Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Daily Teacher
•
ติดตาม
13 มิ.ย. 2020 เวลา 01:50 • การศึกษา
“ตั้งเป้าหมายดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
ก่อนที่เราจะเดินทางไปไหน หรือทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งนั้นจะยากหรือง่ายเพียงใด ขอเพียงแค่เรามีการตั้งเป้าหมายที่ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วครับ
“ฉันจะเป็นครูผู้ช่วยในการสอบครั้งนี้ให้ได้”
เป็นข้อความที่ผมเขียนลงในกระดาษโพสอิท แปะไว้ข้างฝา หน้าโต๊ะอ่านหนังสือ และทุกเช้าหลังจากจิบกาแฟ ยืดเส้นยืดสายเสร็จ ก่อนอ่านหนังสือเตรียมสอบ ผมจะลงที่เก้าอี้แล้วอ่านออกเสียงให้ตังเองฟังทุกวัน
ผมพบว่า การมีเป้าหมายที่ชัดเจนเสมือนมีเข็มทิศนำทางชีวิต และบางครั้งมันก็ทำตัวเป็นเหมือนเซนเซอร์คอยตรวจจับการกระทำที่ออกนอกลู่นอกทางของเราด้วย นอกจากนี้ ผมยังพบอีกว่าถ้าคนเราทำอะไรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว วิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น และวินัย (หรือความต่อเนื่อง) จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ (ราวกับมีระบบ AI !?)
ผมอยากจะแนะนำ ผู้อ่านรู้จักกับการตั้งเป้าหมายแบบ SMART ซึ่งประกอบด้วย
S = Specific = มีความชัดเจน
M = Measurable = สามารถวัดผลได้
A = Action-oriented = ระบุเลยว่าจะทำอะไร
R = Realistic = อยู่ในความเป็นจริง และ
T = Time-defined = เป้าหมายที่ตั้งจะเสร็จเมื่อไร
1. S = Specific = มีความชัดเจน
ตอนเตรียมตัวสอบบรรจุครูผู้ช่วย ผมได้เขียนตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ตนเองจะต้องเป็นครูผู้ช่วยในการสอบครั้งนี้ให้ได้ นอกจากนี้ ผมยังเขียนลงไปในโพสอิทอีกแผ่นด้วยว่าจะต้องสอบติดให้ได้อันดับ 1 - 5 (เหตุผลเนื่องวิชาเอกที่ผมเรียนจบมานั้น เป็นสาขาขาดแคลน อืม..ขาดแคลนตำแหน่งบรรจุ!?
ดังนั้น ผมจึงต้องตั้งเป้าหมายให้สูงเข้าไว้และเตรียมตัวเข้มข้นขึ้นเป็นสองเท่า ผลปรากฎว่าได้อันดับที่ 5 พอดิบพอดี รอดตายไป) สังเกตว่าการตั้งเป้าหมายแบบนี้ มีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจนมากครับ
2. M = Measurable = สามารถวัดผลได้
กล่าวสำหรับ เนื่อหาที่จะสอบ ผมได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วน หนึ่ง เนื้อหาที่ผมมีความรู้ดีอยู่แล้ว (เช่น วิชาเอก เป็นต้น) สอง เนื้อหาที่พอรู้แต่รู้ไม่ลึก (เช่น คุณธรรม จริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพ และวิชาการศึกษา เป็นต้น) และสาม เนื้อหาที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน (เช่น กฎหมายการศึกษาและกฎหมายอื่น ๆ เป็นต้น)
คำถาม คือ ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองรู้หรือไม่รู้เรื่องอะไรบ้าง คำตอบง่ายดายมากครับ ให้หาข้อสอบเก่ามาลองทำดู โดยกำหนดเกณฑ์ไว้ คือ ตอบถูก 80% ขึ้นไป = รู้แล้ว ถ้าได้คะแนน 70 - 79% = พอรู้ และ 60 - 69% = ยังไม่รู้ (หากทำเป็นตารางได้ยิ่งดีครับ)
ดังนั้น เป้าหมายในการอ่านหนังสือของผมจึงอยู่ที่ระดับความรู้ 80% ขึ้นไปทุกวิชา ซึ่งผมทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ก่อนวันสอบประมาณ 1 เดือนพอดี ตรงนี้จะเห็นว่าเราสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้เลย
3. A = Action-oriented = ระบุเลยว่าจะทำอะไร
เราทุกคนรู้ดีว่าภายใน 1 วันนั้นมี 24 ชั่วโมง แต่ช่วงเวลาได้การอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพนั้นผมคิดว่ามีอยู่แค่ 4 - 5 ชั่วโมงในแต่ละวันเท่านั้น โดยช่วงเวลาไพรม์ไทม์ดังกล่าวของผม คือ ตอนเช้าประมาณ 04.00 - 09.00 น. ซึ่งผมจะทำตารางอ่านหนังสือคล้ายกับตารางเรียนไว้เลยครับ
โดยจะอ่านวันละหนึ่งวิชาเท่านั้น เช่น สมมุติว่าวันนี้ผมอ่านวิชาการศึกษา ผมจะใช้เวลาอ่านเนื้อหา 2 ชั่วโมง (ตั้งแต่ 04.00 - 06.00 น.) จากนั้นจะหยุดอ่านแล้วนั่งเขียนสรุปในรูปแบบทั้งแผนภาพและตัวหนังสือต่ออีก 1 ชั่วโมง (ตั้งแต่ 60.00 - 07.00 น.) ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย ทำธุระส่วนตัว ดื่มกาแฟแก้วที่สอง ประมาณราว 30 นาที และเวลาที่เหลือผมจะข้อสอบให้ได้อย่างน้อยวันละ 100 ข้อ
โดยในกรณีนี้เหมาะสมสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานไปด้วยนะครับ เนื่องจากการสอบรอบปี พ.ศ. 2561 ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง ตัวผมเองก็เคยทำงานและอ่านหนังสือไปด้วย แต่พอใกล้จะสอบประมาณ 3 เดือน ผมก็ลาออกมาทุ่มเทให้กับการอ่านหนังสืออย่างจริงจัง (ถึงขั้นทุบหม้อข้าวกันเลยทีเดียวเชียว!) ส่วนกรณีคนที่ต้องการทำงานไปด้วยก็สามารถปรับเปลี่ยนช่วงเวลาตามความเหมาะสมและบริบทชีวิตของตัวเองได้ครับ
4. R = Realistic = อยู่ในความเป็นจริง
ผมคิดว่าการที่คนเราจะทำอะไรสำเร็จได้นั้น สำคัญคือเราจะต้องไม่หลอกลวงตนเอง วางแผนอะไรเอาไว้ต้องยึดถือปฏิบัติด้วยความเคร่งครัด อ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจตรงไหน ติดขัดข้อใด ก็ยอมรับตามตรง อย่าอายที่จะถามคนอื่น หรือยอมรับในข้อกำจัดของตัวเอง เวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบเราจะถ่ายรูปลง Facebook เพื่อให้คนอื่นรับรู้และเป็นพยานก็ได้ไม่ว่ากัน แต่เราต้องอ่านและทำด้วยความสัตย์จริงนะครับ
เรื่องนี้ผมเห็นคนรู้จักใกล้ตัวหลายคนชอบถ่ายรูปลงโซเชียล ทำเสมือนว่าตัวเองกำลังอ่านหนังสืออยู่ แต่จริง ๆ ไม่ได้อ่านหรืออ่านแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ต้องระวังให้มากครับ ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะเตะท่าไหน ตรงนี้เราไม่ว่ากันครับ ขอให้มันเข้าเป้าก็พอ และที่สำคัญ คือ เราต้องไม่หลอกตัวเอง
5. T = Time-defined = เป้าหมายที่ตั้งจะเสร็จเมื่อไร
ลองสังเกตนะครับว่าถ้าเราทำอะไรแล้วมีกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน มันจะทำให้เราทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเตรียมตัวสอบครูผู้ช่วยก็เช่นกันครับ ยกตัวอย่าง เช่น ผมตั้งเป้าว่าจะอ่านทบทวนวิชาเอกให้จบทุกบทภายในเวลา 2 สัปดาห์ และได้แบ่งย่อยลงไปอีกว่า เนื้อหาส่วนไหนเยอะก็ใช้เวลามากหน่อย
ซึ่งวิชาเอกของผม คือ วิชาฟิสิกส์ โดยเนื้อหา ฟิสิกส์ ม.ปลาย ราว 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด เป็นเนื้อหาของ “กลศาสตร์” ผมก็ใช้เวลาอ่านทบทวน 1 สัปดาห์เต็ม ๆ จากนั้นก็อ่านเรื่อง “คลื่น”, “สมบัติของสสาร”, “ไฟฟ้าและแม่เหล็ก” และ “ฟิสิกส์ยุคใหม่” ตามลำดับ
สุดท้ายนี้ แม้ว่าในการสอบรอบปี พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้ หลักเกณฑ์การสอบจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าวิธีการตั้งเป้าหมายดังกล่าวยังคงใช้ได้ผลอยู่เสมอ และมันไม่สำคัญหรอกว่าข้อสอบปีนี้จะยากหรือง่ายเพียงใด ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากแค่ไหน
ทว่าสิ่งสำคัญคือวิธีคิดของเราต่างหาก เพราะการจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เราต้องเป็นที่ความคิดก่อนที่จะเป็นจริง ๆ ใช่หรือไม่? และยิ่งเราคิดชัดเจนมากเท่าใด มันก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงมากเท่านั้น
....การสอบบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้ก็เช่นกัน
9 บันทึก
21
13
9
9
21
13
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย