12 มิ.ย. 2020 เวลา 01:53 • บันเทิง
[รีวิวอัลบั้ม] Notes On A Conditional Form - The 1975
[รีวิวอัลบั้ม] Notes On A Conditional Form - The 1975
-ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าวงอินดี้อัลเทอเนทีฟจากเมืองปีศาจแดงอย่าง The 1975 ไปได้ไกลเกินกว่าวงอินดี้ปกติที่กลุ่มแฟนเพลงค่อนข้าง niche แต่ตอนนี้แทบจะเป็นความ niche ที่ใหญ่โตเป็นพิเศษ สังเกตได้จากยอดขายตั๋วคอนเสิร์ตในบ้านเราหมดวันแรกจนต้องเปิดรอบสอง นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความแมสของวงในระดับนึง ความแมสของวงน่าจะเป็นการที่พวกเขาเป็นวงดนตรีที่พยายาม update ทันยุคทันสมัยอย่างเห็นได้ชัด ทุกอัลบั้มแทบจะเปลี่ยนสไตล์ไปเรื่อย ไม่ได้ยึดติดความเป็นป็อปร็อคอย่างที่เคยเป็นในอัลบั้มแรก ซึ่งพวกเขาก็โดนสื่อนึงสับเละเทะ โดนจวกราวกับไปทำบาปตั้งแต่ชาติปางก่อน จนอัลบั้มต่อๆมา พวกเขาดันกลายเป็นลูกรักของสื่อนั้นขึ้นมาเฉ๊ย ราวกับเริ่มอยู่เป็น
-ทั้งนี้พวกเขาก็ไม่ได้ทำเพลงเอาใจนักวิจารณ์ซะทีเดียว การไม่มีกรอบตายตัวและกล้าเป็นกระบอกเสียงก็นำพาให้พวกเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด ยิ่งคาแรคเตอร์ส่วนตัวของ Matty ที่ดูเหมือนติสต์ แต่แอบเล่นโซเชี่ยลเก่งชิบหาย การสร้างซุ่มเสียง electronic ambient มาเป็นตัวชู signature ก็เป็นปัจจัยที่มากพอสำหรับการเป็นวงดนตรี voice of generation แห่งยุคดิจิตอลที่โดดเด่นทันยุคและหมั่นอัพเดทเวอร์ชั่นอยู่บ่อยๆ มันเลย viral ได้มากกว่าชาวบ้านเค้า ยิ่งอัลบั้มที่ 3 ABIIOR เป็นตัวชี้ชัดถึงการก้าวออกจาก comfort zone ที่เคยมีจากสองงานแรกได้อย่างเต็มภาคภูมิ แล้วอัลบั้มชุดล่าสุดนี้ล่ะ?
-ต้องยอมรับว่า NOACF ทำตัวฟุ้งซ่านกว่าคนอื่นเค้า ละทิ้งการจัดเรียงทิศทางความต่อเนื่องในแบบที่สามอัลบั้มก่อนเคยเป็น ถ้าฟังต่อกัน Track by Track ต้นยันปลายม้วนจะค้นพบถึงความกระโดดไปมา ไม่มีแม้กระทั่งการแบ่งองก์ใดๆทั้งสิ้น นี่อาจทำให้คนที่ชื่นชอบพวกเขามาตลอดอาจมีตะขิดตะขวงใจได้เลยหนึ่ง สองคือการเลือกปล่อยซิงเกิ้ล 7 เพลงเรียกน้ำย่อยไปพลางๆในช่วงแห่งการเลื่อนปล่อยอัลบั้มทุกเพลงที่ปล่อยมานั้นก็แทบจะเป็นไฮไลต์ เป็นตัวแทน represents ทิศทางแนวเพลงอันแตกกระจายที่มีอยู่ในอัลบั้มนี้เลยก็ว่าได้ จนเพลงอื่นๆในอัลบั้มกลายเป็นแค่เพลงชั้นรองซิงเกิ้ลนั้นๆโดยปริยาย
-ชุดที่ 3 เป็นความไม่ตายตัวในแนวเพลงก็จริง แต่ในแง่ของคอนเซปท์และตีมชัดเจน ผิดกับชุดนี้ที่ไม่มีอะไรตายตัวแทบทั้งสิ้น มีการเติมช่องว่างไว้เยอะด้วยการแทรก instrument tracks ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเพลงแถมที่มีเพลงที่มีคำร้องมาพร้อมกับ instrument tracks ที่มีทำนองคลองธรรมคล้ายๆกับเดบิวต์อัลบั้มแรก วงเล็บ deluxe version นั้นแล แต่ด้วยจำนวน 22 แทร็ค run time มากกว่า 80 นาที เป็นการหลอกตาให้เห็นถึงความเล่นใหญ่จนมันนิยามเป็นแอลพีอัลบั้มได้ แต่ผมกลับคิดว่านี่ไม่ใช่อัลบั้ม มันคือคอลเลคชั่นเพลย์ลิสท์ !!!
-ทุกสิ่งอย่างใน NOACF แทบจะหยิบร่องรอยของอดีตและปัจจุบันของวงมาผสมปนเปกัน แต่เผอิญว่าขาดความแนบเนียนในการจัดเรียงและจัดสรรปริมาณไปหน่อยมันเลยดูล้นและล่องลอยผิดคาดจากธงที่ตั้งไว้ บางทีพวกเขาอยากจะจบยุคของ Music For Cars ไปเสียดื้อๆก็เป็นได้ ถ้าจะให้นิยามของชุดนี้ซักอย่าง มันก็คือไอ้พวกวงดนตรีที่ยังคงทำตัวอีโม มีความสมาธิสั้น ปัดหน้าจอไปมา วิตกจริตต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีสเตตัสให้ได้เห็นในหน้าฟีดบ่อยๆ
-ไม่ว่าจะเป็นการเชื้อเชิญน้องหนู Greta Thunberg มากล่าวสุนทรพจน์ให้ทุกคนตระหนักถึงภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังใน Title Track ซึ่งแหกธรรมเนียมการ intro ของวงที่เคยมีมาตลอดทั้ง 3 อัลบั้มที่ผ่านมา แทนที่พวกเขาจะร้อง intro ไรบางอย่างเพื่อบอกทิศทางของอัลบั้ม กลับกลายเป็นให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆอนาคตของชาติดีๆคนนึงพูดให้เราฟังแทน ซึ่งต่อมาทางวงเองก็ประกาศจุดยืนตามน้องหนูคนนี้ด้วย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ CD และ Tape Cassettes ที่ทำขาย physical copy โดยใช้ packaging เป็นกระดาษคราฟท์รีไซเคิลด้วย
ปกอัลบั้ม Notes On A Conditional Form เวอร์ชั่น Physical Copy
-หลังจากที่ฟังเด็กเสี้ยมสอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักถึงโลกร้อนมากกว่านี้แล้ว พวกเขาไม่รอช้าที่จะโหมกระหน่ำพังค์ร็อค ประชดประชันความชิบหายวายป่วงของพวกมึงๆทั้งหลายที่ขี้เกียจและไม่สนฮีแตดอะไรทั้งนั้นในเพลง People ซิงเกิ้ลนำร่องของวงที่เดือดดาลสุดเท่าที่เคยทำมา ปลุกชาวมนุษย์ high technology ทั้งหลายให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ใช่แต่อยู่บนหน้าจอที่บ้าน เหลือเวลาอีกหนึ่งพันวันจันทร์ (12ปี) ถ้าพวกมึงไม่#Save🌍 ความหายนะของภาวะโลกร้อนจะมาเยือนได้
-แทร็คบรรเลงเพลงแรก The End (Music For Cars) เป็นการ rearrange เพลง Hnscc ที่อยู่ในอีพีอัลบั้ม Music For Cars เนี่ยแหละ ในเวอร์ชั่นเก่าจะดิบๆสากๆหน่อย แต่พอมาเข้าสู่การปิด era โหมดคลาสสิคออเครสตร้าทำออกมาได้อย่างขนลุก เห็นได้ถึงความที่วงไปได้ไกลจนมันสามารถทำอะไรอลังการได้ถึงเพียงนี้ หรือแม้กระทั่ง Shiny Collarbone ก็สามารถผสมผสาน house music กับ dancehall ได้ตื่นตาตื่นใจชวนนึกถึง Jamie XX ผมไม่ได้อะไรกับการแทรกแทร็ค instrument มาก เริ่มจะชินกับแนวทางแบบนี้ตั้งแต่งานชุดที่ 2 แล้วที่ทำอะไรยาวๆ ขอพื้นที่คนทำเพลงหลักในวงอย่าง George Daniel ได้ปล่อยของบ้างใน Having No Head กันยาวๆ 6 นาทีกว่า
-Yeah I Know และ What Should I Say เหมือนทางวงนึกสนุกกับการชิวทำเพลง bedroom pop เล่นออโต้จูนจนสนุกมือ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นความล้นๆที่กลบเสียงมนุษย์จริงๆไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งเพลงหลังทำให้นึกถึง Bon Iver เวอร์ชั่นฝึกหัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ที่เจริญรอยตามในสิ่งที่วงรุ่นพี่เคยทำออกมาจนมันชูศิลปะเอกลักษณ์ประจำวง ถ้าทำตามก็คงไม่แพรวพราวเท่า ยิ่งเห็นตัวอย่างเพลงออโต้จูนในชุดนี้แล้วกลับทำให้เพลง I Like America & America Likes Me ดูดีขึ้นมาทันที
-ความที่พวกเขาก้าวพ้นอาถรรพ์ในช่วงอัลบั้ม 2-3 ได้ก็นับว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่กล้าพอลองหยั่งเชิงแนวเพลงร้อยแปดเอามายำปนเปรวมในเพลงได้ อย่างที่เห็นใน The Birthday Party เป็นการยำอคลูสติคคันทรี่กับอิเล็กทรอนิกส์ที่ weird จนผมบรรยายความรู้สึกไม่ถูกเหมือนกันว่าเพราะหรือไม่เพราะดี ? statement ในเพลงนี้ช่างล่องลอย ชิวแบบแปลกๆเหมือนเข้าไปอยู่ในชุมชนลับโลกออนไลน์ แทนที่มันจะเป็นสิ่งที่ทดแทนยาเสพติดที่แมตตี้เคยเล่น กลับกลายเป็นความเหงาหงอยอันแสนแห้งแล้งในโลกเสมือนแทน
-ถึงจะเจอความ weird การใช้ลูกเล่นที่ดันเป็นความพิลึกจนคนฟังขมวดคิ้วขึ้นเป็นระยะๆ หรือการเว้นช่องว่างไว้เยอะจัดแล้ว ผมก็ยังคิดว่า พวกเขาไม่คิดสั้นเลือกที่จะระเบิดตัวเองซะทีเดียว อย่างน้อยทักษะการแต่งเพลงของ Matty แอนด์เดอะแก๊งค์ก็เป็นอาวุธลับที่ดีพอในการลับคม อย่างที่เราเห็นได้ในซิงเกิ้ล Me & You Together Song ที่ยังรักเสมอมา เป็น Teen Brit-pop ที่แข็งแรงหนักแน่นในแบบที่คนเกิดในยุคเฝ้าหน้าปัดวิทยุโหยหามานาน พวกเขาเก่งมากในการทำเพลงเศร้าให้ออกมาเท่ห์และงดงาม มีเพลงในแบบที่รองลงมาอย่าง Then Because She Goes มันเป็นป็อปพังค์ที่ดันใหม่ด้วยมิติเสียงเอคโค่แทรกเข้ามาราวกับเหมือนความคิดอันสับสนตีกันในหัว หลังจากเลิกรากับแฟน If You’re Too Shy (Let Me Know) เป็นความเหงายุค 4.0 ที่แอบน่ารัก มีความจู๋จี๋ โดดเด่นด้วยแซกโซโฟนช่วยเพลงซาบซ่าคึกคักขึ้นมาจริงๆ โคตรเล่นใหญ่ เตรียมพร้อมเขย่าสเตเดี่ยมทุกเมื่อ
