Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TongRerd Creator
•
ติดตาม
11 มิ.ย. 2020 เวลา 11:45 • การศึกษา
Cell with Life (เซลล์กับชีวิต)
เซลล์ (cell) หน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต ถ้าเราเรียกสิ่งนั้นว่า
‘สิ่งมีชีวิต’ (organism) แน่นอนว่าสิ่งนั้นจะต้องมี ‘เซลล์’ เป็นองค์ประกอบ
TongRerd (ต้องเริ่ด)
บทความแรกของเพจ เพราะชีวะ คือชีวิต Mouth BIO จึงขอนำเสนอเรื่องราวของเซลล์
ผ่านข้อสอบวิทยาศาสตร์ ONET ปี 62 ของน้องๆ ม.3 ที่เพิ่งสอบไปเมื่อ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เรามาเริ่มกันเลยนะคะ
ข้อสอบ ONET ม.3 วิชาวิทยาศาสตร์ ปี 2562 ข้อ 1 จาก สทศ.
โจทย์กำหนดสถานการณ์ในห้องเรียนที่กำลังศึกษาเรื่องเซลล์สิ่งมีชีวิตผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (light microscope) โดยนำกล่องใส่สไลด์ตัวอย่างที่จะศึกษา ซึ่งกล่องนั้นเป็นสไลด์เซลล์พืช จากนั้นศึกษา และบันทึกผลลงในตาราง
สไลด์ตัวอย่างมี 4 สไลด์ โดยส่วนประกอบที่ศึกษานั้น ประกอบด้วย 5 ส่วนดังนี้
1. ผนังเซลล์ (cell wall) เป็นส่วนห่อหุ้มเซลล์ที่อยู่ด้านอกสุดของเซลล์ มีความแข็งแรงมาก เพราะมีองค์ประกอบเป็นเซลลูโลส (cellulose) ซึ่งพบในผนังเซลล์พืช ทำหน้าที่ปกป้อง และทำให้เซลล์คงรูปร่างอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ (kingdom animalia) อย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีผนังเซลล์นะคะ
https://micro.magnet.fsu.edu/cells/plants/cellwall.html
2. เยื่อหุ้มเซลล์ (plasma membrane) ส่วนประกอบนี้สำคัญมากค่ะ เพราะเซลล์ทุกเซลล์ ไม่ว่าจะคน พืช สัตว์ แบคทีเรีย ต้องมี ‘เยื่อหุ้มเซลล์’ เพราะถ้าไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ แล้วองค์ประกอบอื่นๆ ภายในเซลล์จะอยู่ยังไง ถูกไหมคะ?
ถ้าเป็นในเซลล์พืช เยื่อหุ้มเซลล์จะอยู่ถัดเข้ามาจากผนังเซลล์ แต่ถ้าเป็นเซลล์สัตว์ จะอยู่ชั้นนอกสุดเลยค่ะ ทำหน้าที่ห่อหุ้มเซลล์ ควบคุม และกำหนดว่าสารใดสามารถผ่านเข้าออกจากเซลล์ได้บ้าง หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ‘เยื่อเลือกผ่าน’ (semipermeable membrane) นั่นเองค่ะ
https://www.khanacademy.org/science/high-school-biology/hs-cells/hs-the-cell-membrane/a/structure-of-the-plasma-membrane
3. คลอโรพลาสต์ (chloroplast) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากๆ เลยค่ะ เพราะถ้าไม่มีคลอโรพลาสต์ โลกของเรา จบสิ้นแน่ๆ ... ขนาดนั้นเลยหรอ??
ใช่ค่ะ เพราะคลอโรพลาสต์เป็นออแกเนลล์ (organelle) ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) หรือชื่อเต็มๆ คือ กระบวนการสังเคราะห์อาหารด้วยแสง พบเฉพาะในสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตนเอง (autotroph) เช่น พืช สาหร่ายสีเขียว แบคทีเรียบางชนิด ไม่พบในสัตว์นะคะ คนก็ไม่พบค่ะ
ดังนั้นคลอโรพลาสต์จึงสำคัญต่อโลกของเรามาก เพราะถ้าไม่มีออร์แกเนลล์นี้ เราทุกคน สิ่งมีชีวิตทุกตัวบนโลก ก็จะไม่มีอาหารนั่นเองค่ะ สงสัยหรือเปล่าคะ?? อาหารที่ว่า คืออะไร??
อาหารที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงก็คือ น้ำตาลกลูโคส (glucose) ที่จะไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของพืช จนกลายเป็นแป้ง (starch) แล้วสัตว์ รวมถึงคน ก็ไปกินพืชเป็นอาหาร เพื่อใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิต และสร้างเนื้อเยื่อให้ร่างกายนั่นเองล่ะค่ะ
เห็นไหมล่ะคะ ถ้าไม่มีคลอโรพลาสต์ พวกเราแย่แน่!!
https://micro.magnet.fsu.edu/cells/chloroplasts/chloroplasts.html
4. แวคิวโอล (vacuole) ถุงบรรจุสารภายในเซลล์ พบทั้งในพืช และสัตว์เลยค่ะ ในพืชจะมีขนาดใหญ่ มีจำนวนน้อย แต่ในสัตว์จะมีขนาดเล็ก จำนวนมากกว่าต่อเซลล์ แวคิวโอลมีหลายชนิดค่ะ
ฟูดแวคิวโอล (food vacuole) บรรจุอาหาร รอย่อย พบในโพรโตซัว (protozoa) เช่น อะมีบา (amoeba) พารามีเซียม (paramecium)
คอนแท็คไทล์แวคิวโอล (contractile vacuole) กำจัดน้ำส่วนเกินออกจากเซลล์ ถ่ายเทของเหลวภายในเซลล์
แซบแวคิวโอล (sap vacuole) บรรจุสารสี สารพิษ ของพืช
https://micro.magnet.fsu.edu/cells/plants/vacuole.html
อันสุดท้ายแล้วค่ะ
5. นิวเคลียส (nucleus) ถือว่าเป็นหัวใจของเซลล์ก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่มีเจ้านี่ เซลล์นั้นจะกลายเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว แต่ก็ไม่เสมอไปค่ะ เพราะก็มีเซลล์ที่เมื่อพัฒนาขึ้นมา นิวเคลียสก็อาจจะหายไปได้เช่นกัน เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง (erythrocytes) ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (mammal) พอเซลล์พัฒนาขึ้นมาสมบูรณ์แล้ว นิวเคลียสจะหายไปค่ะ
นิวเคลียสทำหน้าที่ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของเซลล์ทั้งหมด และภายในนิวเคลียสยังมีองค์ประกอบที่สำคัญมากของสิ่งมีชีวิต นั่นคือ โครโมโซม (chromosome) ที่บรรจุสารพันธุกรรม หรือ DNA ของสิ่งมีชีวิตเอาไว้นั่นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตก็อยู่ภายในนิวเคลียสนี่แหละค่ะ
อีกอย่างคือ ไม่พบนิวเคลียสในสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรมอเนอรา (kingdom monera) หรือพวกแบคทีเรียนั่นเองค่ะ ดังนั้นเซลล์ของแบคทีเรียจึงเรียกว่า prokaryotic cell ซึ่งไม่มีนิวเคลียส ส่วนเซลล์ของสัตว์ พืช ฟังไจ โพรโตซัว มีนิวเคลียส เรียกว่า Eukaryotic cell
https://micro.magnet.fsu.edu/cells/plants/nucleus.html
เป็นยังไงกันบ้างคะ กับองค์ประกอบของเซลล์ นี่ยังมีแค่ 5 องค์ประกอบเท่านั้นนะคะ แต่ที่จริงแล้วภายในเซลล์ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายเลยค่ะ แต่เนื่องจากข้อสอบข้อนี้ เป็นของน้องๆ ม.3 เนื้อหาเลยยังไม่มากเท่าพี่ๆ ม.ปลาย
กลับมาที่โจทย์ข้อนี้กันนะคะ โจทย์ถามว่า สไลด์ตัวอย่างใด เป็นสไลด์เซลล์สัตว์ที่ปนมาอยู่ในกล่องสไลด์เซลล์พืชกล่องนี้
ข้อสอบข้อนี้ เป็นข้อแจกคะแนนก็ว่าได้ค่ะ ไม่ยากเลย เราต้องไปดูที่ช่อง ผนังเซลล์ และ คลอโรพลาสต์ เพราะ 2 ส่วนประกอบนี้ พบเฉพาะในเซลล์พืช ดังนั้นถ้าสไลด์ตัวอย่างใด ไม่มี ผนังเซลล์ กับ คลอโรพลาสต์ ก็ตอบได้เลยค่ะ
รู้คำตอบกันแล้วใช่ไหมคะ??
ตอบตัวเลือกที่ 2) สไลด์ A และ สไลด์ C นั่นเองค่ะ ที่เป็นเซลล์สัตว์
เพราะ 2 สไลด์นี้ ไม่มี ผนังเซลล์ กับ คลอโรพลาสต์ เป็นส่วนประกอบนั่นเอง
ต้อง (ชื่อผู้เขียนนะคะ ^^) สรุปให้ในภาพรวมอีกครั้งในตารางนี้นะคะ
เป็นยังไงบ้างคะ กับเรื่องราวของ ‘เซลล์’ หน่วยพื้นฐานเล็กๆ เล็กมาก เล็กที่สุด ที่เป็นพื้นฐานของพวกเราทุกคน หวังว่าทุกคนจะสนุกกับบทความนี้ของ ต้อง นะคะ
ถ้าอยากอ่านบทความต่อไป ฝากกด Follow ไว้ด้วยนะคะ 🙏
ต้อง จะมานำเสนอบทความทางชีววิทยา ผ่านข้อสอบของเด็กๆ ในสนามต่างๆ
ได้ประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะได้ย้อนกลับไปนึกถึงสมัยเรียน และยังได้เชื่อมโยงหลักการทางชีววิทยา กับการดำเนินชีวิตของเราได้ด้วย ส่วนประโยชน์โดยตรงคงตกไปที่น้องๆ วัยเรียนที่สามารถนำไปใช้ในการเรียน การสอบได้อย่างแน่นอนค่ะ
ทำความเข้าใจชีวิต ผ่านชีววิทยา ไปกับ ต้อง นะคะ
เพราะชีวะ คือชีวิต Mouth BIO ค่ะ
อ้อ!! เกือบลืมค่ะ ถ้าอยากชมเวอร์ชั่นภาพเคลื่อนไหว
ฝากกด Subscribe YouTube channel ของ ต้อง ด้วยนะคะ
TongRerd
ตาม link ด้านล่างนี้เลยนะคะ มีคลิปติวสอบวิชาชีวหลากหลายสนาม
ลองกดเข้าไปชมกันนะคะ
youtube.com
TongRerd
TongRerd (ต้องเริ่ด) เป็นชื่อที่เพื่อนๆ เรียกเราจนติดหู จนต้องยอมรับชื่อนี้มาเป็นชื่อตัวเองโดยปริยาย แต่จะเรียก ”ต้อง” เฉยๆ ก็ได้ค่ะ Channel ของเราจะนำเสนอ L...
ขอบคุณค่ะ 🙏
1 บันทึก
11
17
3
1
11
17
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย