12 มิ.ย. 2020 เวลา 06:32 • ปรัชญา
เมื่อฉันเป็นมะเร็ง … กำลังใจสำหรับ ครูน้อง มินตรา และทุกคนที่กำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วย
“ผลการตรวจชิ้นเนื้อบ่งชี้ว่า … คุณเป็นมะเร็ง”
… คำบอกเล่าของหมอที่ดูเหมือนจะเนิบนาบ แต่ตากลับจ้องมองคอยดูปฏิกิริยาของฉันอยู่อย่างไม่กระพริบ …
… ฉันเป็นมะเร็ง … ฉันเป็นมะเร็ง … คำที่วนเวียนอยู่ในหัวซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ขณะที่ฉันนั่งฟังหมอพูด
ฉันเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้บ่อยๆ และเอาใจใส่ที่จะไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ … คืนวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ฉันนอนตะแคงดูทีวี แล้วมือบังเอิญไปแตะเจอก้อนแข็งๆที่เต้านมข้างหนึ่ง …
ฉันกังวลอยู่บ้างแต่ไม่คิดว่าจะเป็นอะไรมากมาย ด้วยเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้ ฉันเพิ่งจะไปตรวจสุขภาพแบบ Intensive Health Check หรือการตรวจสุขภาพแบบละเอียด รวมทั้งการทำ เมมโมแกรม เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม และผลการตรวจก็ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะมีโรคร้ายแรงชนิดใดในร่างกายของฉัน
วันรุ่งขึ้นฉันไปโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ หมอให้ฉันไปทำเมมโมแกรมซ้ำอีกครั้ง … ผลการตรวจพบว่าฉันมีก้อนเนื้อที่เต้านมข้างหนึ่ง
“ลักษณะของก้อนเนื้อกลมมาก เหมือนลูกปิงปอง … หมอมั่นใจ 95% ว่าไม่ใช่มะเร็ง (เซลล์มะเร็งจะมีลักษณะที่แผ่กิ่งก้านออกไปรอบๆเหมือนขาปู จึงมีชื่อว่า Cancer) อาจจะเป็นแค่ซีสธรรมดาๆ แต่ควรจะผ่าออก” หมอให้ความเห็น
“ผ่าพรุ่งนี้เลยก็ได้ค่ะ” ฉันบอกหมอ ด้วยไม่ต้องการให้มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ มาเป็นแขกที่ไม่ได้เชิญ มาอาศัยร่างกายของฉันเป็นบ้าน ประกอบกับเคยผ่าตัดมาแล้วหลายครั้ง จึงรู้สึกเฉยๆกับคำว่า “ผ่าตัด”
“งั้นหมอจะผ่ารอบๆก้อนเนื้อเผื่อเอาไว้สำหรับ 5% ที่อาจจะเป็นเซลล์มะเร็ง” หมอให้ความมั่นใจ
วันรุ่งขึ้นการผ่าตัดผ่านไปอย่างเรียบร้อย … จนมาถึงช่วงเวลารับทราบผลการตวรจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ
“คุณเป็นมะเร็งเต้านม ชนิดที่เรียกว่า Squaremus cell … มะเร็งเต้านมชนิดที่หายากที่สุดในโลก ในเมืองไทยยังไม่มีเคสนี้ และเราไม่รู้วิธีรักษาที่ได้ผลแน่นอน”
“เราผ่าตัดไปแล้ว เซลล์มะเร็งถูกรบกวน ผมขอแนะนำว่า ควรจะผ่าตัดอีกครั้งเพื่อตัดเต้านมทิ้งไปเลย” หมอบอกฉันด้วยท่าทางที่ไม่ค่อยมั่นใจนัก … ฉันตกใจในคำบอกกล่าวของหมอ แต่ยังอยู่ในอาการสงบด้วยความเคยชินอันเป็นบุคลิกปกติ ผลจากการฝึกจากทำงานรับผิดชอบในระดับสูงสุดในองค์กรที่ฉันทำงาน
ฉันตัดสินใจที่จะไม่ผ่าตัดในทันที แต่ขอปรึกษาหมอที่เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งของโรงพยาบาลเดียวกัน ผู้ซึ่งเคยทำงานรักษาคนป่วยมะเร็งในอเมริกามายาวนาน แต่ได้ย้ายกลับมาเมืองไทยเพื่อใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในแผ่นดินแม่
“หมอไม่เคยรักษามะเร็งชนิดนี้มาก่อน และใน medical journal บอกเอาไว้ว่าในระยะกว่า 30 ปีในอเมริกามีคนไข้ชนิดนี้เพียง 17 รายเท่านั้น จึงไม่มีบันทึกที่บอกให้รู้ว่าการรักษามะเร็งชนิดนี้ต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด” ... หมอรักษามะเร็งบอกฉันตรงไปตรงมา และแนะนำให้ฉันไปทำ PET Scan ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อตรวจหาจุดที่อาจจะเป็นมะเร็งทั่วร่างกาย
ฉันไม่มีความมั่นใจและเชื่อถือวิธีการรักษาของหมอที่โรงพยาบาลดังกล่าวอีกต่อไป จึงตัดสินใจย้ายมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามคำแนะนำของลูกที่กำลังเรียนแพทย์สาขาเฉพาะในโรงพยาบาลนี้
โชคดีที่ได้เป็นคนไข้ของคุณหมอที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านนี้ที่สุด ที่ศูนย์รักษามะเร็งเต้านมสิริกิติ์ ซึ่งมีชื่อเสียงในการรักษาแบบ Conservation หรือเป็นการพยายามรักษาโดยไม่ตัดเต้านมทิ้งหากไม่จำเป็นจริงๆ
การรักษาเริ่มแรก เป็นช่วงที่ตรวจค้นหาแหล่งกำเนิดของมะเร็งชนิดนี้ ด้วยเหตุที่ มะเร็งชนิด Squaremus cell ตามทฤษฎีแล้วไม่ควรจะเกิดที่เต้านม น่าจะเป็นการแพร่กระจายมาจากที่อื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ฉันก็จะเป็นมะเร็งขั้นที่ 4 อันเป็นระยะสุดท้ายแล้ว … หมอให้ฉันรับการตรวจทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพื่อหาต้นตอของปัญหา … ขูดมดลูก .. เจาะคอ 10 ครั้ง .. สอดท่อดูกระเพาะอาหาร และทางเดินหายใจ .. CT Scan .. MRI .. Memmogram และอีกมากมาย
ในระหว่างการตรวจรักษา คุณหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำเคสของฉันเข้าเป็นเคสที่ต้องทำ Conference หมายความว่าเป็นเคสที่ต้องมีหมอที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาประชุมกันฟังผลการติดตาม และให้ความเห็นจากหมอเฉพาะด้านทุกด้าน (Professional Opinion) และเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย … เรียกว่าเป็นเคสตัวอย่างที่หายาก
ประมาณ 5 เดือนผ่านไป … การสืบหาต้นตอของมะเร็งไม่พบว่าแพร่กระจายมาจากส่วนอื่นๆของร่างกาย หมอจึงต้องยอมรับว่าต้นตอมะเร็งในร่างกายฉันคงเกิดจากเต้านมนี่แหละ และนัดทำการผ่าตัดซ้ำ โดยการคว้านรอบๆแผลผ่าตัดครั้งแรก และไม่พบเซลล์มะเร็งในชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาครั้งใหม่ … แต่อย่างไรก็ตามฉันต้องไปโรงพยาบาลทุกวันในช่วงต้นๆ เพื่อรับการฉายแสง และต้องทำการตรวจติดตามผลเป็นระยะๆ จนกระทั่งปัจจุบัน
หากถามฉันว่า ฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง …
... ฉันตกใจอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไร ฉันสงบอย่างไม่น่าเชื่อ .. อาจจะเพราะประสบการณ์ที่ต้องทำงานรับผิดชอบหนักหนาสาหัสมายาวนาน สอนให้ฉันกอร์ปด้วยสติ ฟังให้มาก วิเคราะห์สถานการณ์ แล้ววางแผนที่จะก้าวเดินต่อไป .. ฉันตัดสินใจยุติชีวิตการทำงานที่ยาวนาน หันหลังให้กับรายได้สูงลิ่ว เพื่อมาใช้ชีวิตช้าๆ และการรักษาตัวเอง
ฉันไม่ได้หวั่นวิตกกับผลของการรักษา ไม่ว่าจะออกมาดีหรือล้มเหลวอย่างไร เพราะชีวิตที่ผ่านมานั้น ฉันผ่านมาแล้วทุกอย่าง .. ได้รู้ว่าความเป็นและความตายนั้นห่างกันแค่ลมหายใจ จากการจากไปของคนหลายๆคนที่ฉันรัก จึงไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต
… สำหรับฉันการมีชีวิต คือ ความสุข หากแต่ความตาย เป็นความสงบชั่วนิรันดรที่ทุกคนต้องเจอ
… ฉันได้ทำในสิ่งที่ฉันทำได้ดีที่สุดแล้ว เป็นแม่ที่ทุ่มเท มีลูกๆที่เป็นคนดีในสังคม ฉันทำงานอย่างทุ่มเทและประสบผลสำเร็จในเกือบทุกสิ่งที่ทำ
.. แค่นั้นแหละที่ฉันพอใจ และคิดว่าคุ้มค่าแล้วทุกอย่างที่ได้เกิดมา
ความเจ็บป่วยทำให้ฉันเข้มแข็ง ไม่ใช่เพื่อตัวเอง .. แต่เพื่อคนรอบข้าง ที่อาจจะหมดกำลังใจ และเป็นทุกข์ เป็นกังวลด้วยความรัก ความห่วงในตัวฉัน … ฉันพบว่าการที่เราเข้มแข็ง ทำให้คนรอบข้างเราไม่กังวลใจมาก และช่วยให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นมากมาย
ฉันทำตัวเหมือนคนปกติทุกอย่าง … ปฏิเสธที่จะทำตัวเป็นคนป่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงการอยู่กับตัวเองและความเจ็บป่วยมากจนเกินไป
… การก้าวเท้าออกเดินทาง แล้วนำมาเขียนบทความร้อยเรียงแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อ่าน ได้รื่นรมย์ เป็นวิธีที่ฉันจัดการกับเวลาที่มีอย่างเหลือเฟือหลังจากที่ไม่ได้ทำงาน … ปัญหาก็คือ ตอนนี้มันกลายเป็นการทำงานหนักอีกรูปแบบหนึ่ง และมากกว่าตอนที่ทำงานแล้วได้ตังค์เสียอีกค่ะ
ความเจ็บป่วย … เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถสร้างกำลังใจได้ จึงขอมอบบทความต่อไปนี้ให้กับครูน้อง มินตรา และทุกคนที่กำลังเจ็บป่วยค่ะ
เพียงเพื่อ … กำลังใจในยามเจ็บป่วย
ด้วยจิตใจที่ร่าเริง เราจะหายเร็วขึ้น
เรามาช่วยให้ตนเองและผู้อื่นได้ยิ้มและหัวเราะ
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นยารักษาโรคได้ดีที่สุด
ด้วยจิตใจที่ไม่กังวลเราจะหายเร็วขึ้น
เรามาช่วยให้ตนเองหมดกังวลด้วยการวางใจ
ทุกอย่างย่อมมีข้อดีอยู่ด้วยเสมอ
ด้วยจิตใจที่มีความหวังเราจะหายเร็วขึ้น
เรามาช่วยให้ตนเองมีโอกาสที่จะทำ ที่จะสู้อีกครั้ง
เรามีสิ่งที่ต้องทำต้องพิสูจน์รอเราอยู่อีกมากมาย
ด้วยจิตใจที่ยอมรับความจริงเราจะหายเร็วขึ้น
เรามาช่วยให้ตนเองเข้าใจถึงสิ่งที่มันต้องเป็น
เร่งร้อนและเฉื่อยชาเป็นอุปสรรคของการรักษาที่แท้จริง
ด้วยจิตใจที่มีเมตตากรุณาเราจะหายเร็วขึ้น
เรามาช่วยให้ตนเองได้สร้างบุญทำกุศลในช่วงเวลาว่าง
บุญกุศลจะทำให้เราเข้มแข็งและมีโอกาสหายมากขึ้นกว่าเดิม
ยามที่เราเจ็บป่วย
เป็นยามที่เรามีโอกาสทบทวนอดีตของเรา
เป็นยามที่เรามีโอกาสวางแผนอนาคต
ยามที่เราเจ็บป่วย
เป็นยามที่เราจะใช้เวลาอ่านหนังสือที่เราชอบ
เป็นยามที่เราจะใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก
ยามที่เราเจ็บป่วย
เป็นยามที่เราจะทดสอบความอดทน
เป็นยามที่เราจะทดสอบการควบคุมตนเอง
ยามที่เราเจ็บป่วย
เป็นยามที่เราจะรู้ซึ้งถึงน้ำใจของเพื่อน
เป็นยามที่เราจะรู้ถึงน้ำใจของคนที่เรารัก
ยามที่เราเจ็บป่วย
เป็นยามที่เราจะฝึกสังเกตอารมณ์
เป็นยามที่เราจะฝึกต่อสู้กับความคิด
เราให้กำลังใจตนเองได้
ด้วยการระลึกถึงเป้าหมายหรือความฝันของเรา
เราต้องมีสุขภาพดีอีกครั้งเพื่อทำในสิ่งที่เราฝัน
เราให้กำลังใจตนเองได้
ด้วยการระลึกถึงหน้าที่ที่จะต้องทำ
เราต้องมีสุขภาพดีอีกครั้งเพื่อจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
เราให้กำลังใจตนเองได้
ด้วยการระลึกถึงใครสักคนที่เรารัก
เราต้องมีสุขภาพดีอีกครั้งเพื่อที่จะทำให้เขามีความสุข
เราให้กำลังใจตนเองได้
ด้วยการระลึกถึงความผิดพลาดของเรา
เราต้องมีสุขภาพดีอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ตนเอง
ที่มา : หนังสือเพียงเพื่อกำลังใจ หน้า 73-77
ผู้แต่ง : วรกมล
โฆษณา