-การแซมด้วย Lo-Fi Hip Hop ซักนิดใน Nothing Revealed/Everything Denied เปิดอกคุยด้วยบรรยากาศสบายๆ แฝงไปด้วยดราม่าน้อยใจเต็มไปหมด พยายามเลิกโกหกตัวเอง สารภาพบาปว่า ไม่เคยมีเซ็กส์กับใครในรถตามที่เคยร้องในเพลงอื่นบ่อยๆ มีท่อนแร็พออโต้จูน ไอ้เราก็นึกว่า Tyler The Creator ยุค Goblin เข้าสิงรึไง Tonight (I Wish I Was Your Boy) นี่ก็ขึ้นต้นด้วยออโต้จูนเสียงเจี๊ยวจ๊าว ลูกเล่นแบบนี้นึกถึง Kanye West ยุคมาสคอตพี่หมีมากๆ ทำนองป็อปบอยแบนด์สุดเฟรนด์ลี่ แต่ก็เหงาหงอยแห้วรับประทานอยู่ดี
-บริบทเพลงโฟลค์ก็มาอย่าง Jesus Christ 2005 God Bless America ยังคงประชดประชันหลักธรรมศาสนาคริสต์ที่กีดกันเพศสภาพอย่างที่เรารู้กัน ได้ Phoebe Bridgers มาร่วมถ่ายทอดความอึดอัดใจกับครอบครัวที่ยังไม่ยอมรับเพศสภาพ bisexual จนไม่สามารถมีความรักในแบบของตัวเอง Playing On My Mind อีกหนึ่งโฟล์คซองในลักษณะทอล์กโชว์พูดไปเรื่อยเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของวง, การดัดนิสัยให้ใช้ชีวิตอย่างคลีนๆ, ทัศนคติความรักในโลกออนไลน์ที่เปรียบเปรยกับการช้อปปิ้งเสื้อผ้าออนไลน์ ถ้าไม่ลองจริงก็ไม่รู้ว่ามันจะสวมใส่ได้พอดีมั้ย ? เหมือนกับคบคนในออนไลน์ที่เห็นกันแค่หน้าจอตัวอักษร ไม่ใช้ชีวิตทางกายร่วมกัน จะรู้ได้ไงว่า เค้าเข้ากับเราได้ นึกถึงเพจเสี่ยวๆแชร์คำคมเลยแหะ
-ประเด็น social anxiety ยังคงเป็นประเด็นที่พวกเขายังใช้เป็นช่องทางระบายได้เสมอ Frail State of Mind คือ TOOTIMETOOTIMETOOTIME เวอร์ชั่นหม่นๆอึมครึม หนักด้วยการต่อสู้อาการเสี้ยนยาอันหนักอึ้งสุดกระวนกระวายตอนที่ Matty เลิกยาได้ใหม่ๆ I Think There’s Something You Should Know พยายามสื่อสารถึงเพื่อนที่มองตัวเองด้อยค่าอยู่ตลอดเวลา (Imposter Syndrome) รวมถึงตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่กับการแลกความสำเร็จที่มาพร้อมกับสุขภาพจิตดาวน์ๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รีฟเปียโน drumkit เพลงนี้แข็งแรงและแพรวพราว
-อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คงหนีไม่พ้น การหยอดสตอรี่ของวงเล็กๆน้อยๆ เหมือนเราได้ส่อง documentary อย่างพอสังเขปของวง The 1975 ไม่ว่าจะเป็น Roadkill มาในสไตล์อเมริกันโร้ดคันทรี่จนแทบจะลืมว่าวงนี้มาจาก UK นี่หว่า ยิ่งสองแทร็คสุดท้ายโคตร family business มากๆ ทั้ง Don’t Worry ที่เอาเพลงที่คุณพ่อ Tim Healy เคยแต่งไว้ โคตรโรแมนติกซึ้งมากๆ ถ้าตัดออโต้จูนออกไปจะงดงามกว่านี้มาก ไม่ใช่ผมเกลียดออโต้จูนนะครับ แต่สำหรับเพลงนี้ใส่กลิ่น robotic ผิดเวลาไปหน่อย ไม่รู้เหมือนกันว่าทางวงจะปล่อยรูปแบบ acoustic มาให้ฟังหรือไม่? อันนี้ก็ไม่แน่
