลาน
เอซี มิลานแห่งช่วงกลางทศวรรษ 2000 = ชนะเลิศ 2 ครั้งจากการเข้าชิง 3 ครั้ง
อันดับที่ 10 อินเตอร์ มิลานแห่งช่วงทศวรรษ 1960 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1970
อินเตอร์ มิลาน สโมสรฟุตบอลจากอิตาลีที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของเอเลนิโอ เอร์เรรา ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งปรัชญาสายเกมรับ Catenaccio
เอร์เรราได้นำปรัชญานี้พาอินเตอร์คว้าแชมป์ลีกไปได้ถึง 3 สมัยในฤดูกาล 1962–63, 1964–65 และ 1965–66 และยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้ถึง 2 สมัยจากการเข้าชิงถึง 3 ครั้งในฤดูกาล 1963–64, 1964–65 และ 1966–67
ซึ่งฤดูกาลที่ได้แชมป์ได้แก่ฤดูกาล 1963–64 และ 1964–65 ด้วยการนำทัพของหลุยส์ ซัวเรส ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1960 กับบาร์เซโลน่าก่อนจะย้ายมาอินเตอร์และซานโดร มาซโซล่า
เอเลนิโอ เอร์เรรา ยอดกุนซือชาวอาร์เจนติน่า
หลุยส์ ซัวเรส ยอดผู้เล่นชาวสเปน
ซานโดร มาซโซล่า ยอดผู้เล่นชาวอิตาลี
แต่ความสำเร็จของอินเตอร์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้เมื่อต่อมาโจวานนี่ อินเวอร์นิซซีได้เข้ามาคุมทีมต่อจากกุนซือคนอื่นๆที่ต่างล้มเหลวกับการสานต่อปรัชญาของเอร์เรราที่ได้อำลาทีมไปก่อนหน้านั้น
ซึ่งในยุคของอินเวอร์นิซซีนั้นเขาสามารถสานต่อปรัชญาของเอร์เรราได้ดีระดับนึงโดยการคว้าแชมป์ลีกได้อีก 1 สมัยในฤดูกาล 1970–71 แถมยังเข้าชิงบอลถ้วยใหญ่ของยุโรปได้อีก 1 ครั้งในฤดูกาล 1971–72 จึงทำให้อินเตอร์ในยุคนั้นสามารถเข้าชิงรวมกันได้ถึง 4 หนเลยทีเดียว
โจวานนี่ อินเวอร์นิซซี ยอดกุนซือชาวอิตาลีผู้เข้ามาสานปรัชญาต่อจากเอร์เรราได้สำเร็จ
อินเตอร์ มิลานแห่งช่วงทศวรรษ 1960 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1970 = ชนะเลิศ 2 ครั้งจากการเข้าชิง 4 ครั้ง
อันดับที่ 9 เบนฟิก้าแห่งช่วงทศวรรษ 1960
เบนฟิก้า สโมสรฟุตบอลจากโปรตุเกสที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือหลายต่อหลายคน ซึ่งเบนฟิก้าชุดนั้นถือเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในพรีเมียรา ลีกา ลีกสูงสุดของโปรตุเกสณ ขณะนั้นเลยทีเดียวโดยสามารถกวาดแชมป์ลีกไปได้ถึง 7 สมัยในฤดูกาล 1960–61, 1962–63, 1963–64, 1964–65, 1966–67, 1967–68 และ 1968–69
นอกจากนี้เบนฟิก้าในยุคนั้นยังเปรียบเสมือนหน้าตาของลีกโปรตุเกสในยุโรปเลยก็ว่าได้เนื่องจากพวกเขาสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้ถึง 2 สมัยจากการเข้าชิงถึง 5 ครั้งในฤดูกาล 1960–61, 1961–62, 1962–63, 1964–65 และ 1967–68
ซึ่งฤดูกาลที่ได้แชมป์ได้แก่ฤดูกาล 1960–61 และ 1961–62 ด้วยความสำเร็จทั้งสองครั้งนี้ล้วนมาจากฝีมือการคุมทีมของบีล่า วุตต์มาน กุนซือของเบนฟิก้าในเวลานั้นที่นำทัพโดยมาริโอ โคลูน่า และ ยูเซบิโอ้ ในวัยเยาว์ที่ต่อมาจะกลายเป็นผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1965
บีล่า วุตต์มาน ยอดกุนซือชาวฮังการี
มาริโอ โคลูน่า ยอดผู้เล่นชาวโปรตุเกส
ยูเซบิโอ้ ยอดผู้เล่นชาวโปรตุเกส (นิตยสาร Football)
แต่อย่างไรก็ตามจุดด่างพร้อยของเบนฟิก้าชุดนี้นั่นก็คือการที่พวกเขาไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งของสองทีมจากอิตาลีอย่างเอซี มิลานและอินเตอร์ มิลานที่ขึ้นชื่อในเรื่องเกมรับจากการใช้ปรัชญา Catenaccio
และแมน ยูไนเต็ดในยุคที่มีสุดยอดสามประสานตัวรุกอย่าง เดนิส ลอว์ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1964, บ็อบบี้ชาร์ลตัน ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1966 และ จอร์จ เบสต์ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1968
ซึ่งเบนฟิก้านั้นได้พ่ายแพ้ต่อทั้งสามทีมไปทีมละฤดูกาลหลังจากที่สามารถคว้าแชมป์สมัยที่สองได้สำเร็จซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับพวกเขาที่มันได้กลายเป็นครั้งสุดท้ายของเบนฟิก้าในการสัมผัสถ้วยใบใหญ่ของยุโรป และจนถึงทุกวันนี้ก็ผ่านมาเกือบ 60 ปีแล้วพวกเขาก็ยังคงไร้วี่แววที่จะได้กลับไปสัมผัสถ้วยใบนี้อยู่ดี
สองแชมป์ยุโรปเมื่อราว 60 ปีก่อนของเบนฟิก้าที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะถูกเพิ่มเติมเสียที
เบนฟิก้าในปัจจุบันยังคงไร้วี่แววที่จะกลับมาคว้าแชมป์ยุโรปที่รอคอยมาแสนยาวนาน
ยูเซบิโอ้ ในวัยชราผู้ที่ยังคงเฝ้าคอยการกลับมาเป็นแชมป์ยุโรปอีกครั้งของเบนฟิก้า
เบนฟิก้าแห่งช่วงทศวรรษ 1960 = ชนะเลิศ 2 ครั้งจากการเข้าชิง 5 ครั้ง
อันดับที่ 8 เรอัล มาดริดแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 2000
เรอัล มาดริด สโมสรฟุตบอลจากสเปนที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือหลายต่อหลายคนที่นำทัพโดยเหล่าซูเปอร์สตาร์มากมายได้แก่ ราอูล กอนซาเลซ, โรแบร์โต้ คาร์ลอส, หลุยส์ ฟีโก้ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 2000 และ ซีเนดีน ซีดาน ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1998 กับยูเวนตุสก่อนจะย้ายมามาดริด
ซีเนดีน ซีดาน,ราอูล กอนซาเลซ,หลุยส์ ฟีโก้,โรแบร์โต้ คาร์ลอส(เรียงจากซ้ายไปขวา)
แต่ทว่ากลับมีกุนซือเพียงสามคนเท่านั้นที่สามารถพาทีมชุดนี้คว้าแชมป์รายการใหญ่ได้
ได้แก่ แชมป์ลาลีกา ลีกสูงสุดของสเปนในฤดูกาล 1996–97 โดยฟาบิโอ คาเปลโล่
,แชมป์ถ้วยใหญ่ของยุโรปในฤดูกาล 1997–98 โดยจุ๊ปป์ ไฮย์เกส
และแชมป์ลาลีกาในฤดูกาล 2000–01 และ 2002–03 กับแชมป์ถ้วยใหญ่ของยุโรปในฤดูกาล 1999–2000 และ 2001–02 โดยบิเซนเต้ เดล บอสเก้
ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลงานของเรอัล มาดริดในลีกนั้นไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าที่ควรสวนทางกลับในยุโรปที่พวกเขากลับสามารถชนะรวดได้ทุกครั้งที่เข้าชิงได้เลยทีเดียว
