11 มิ.ย. 2020 เวลา 10:00
นักดาราศาสตร์สร้างสถิติ
ค้นพบดาวหางซึ่งมีหางยาวที่สุด
เท่าที่เคยมีการศึกษาบันทึกไว้
ดาวหางเป็นเศษซากโบราณจากการก่อเกิดของระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์จึงสนใจศึกษาดาวหางเพื่อหาทางไขปริศนาการกำเนิดของระบบสุริยะ รวมทั้งโลกของเรา
นักดาราศาสตร์หลายคนยังเชื่ออีกว่าน้ำและโมเลกุลอินทรีย์ซึ่งเป็นหน่วยมูลฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตได้เดินทางมายังโลกพร้อมกับดาวหางตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ดังนั้นการศึกษาดาวหางอาจจะให้คำตอบเกี่ยวกับการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก เมื่อ 6 ปีที่แล้วองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรปหรือ ESA ถึงกับส่งยานอวกาศชื่อ Rosetta ออกไปโคจรรอบดาวหางเพื่อศึกษาองค์ประกอบของมันอย่างใกล้ชิด [1]
สำหรับคนทั่วไปแล้ว ดาวหางดูเหมือนกับดาวตกที่ไม่มีวันตกลงสู่พื้น หัวของดาวหางเหมือนดาวสุกสว่าง และหางของมันทอดยาวทาบทับท้องฟ้าในยามราตรี
เมื่อมองดาวหาวแล้วบางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า หางของมันยาวเท่าไรกันนะ? มันจะทอดยาวกี่กิโลเมตร มันจะไกลเท่าจากโลกถึงดวงอาทิตย์หรือเปล่า? เมื่อเร็วๆ นี้นักดาราศาสตร์ได้ให้คำตอบที่น่าเหลือเชื่อแก่เรา [2]
หัวของดาวหางคือก้อนน้ำแข็งสกปรกที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเปลือกหินและฝุ่นอวกาศ เมื่อมันเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้วแสงอาทิตย์จะอุ่นน้ำแข็งที่อยู่ภายใต้รอยแยกของเปลือกหินจนร้อนระเหยเป็นไอแล้วพวยพุ่งออกพร้อมกับฝุ่นที่เกาะอยู่ตามเปลือกหิน แสงอาทิตย์จะออกแรงผลักให้ฝุ่นและไอน้ำทอดตัวเป็นทางยาวในทิศทางพุ่งออกจากดวงอาทิตย์ นี่คือ “หางฝุ่น” ของดาวหาง [3]
ดาวหางยังมีอีกหาง เรียกว่า “หางไอออน”
แสงอาทิตย์มักจะมาพร้อมกับอนุภาคเคลื่อนที่เร็วสูงที่เรียกว่าลมสุริยะ อนุภาคเหล่านี้สามารถชนอะตอมไฮโดรเจนของไอน้ำจนทำให้อะตอมไฮโดรเจนแตกตัวออกเป็นประจุโปรตอนและประจุอิเล็กตรอน จากนั้นประจุโปรตอนจะถูกผลักโดยลมสุริยะให้เคลื่อนที่เป็นทางยาวออกจากดวงอาทิตย์กลายเป็น “หางไอออน” ถึงแม้ว่าหางไอออนอาจจะมองไม่เห็นด้วยตา แต่มันทอดยาวเป็นทางนับล้านกิโลเมตร ไกลยิ่งกว่าหางฝุ่น
ในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ปี ค.ศ. 2002 ยานคาสสินี (Cassini) ของนาซาเดินทางเข้าไปในบริเวณอวกาศระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสและดาวเสาร์ เซนเซอร์บนยานคาสสินีตรวจจับการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของจำนวนอนุภาคโปรตอน แต่นักดาราศาสตร์ในขณะนั้นยังไม่สามารถอธิบายความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ได้
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักดาราศาสตร์จากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ย้อนกลับไปดูข้อมูลดังกล่าวเมื่อ 18 ปีที่แล้ว พวกเขาสังเกตเห็นว่าบริเวณนั้นเคยมีดาวหางชื่อ 153P/Ikeya-Zhang โคจรผ่านไปสองสามสัปดาห์ก่อนที่ยานคาสสินีจะเดินทางผ่านเข้าไป ดังนั้นทีมนักดาราศาสตร์จึงลงความเห็นว่า เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ยานคาสสินีได้บังเอิญเดินทางเข้าไปในส่วนของหางไอออนของดาวหาง 153P/Ikeya-Zhang จึงทำให้มันตรวจจับโปรตอนได้เยอะผิดปกติ [2]
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า อนุภาคโปรตอนของหางไอออนที่ยานคาสสินีตรวจจับได้อยู่ห่างจากส่วนหัวของดาวหาง 153P/Ikeya-Zhang เป็นระยะทาง 980 ล้านกิโลเมตร หรือ 6.55 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ และเมื่อคำนวณความยาวของหางไอออนแล้วพบว่ามันยาวมากกว่า 7.5 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ ซึ่งนับว่าเป็นหางที่ยาวที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการศึกษาและสังเกตดาวหาง ทุบสถิติของของดาวหาง Hyakutake ซึ่งมีหางยาวเป็นระยะทาง 3.8 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ [4]
โฆษณา