-พอมาถึง Guys ปุ๊บ เหมือนจะไม่ใช่บทสรุปของอัลบั้มซะทีเดียว เพราะทุกอย่างที่ผ่านมาแทบระคนไปหมด แต่นี่คือการจบแบบวกกลับมาที่คนใกล้ตัวที่สุด นั่นก็คือ เพื่อนๆร่วมวงที่คอยร่วมทางจนมีกันวันนี้ต่างหาก ผมเองก็แปลกใจตอนปล่อยซิงเกิ้ล เหมือนสปอยล์เพลงปิดท้ายอัลบั้มล่วงหน้าเลย แต่พอมาบรรจบที่แทร็คสุดท้ายก็เออออกับการปิดท้ายในรูปแบบนี้ ซึ่งมันทำให้แฟนเพลงรู้สึกอิ่มเอมใจจริงๆ ไม่อยากคิดว่าเป็นการสั่งลา มันเป็นความน่ารักของไอ้เพื่อนที่ดังที่สุดอยากจะขอบคุณเพื่อนชายที่ขับเคลื่อนความฝันมาโดยตลอด หอมหวานยิ่งกว่าความรักแฟนหนุ่มสาวก็มิตรภาพเนี่ยแหละ
-อย่างที่แมตตี้บอกแหละ มันคือความพยายามของวงที่อยากจะกลับบ้านไปทำสิ่งที่พวกเค้าอยากทำ นึกสนุกอยากทดลองเหมือนเด็กฟอร์มวงดนตรีแล้วอัพผลงานลงโซเชี่ยล แน่นอนมันคือการจบยุคการเดินทางแบบ Music For Cars ที่พวกเค้าจงใจมาตลอดสายอาชีพ ยิ่งวกเข้าสู่สภาพแวดล้อมครอบครัวแบบสองแทร็คสุดท้ายก็พอจะเดาได้ว่า พวกเขาอยากจะพักหรืออยากจะทิ้งสิ่งเดิมไปสู่อะไรใหม่ๆก็เป็นได้ มันไม่ใช่อัลบั้มที่ดีที่สุดอย่างที่ทุกคนเห็นตรงกัน แต่ก็ไม่แย่ถึงขึ้น explode ตัวเองขนาดนั้น เพียงแค่พวกเขารู้สึกเป็นอิสระมากพอที่จะไม่ยึดติดกับแบบฟอร์มหรือ traditional อันตายตัวก็เท่านั้น
-การที่บางสื่อชอบเอาพวกเขาไปเทียบชั้น Radiohead หรือ Coldplay ก็ดูจะไวและไกลตัวเกินไปหน่อย นี่ขนาดทำถึงสี่อัลบั้มแล้ว อันนี้เห็นด้วย จำนวนแทร็คที่เยอะจนเป็นอุปสรรคในการตะลุย ความไม่ชัดเจนในคอนเซ็ปท์ดั่งใจหวังแบบเซ็งกันถ้วนหน้า และไม่มีอะไรที่ล้ำพอเทียบเท่ากับชุดก่อนแน่นอน อย่างไรก็ตามพวกเขาก็กล้าพอที่จะแหกกฎโดยที่ไม่จำเป็นต้องง้อคนฟังให้เข้าใจในสิ่งที่เค้าสื่ออยู่แล้ว สิ่งที่ได้จากการฟังมาตลอดเกือบเดือนคือ บางทีเราก็ยึดติดว่าต้องเข้าใจ Message เกินไปรึเปล่าหว่า? ในเมื่อพวกเขาไม่ได้จงใจโฟกัสแกนหลักตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราจะมามัวเสียเวลาทำเข้าใจมันอีกทำไม
บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกสิ่งอย่างก็ได้นี่หว่า
Top Tracks: The 1975 (NOACF), People, The End (Music For Cars), Then Because She Goes, Roadkill, Me & You Together Song, There’s Something You Should Know, If You’re Too Shy (Let Me Know), Playing On My Mind, Don't Worry, Guys
Give 6.5/10
Thanks For Reading
See Y’all
โฆษณา