ฟาบิโอ คาเปลโล่ ยอดกุนซือชาวอิตาลี (Planet Football)
จุ๊ปป์ ไฮย์เกส(คนซ้าย) ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวเยอรมัน
บิเซนเต้ เดล บอสเก้ ยอดกุนซือชาวสเปน
เรอัล มาดริดแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 2000 = ชนะเลิศ 3 ครั้งจากการเข้าชิง 3 ครั้ง
อันดับที่ 7 บาเยิร์น มิวนิคแห่งช่วงทศวรรษ 1970
บาเยิร์น มิวนิค สโมสรฟุตบอลจากเยอรมัน(ที่ณ ขณะนั้นยังคงเป็นเยอรมันตะวันตกอยู่) ที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือหลายต่อหลายคน แต่ทว่าในบรรดากุนซือเหล่านั้นมีเพียงสองคนที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อนอยู่นั่นก็คือคนแรก อูโด ลัทเทค, คนที่สอง เดทท์มาร์ เครเมอร์
อูโด ลัทเทค ยอดกุนซือชาวเยอรมัน
เดทท์มาร์ เครเมอร์ ยอดกุนซือชาวเยอรมัน
พวกเขาทั้งสองสามารถพาทีมบาเยิร์นที่นำทัพโดยฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์ ผู้เล่นบัลลงดอร์ 2 สมัยในปี 1972 และ 1976 และ แกร์ด มุลเลอร์ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1970 ประสบความสำเร็จทั้งในบุนเดสลีก้า ลีกสูงสุดของเยอรมันและฟุตบอลถ้วยใหญ่ของยุโรป
โดยทางลัทเทคสามารถคว้าแชมป์ลีกไปได้ถึง 3 สมัยในฤดูกาล 1971–72, 1972–73 และ 1973–74 กับแชมป์ยุโรปอีก 1 สมัยในฤดูกาล 1973–74
และเครเมอร์สามารถต่อยอดจากลัทเทคโดยการคว้าแชมป์ยุโรปได้ต่อเนื่องไปอีกถึง 2 สมัยในฤดูกาล 1974–75 และ 1975–76
ดังนั้นจึงทำให้บาเยิร์นชุดนั้นสามารถชนะรวดได้ทุกครั้งที่เข้าชิงไม่พอแถมยังสามารถทำได้ติดต่อกันถึงสามปีซ้อนเลยทีเดียว
แกร์ด มุลเลอร์(ซ้าย)และฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์(ขวา) สองยอดผู้เล่นชาวเยอรมัน
แชมป์สามปีซ้อนที่แสนภาคภูมิใจของบาเยิร์น มิวนิค
บาเยิร์น มิวนิคแห่งช่วงทศวรรษ 1970 = ชนะเลิศ 3 ครั้งจากการเข้าชิง 3 ครั้งติดต่อกัน
อันดับที่ 6 อาแจกซ์แห่งช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1970
อาแจกซ์ สโมสรฟุตบอลจากฮอลแลนด์ที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของไรนุส มิเชลส์ ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งปรัชญาสายเกมบุก Total Football
มิเชลส์ได้นำปรัชญานี้พาอาแจกซ์คว้าแชมป์เอเรอดีวีซี ลีกสูงสุดของฮอลแลนด์ไปได้ถึง 4 สมัยในฤดูกาล 1965–66, 1966–67, 1967–68 และ 1969–70 และยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้ 1 สมัยจากการเข้าชิงถึง 2 ครั้งในฤดูกาล 1968–69 และ 1970–71
ซึ่งฤดูกาลที่ได้แชมป์ได้แก่ฤดูกาล 1970–71 ด้วยการนำทัพของโยฮัน ครัฟฟ์ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1971 (ซึ่งต่อมาครัฟฟ์จะได้รางวัลนี้เพิ่มเติมอีก 2 สมัยในปี 1973 และ 1974 กับบาร์เซโลน่า) และพีท ไคเซอร์
ไรนุส มิเชลส์ ยอดกุนซือชาวฮอลแลนด์
โยฮัน ครัฟฟ์ ยอดผู้เล่นชาวฮอลแลนด์
พีท ไคเซอร์ ยอดผู้เล่นชาวฮอลแลนด์
ครัฟฟ์กับไคเซอร์ สองคู่หูผู้นำทัพอาแจกซ์
อย่างไรก็ตามเส้นทางความสำเร็จของอาแจกซ์นั้นยังไม่จบเพียงเท่านี้เมื่อต่อมาสเตฟาน โควัชส์ได้เข้ามาคุมทีมต่อจากมิเชลส์ ซึ่งในยุคของโควัชส์นั้นเขาสามารถสานต่อปรัชญาของมิเชลส์ได้ดีเกินกว่าที่มิเชลส์เคยทำไว้เสียอีก
โดยการคว้าแชมป์ลีกไปได้ 2 สมัยในฤดูกาล 1971–72 และ 1972–73 และที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือการคว้าแชมป์ยุโรปเพิ่มต่อเนื่องไปอีก 2 สมัยในฤดูกาล 1971–72 และ 1972–73
ดังนั้นจึงทำให้อาแจกซ์ในยุคนั้นสามารถเข้าชิงได้ถึง 4 หนไม่พอแถมยังสามารถคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันได้อีกด้วย
สเตฟาน โควัชส์ ยอดกุนซือชาวโรมาเนียผู้เข้ามาสานปรัชญาต่อจากมิเชลส์ได้สำเร็จ
อาแจกซ์แห่งช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1970 = ชนะเลิศ 3 ครั้งจากการเข้าชิง 4 ครั้ง
อันดับที่ 5 เอซี มิลานแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990
เอซี มิลาน สโมสรฟุตบอลจากอิตาลีที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของอาร์ริโก้ ซาคคี่ ผู้เป็นปรมาจารย์และผู้คิดค้นปรัชญาสายดุดัน Shadow Play
ซาคคี่ได้นำปรัชญานี้พาเอซี มิลานคว้าแชมป์ลีกไปได้ 1 สมัยในฤดูกาล 1987–88 และไฮไลท์สำคัญนั่นก็คือการกวาดแชมป์ยุโรปได้ถึง 2 สมัยติดต่อกันจากการเข้าชิงทั้ง 2 ครั้งในฤดูกาล 1988–89, 1989–90
ด้วยการนำทัพของสามทหารเสือชาวฮอลแลนด์อย่างมาร์โก้ ฟาน บาสเท่น ผู้เล่นบัลลงดอร์ 3 สมัยในปี 1988, 1989 และ 1992, รุด กุลลิท ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1987 และ แฟรงค์ ไรจ์การ์ด
อาร์ริโก้ ซาคคี่ ยอดกุนซือชาวอิตาลี
แฟรงค์ ไรจ์การ์ด(ซ้าย),ฟาน บาสเท่น(กลาง)และรุด กุลลิท(ขวา) สามทหารเสือแห่งเอซี มิลาน
ซึ่งต่อมาหลังจากซาคคี่อำลาทีมไปก็เป็นทางฟาบิโอ คาเปลโล่ที่เข้ามาคุมทีมแทน แต่ทว่าคาเปลโล่กลับไม่เลือกที่จะสานต่อปรัชญาของซาคคี่ต่อไปและใช้วิธีการของตนเองแทน
อย่างไรก็ดีถึงแม้คาเปลโล่จะไม่ได้สานต่อปรัชญาของซาคคี่แต่เขาก็สามารถสานต่อความสำเร็จของซาคคี่ต่อไปได้ดีเลยทีเดียวโดยการคว้าแชมป์ลีกไปได้ 4 สมัยในฤดูกาล 1991–92, 1992–93, 1993–94 และ 1995–96 และที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือการคว้าแชมป์ยุโรปเพิ่มอีก 1 สมัยจากการเข้าชิงถึง 3 ครั้งในฤดูกาล 1992–93, 1993–94 และ 1994–95
ดังนั้นจึงทำให้เอซี มิลานในยุคนั้นสามารถพิชิตถ้วยใหญ่ของยุโรปได้ถึง 3 สมัยจากการเข้าชิงได้มากถึง 5 หนเลยทีเดียว
ฟาบิโอ คาเปลโล่ ยอดกุนซือชาวอิตาลีผู้สานต่อแต่เพียงความสำเร็จของซาคคี่เท่านั้น
เอซี มิลานแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 = ชนะเลิศ 3 ครั้งจากการเข้าชิง 5 ครั้ง
อันดับที่ 4 บาร์เซโลน่าแห่งช่วงปลายทศวรรษ 2000 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 2010
บาร์เซโลน่า สโมสรฟุตบอลจากสเปนที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือหลายต่อหลายคน แต่ทว่าในบรรดากุนซือเหล่านั้นมีเพียงสามคนที่สามารถพาบาร์ซ่าประสบความสำเร็จได้และยิ่งไปกว่านั้นทั้งสามยังเป็นถึงสามผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Tiki Taka (ปรัชญา Total Football ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยโยฮัน ครัฟฟ์ที่บาร์ซ่า)
โยฮัน ครัฟฟ์ อดีตยอดผู้เล่นสมัยเป็นยอดกุนซือที่บาร์ซ่า
ซึ่งได้แก่คนแรก แฟรงค์ ไรจ์การ์ด ผู้พาบาร์ซ่าคว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยในฤดูกาล 2004–05 และ 2005–06 อีกทั้งยังสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้อีก 1 สมัยในฤดูกาล 2005–06 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นยุคสมัยแห่งความเป็นมหาอำนาจของบาร์ซ่าที่อยู่ในช่วงเวลาการนำทัพของโรนัลดินโญ่ ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 2005 และเดโก้
แฟรงค์ ไรจ์การ์ด ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวฮอลแลนด์
โรนัลดินโญ่ ยอดผู้เล่นชาวบราซิล
เดโก้ ยอดผู้เล่นชาวโปรตุเกส
ต่อมาคนที่สอง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งปรัชญา Tiki Taka ที่สามารถขัดเกลาปรัชญานี้จนสุกงอมได้สำเร็จและนำพาบาร์ซ่าสานต่อความเป็นมหาอำนาจโดยการคว้าแชมป์ลีกไปได้ถึง 3 สมัยในฤดูกาล 2008–09, 2009–10 และ 2010–11 อีกทั้งยังสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้อีกถึง 2 สมัยในฤดูกาล 2008–09 และ 2010–11
ซึ่งบาร์ซ่าที่นำทัพโดยลิโอเนล เมสซี่ ผู้เล่นบัลลงดอร์ 5 สมัยในปี 2009, 2010, 2011, 2012 และ 2015(ซึ่งต่อมาเมสซี่จะได้รางวัลนี้เพิ่มเติมอีก 1 สมัยในปี 2019), ชาบี เอร์นานเดซ และอันเดรส อิเนียสต้า ถือว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งไร้เทียมทานอย่างมากเหนือทุกทีมในเวลานั้นเลยทีเดียว
เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวสเปน
ชาบี เอร์นานเดซ(ซ้าย),อันเดรส อิเนียสต้า(กลาง),ลิโอเนล เมสซี่(ขวา) สามยอดผู้เล่นอัจฉริยะแห่งบาร์ซ่า
และคนสุดท้าย หลุยส์ เอ็นริเก้ ผู้เข้ามาต่อลมหายใจของความเป็นมหาอำนาจของบาร์ซ่าที่หลังจากเป๊ปอำลาทีมไปก็ไม่อาจมีกุนซือคนไหนจะสามารถสานต่อปรัชญาและความสำเร็จของเป๊ปได้ดีเท่าที่ควรจะเป็นนัก
จนกระทั่งการมาถึงของเอ็นริเก้ซึ่งเขาสามารถพาบาร์ซ่ากลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 2 สมัยในฤดูกาล 2014–15 และ 2015–16 อีกทั้งยังสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้อีก 1 สมัยในฤดูกาล 2014-15
ด้วยการนำทัพของลิโอเนล เมสซี่ ยอดผู้เล่นชาวอาร์เจนติน่าและยอดผู้เล่นคนอื่นๆจากทีมชุดเดิมที่เริ่มโรยราลงของเป๊ปที่เพิ่มเติม เนย์มาร์ และ หลุยส์ ซัวเรส เข้ามาจนกลายเป็นสามประสานกองหน้าที่ดีที่สุดแห่งยุคนั้นเลย
ดังนั้นด้วยฝีมือของยอดกุนซือทั้งสามผนวกกับสุดยอดผู้เล่นจึงต้องทำให้บาร์ซ่าในยุคนั้นสามารถชนะรวดได้ทุกครั้งที่เข้าชิงทั้ง 4 หนเลยทีเดียว
หลุยส์ เอ็นริเก้ ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวสเปน
หลุยส์ ซัวเรส(ซ้าย),เนย์มาร์(กลาง),ลิโอเนล เมสซี่(ขวา) สามประสานกองหน้าที่ดีที่สุดแห่งยุค
บาร์เซโลน่าแห่งช่วงปลายทศวรรษ 2000 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 2010 = ชนะเลิศ 4 ครั้งจากการเข้าชิง 4 ครั้ง
อันดับที่ 3 เรอัล มาดริดแห่งช่วงทศวรรษ 2010
เรอัล มาดริด สโมสรฟุตบอลจากสเปนที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือหลายต่อหลายคนที่นำทัพโดยเหล่าซูเปอร์สตาร์มากมายได้แก่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ผู้เล่นบัลลงดอร์ 5 สมัยในปี 2008(กับแมนยูก่อนจะย้ายมามาดริด), 2013, 2014, 2016 และ 2017, ลูก้า โมดริช ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 2018, เซร์คิโอ รามอส, โทนี่ โครส, เมซุต โอซิล และชาบี อลอนโซ่
ลูก้า โมดริช(ซ้ายบน),คริสเตียโน่ โรนัลโด้(กลางบน),โทนี่ โครส(ขวาบน),ชาบี อลอนโซ่(ซ้ายล่าง),เซร์คิโอ รามอส(กลางล่าง),เมซุต โอซิล(ขวาล่าง)
แต่ทว่ากลับมีกุนซือเพียงสามคนเท่านั้นที่สามารถพาทีมชุดนี้ฝ่าวิกฤติจากการที่บาร์เซโลน่าคู่ปรับคู่อาฆาตที่อยู่ร่วมลีกเดียวกันนั้นกำลังเป็นมหาอำนาจทั้งในสเปนและยุโรปอยู่ในณ ขณะนั้น
ซึ่งกุนซือคนแรกได้แก่ โชเซ่ มูรินโญ่ ผู้พามาดริดพ้นจากล้มเงาของบาร์ซ่าได้เป็นคนแรกด้วยการปลดล็อคคว้าแชมป์ลีกได้ 1 สมัยในฤดูกาล 2011–12 หลังจากต้องทนดูบาร์ซ่าของเป๊ปกวาดแชมป์ลีกไปสามสมัยติดต่อกันก่อนหน้านั้น แต่อย่างไรก็ตามมูรินโญ่กลับทำได้เพียงแค่ในลีกสเปนเพียงเท่านั้น
โชเซ่ มูรินโญ่ ยอดกุนซือชาวโปรตุเกส
ต่อมากุนซือคนที่สองได้แก่ คาร์โล อันเชล็อตติ ผู้เข้ามาสานภารกิจที่ค้างคาของมูรินโญ่โดยอันเชล็อตติสามารถพามาดริดกลับมาคว้าแชมป์ยุโรปได้สำเร็จ 1 สมัยในฤดูกาล 2013–14 แต่ทว่าอันเชล็อตติกลับล้มเหลวในลีกสเปนสวนทางกลับมูรินโญ่ไปซะอย่างงั้น
คาร์โล อันเชล็อตติ ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวอิตาลีผู้เคยพาเอซี มิลานครองยุโรปได้สำเร็จ
และกุนซือคนสุดท้ายได้แก่ ซีเนดีน ซีดาน ซึ่งเขาเป็นถึงผู้ช่วยของอันเชล็อตติในชุดคว้าแชมป์ยุโรปจึงทำให้เขาได้ซึมซับวิชามาพอสมควรและได้นำพามาดริดกลับมายิ่งใหญ่เหนือบาร์ซ่าได้สำเร็จด้วยการกวาดแชมป์ยุโรปไปถึง 3 สมัยติดต่อกันในฤดูกาล 2015–16, 2016–17 และ 2017–18 อีกทั้งยังสามารถคว้าแชมป์ลีกได้อีก 1 สมัยในฤดูกาล 2016–17
ซีเนดีน ซีดาน อดีตยอดผู้เล่นสมัยเป็นผู้ช่วยของอันเชล็อตติ
ก่อนจะกลายเป็นยอดกุนซือผู้พามาดริดพ้นจากร่มเงาของบาร์ซ่าได้สำเร็จ
ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในยุคนั้นที่บาร์ซ่าครองความยิ่งใหญ่อยู่ก่อนแล้วนั้นทำให้เป็นเรื่องยากอย่างมากที่เรอัล มาดริดจะโงหัวขึ้นมาได้แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถทำได้สำเร็จด้วยการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่บาร์ซ่าด้วยการชนะรวดได้ทุกครั้งที่เข้าชิงทั้ง 4 หนเหมือนที่บาร์ซ่าเคยทำได้มาก่อน แต่อย่างไรก็ตามมาดริดก็ทำได้เพียงแค่ในยุโรปเท่านั้น
เรอัล มาดริดแห่งช่วงทศวรรษ 2010 = ชนะเลิศ 4 ครั้งจากการเข้าชิง 4 ครั้ง*สามารถชนะเลิศได้ถึง 3 ครั้งติดต่อกัน
อันดับที่ 2 ลิเวอร์พูลแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1980
ลิเวอร์พูล สโมสรฟุตบอลจากอังกฤษที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของบ็อบ เพสลี่ย์ ซึ่งถือเป็นทีมมหาอำนาจของฟุตบอลอังกฤษที่นำทัพโดยเควิน คีแกน(ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นผู้เล่นบัลลงดอร์ 2 สมัยในปี 1978 และ 1979 กับฮัมบูร์ก), เคนนี่ ดัลกลิช, แกรม ซูเนสส์ และอลัน แฮนเซ่น
บ็อบ เพสลี่ย์ ยอดกุนซือชาวอังกฤษ
เควิน คีแกน,แกรม ซูเนสส์,อลัน แฮนเซ่น,เคนนี่ ดัลกลิช(เรียงจากซ้ายไปขวา)
ด้วยขุมกำลังผู้เล่นเหล่านี้จึงทำให้ลิเวอร์พูลนั้นมีความแข็งแกร่งอย่างมากจนยากจะหาทีมไหนมาล้มได้และยิ่งไปกว่านั้นด้วยผลงานการคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1(ชื่อของลีกสูงสุดของอังกฤษก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ลีก) ได้ถึง 6 สมัยในฤดูกาล 1975–76, 1976–77, 1978–79, 1979–80, 1981–82 และ 1982–83
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็นทีมชุดนี้สามารถกวาดแชมป์ยุโรปไปได้อีกถึง 3 สมัยจากการเข้าชิงทั้ง 3 ครั้งในฤดูกาล1976–77, 1977–78 และ 1980–81 แต่ความสำเร็จของลิเวอร์พูลนั้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้เมื่อโจ เฟแกนเข้ามาคุมทีมต่อจากเพสลี่ย์
โจ เฟแกน ยอดกุนซือชาวอังกฤษผู้เข้ามาสานความสำเร็จต่อจากเพสลี่ย์
ซึ่งเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวังโดยเฟแกนสามารถต่อยอดความสำเร็จของเพสลี่ย์ด้วยการคว้าแชมป์ลีกไปได้อีก 1 สมัยในฤดูกาล 1983–84 แถมยังสามารถคว้าแชมป์ยุโรปเพิ่มอีก 1 สมัยจากการเข้าชิงถึง 2 ครั้งในฤดูกาล 1983–84 และ 1984–85 ซึ่งฤดูกาลที่ได้แชมป์ได้แก่ฤดูกาล 1983–84 ดังนั้นจึงทำให้ลิเวอร์พูลในยุคนั้นสามารถพิชิตถ้วยใหญ่ของยุโรปได้ถึง 4 สมัยจากการเข้าชิงได้มากถึง 5 หนเลยทีเดียว
ลิเวอร์พูลแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1980 = ชนะเลิศ 4 ครั้งจากการเข้าชิง 5 ครั้ง
อันดับที่ 1 เรอัล มาดริดแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงช่วงทศวรรษ 1960
เรอัล มาดริด สโมสรฟุตบอลจากสเปนที่ในช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของกุนซือหลายต่อหลายคนที่นำทัพเหล่าซูเปอร์สตาร์มากมายได้แก่ อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ ผู้เล่นบัลลงดอร์ 2 สมัยในปี 1957 และ 1959, เรย์มอนด์ โคปา ผู้เล่นบัลลงดอร์ในปี 1958, ฟรานเชสโก้ เกนโต้ และเฟเรนซ์ ปุสกัส
อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่,ฟรานเชสโก้ เกนโต้,เฟเรนซ์ ปุสกัส,เรย์มอนด์ โคปา(เรียงจากซ้ายไปขวา)
ซึ่งถือเป็นทีมมหาอำนาจของฟุตบอลสเปนถึงสองทศวรรษ(ช่วงทศวรรษ1950-1960) ด้วยการกวาดแชมป์ลีกไปได้ถึง 12 สมัยในฤดูกาล 1953–54, 1954–55, 1956–57, 1957–58, 1960–61, 1961–62, 1962–63, 1963–64, 1964–65, 1966–67, 1967–68, 1968–69
ถึงแม้ความสำเร็จเหล่านี้จะมาจากกุนซือมากมายแต่เครดิตส่วนใหญ่สมควรถูกยกให้กับมิเกล มูนญอซที่สามารถคุมทีมคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 8 สมัยจาก 12 สมัยที่ได้
มิเกล มูนญอซ ยอดกุนซือและอดีตยอดผู้เล่นชาวสเปนของเรอัล มาดริด
ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เรอัล มาดริดชุดนี้จะสามารถเข้าชิงถ้วยใหญ่ของยุโรปได้ถึง 8 ครั้งในฤดูกาล 1956, 1957, 1958, 1959, 1960, 1962, 1964 และ 1966 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาตร์ฟุตบอลยุโรปที่เคยมีมาเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นมาดริดชุดนี้ยังสามารถเก็บชัยชนะได้ถึง 6 สมัยจาก 8 ครั้งที่เข้าชิงในฤดูกาล 1956, 1957, 1958, 1959, 1960 และ 1966 ซึ่งถือว่ามากที่สุดเช่นกันและที่สำคัญพวกเขายังเป็นทีมเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถกวาดแชมป์ยุโรปได้ถึง 5 ฤดูกาลติดต่อกันเป็นทีมแรกและทีมสุดท้ายจนถึงปัจจุบัน
อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่กับแชมป์ยุโรป 5 สมัย
ด้วยเหตุนี้ถ้าจะบอกว่าเรอัล มาดริดในยุคนั้นเป็นทีมมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สามารถครองยุโรปได้ยาวนานที่สุดก็คงจะไม่ผิดอะไร เพราะว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีทีมมหาอำนาจยุคไหนที่จะสามารถครองยุโรปได้ยาวนานเท่าพวกเขาอีกเลย
เรอัล มาดริดแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงช่วงทศวรรษ 1960 = ชนะเลิศ 6 ครั้งจากการเข้าชิง 8 ครั้ง
อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าเรอัล มาดริดแห่งช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงช่วงทศวรรษ 1960 จะเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดอยู่ดีเนื่องจากยุคสมัยที่ต่างกันนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาของแทคติกต่างๆ,การพัฒนาของเทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทำให้ผู้เล่นฟิตกว่าแต่ก่อน, กฎกติกาที่แตกต่างกัน, ปริมานการแข่งขันที่มากขึ้น และจำนวนคู่แข่งที่มีฝีมือที่มากขึ้น เป็นต้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทีมที่อยู่ต่างยุคต่างสมัยกันนั้นเมื่อต้องจับมาเผชิญหน้ากันผลจะออกมาเป็นเช่นไร
เรียงไทม์ไลน์ของทั้ง 11 ทีม
และรูปภาพโดย
โฆษณา