13 มิ.ย. 2020 เวลา 08:57 • สุขภาพ
ฟันผุเกิดขึ้นได้ยังไง? ฉลวยมีคำตอบ
ฉลวยว่าทุกๆคนก็คงเคยได้ยินหรือบางคนอาจจะมีประสบการณ์เรื่องฟันผุมาบ้าง แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้ ฟันผุก็คือการที่ตัวฟันสูญเสียแร่ธาตุออกไป ทำให้เคลือบฟัน(Enamel) หรือเนื้อฟัน(Dentine) อยู่ในสภาพที่อ่อนแอลง ลักษณะที่พบก็มีได้ตั้งแต่ จุดดำๆเล็กๆ- ลุกลามไปตามร่องฟัน - เนื้อยุ่ยๆสีน้ำตาล - เห็นเป็นโพรงกลวงโบ๋ กรี๊ดดดด
สำหรับอาการนะคะ ส่วนใหญ่แล้วฟันผุในระยะแรกเริ่มจะไม่ค่อยมีอาการ ถ้าเริ่มมีอาการก็มักจะเสียวฟัน "โดยเฉพาะตอนหม่ำอาหารหวาน หรือ อาหารเย็น(อุณหภูมิต่ำ ไม่ใช่มื้อเย็นนะคะ)" และบางคนก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นเช่น ปวดฟัน เป็นต้น
แล้วฟันผุเกิดขึ้นได้ยังไงล่ะ?
อันที่จริงแล้วถ้าจะเล่าเรื่องสาเหตุของฟันผุ ฉลวยว่าเล่าได้หลายวิธีเลยแหละ เช่นในแง่ของปัจจัย ในแง่ของพฤติกรรม หรือในแง่ของสมมุติฐาน
แต่สำหรับ post นี้ ฉลวยจะขอเล่าในส่วนของสมมุติฐานแล้วกัน เหมือนเชิงประวัติศาสตร์เนอะ ซึ่งโดยปกติแล้ว Plaque hypothesis เนี่ยจะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ทฤษฎี เรามาเริ่มกันที่ทฤษฎีแรกกันเลยนะคะ
1. Non-specific plaque hypothesis
ทฤษฎีนี้ถูกประกาศโดยคุณ Miller (Miller 1890) โดย เค้าเชื่อว่า bacteria ทุกชนิดไม่ว่าหน้าไหนในช่องปากเป็นเหตุทำให้เกิดฟันผุทั้งสิ้น ดังนั้นในสมัยนั้นเค้าก็จะหายาหรือสารอะไรใดๆมาฆ่าเชื้อในช่องปากให้หมด /กรี๊ดดด ช่วยฉลวยด้วยค่ะ/ ซึ่งในช่องปากเราพบว่ามี bacteria กว่า 700 species (Aas JA., et al, 2005) แต่จริงๆแล้ว bacteria พวกนี้เป็น normal flora หรือก็คือ bacteria ประจำถิ่น โดยพวกเค้าก็มีประโยชน์เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียบางประเภทที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ เป็นต้น หรือเราอาจจะเห็นผู้ป่วยบางคนที่ทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นเวลานานๆ มีการ overgrowth ของเชื้อราบริเวณลิ้นหรือเพดานปาก / อี๋ อิลิ้นรา ดังนั้นจึงไม่เป็นความคิดที่ดีเลยที่จะฆ่าเชื้อทั้งหมดในช่องปาก
2. Specific plaque hypothesis
สำหรับทฤษฎีนี้จะค่อนข้างต่างจากข้างบนนะคะ เสนอโดยคุณ Loesche ในปี 1976 ซึ่งมีการค้นพบว่ามีแบคทีเรียบางกลุ่มบางพวกบางตัวเท่านั้นที่ทำให้เกิดฟันผุ หรือเราเรียกว่า cariogenic bacteria ซึ่งที่ค้นพบก็จะมี Streptococcus mutans, Streptococcus sorbinus, และ Lactobacillus แล้วทำไมพวกนางถึงเก่งนักหนาล่ะค่ะ หลวยขอตอบง่ายๆ เพราะว่าพวกนางเนี่ย สามารถปล่อยกรดออกมาเพื่อที่จะมาละลายแร่ธาตุบนตัวฟัน และอีกปัจจัยที่สำคัญมากๆเลยคือพวกนางทนกรดค่ะ!! แล้วคุณๆคิดว่านักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นจะทำยังไงกันคะ...... ใช่ค่ะ พวกเค้าก็จะพยายามกำจัดนางโดย "ผลิตวัคซีน (Caries vaccine)" /หึหึ ตายไปซะ/ แต่ไม่สำเร็จค่ะ เพราะว่าจริงๆ แล้วมันมีปัจจัยต่างๆอีกมากมายที่ควบคุมอยู่ ไม่งั้นวันนี้คงไม่มีอาชีพหมอฟันหรอกค่ะ
3. Ecological plaque hypothesis
ทฤษฎีนี้เนี่ยค่อนข้างครอบคลุมนะคะสำหรับตัวฉลวย กล่าวโดยคุณ March ในปี 1994 คร่าวๆ ก็คือว่าโดยปกติแล้วช่องปากจะอยู่ในภาวะสมดุล แต่หากมีปัจจัยใดๆเข้ามาทำให้บาลานซ์เสีย ก็อาจก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ เช่น การที่เรากินของหวาน โดยเฉพาะน้ำตาล ซึ่งอิแบคทีเรียที่ฉลวยได้บอกไปตอนแรก นางก็ชอบน้ำตาลเหมือนกันค่ะ พอนางมีอาหารกิน นางก็เติบโต ขยายพันธุ์ flora ตัวอื่นๆก็แข่งโตตามไม่ทัน อีกทั้งนางยังปล่อยกรดปังๆ มาละลายฟันของเราอีก หรืออีกตัวอย่างเช่น การใส่เครื่องมือจัดฟัน ก็อาจทำให้แปรงฟันให้สะอาดได้ยากขึ้น แถมยังเป็นที่อยู่ของพวกนางได้อีก ซึ่งแนวทางการป้องกันก็คือพยายามคงสมดุลเอาไว้ ลดความถี่ในการทานหวาน เป็นต้น
4. Keystone pathogen hypothesis
อันสุดท้ายนี่กล่าวโดย Hajishengallis และคณะในปี 2012 เค้าเชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อหลายๆชีวิต เอาจริงๆก็จะคล้ายๆกับ ecological plaque hypothesis นะแต่เหมือนตีละเอียดอีกหน่อย เช่น ถ้าผึ้งสูญพันธุ์ - การผสมเกสรดอกไม้ก็จะน้อยลง - การขยายพันธุ์พืชก็จะลดลง - ซึ่งอาหารของสัตว์กินพืชก็จะลดลง - สัตว์กินพืชก็จะลดลง - สัตว์กอนเนื้อก็จะลดลง - ล่มสลายอเวจีค่ะ หรือการที่เราทำพฤติกรรมใดๆที่มีผลต่อ keystone ในช่องปาก ก็อาจนำมาสู่ขิตในที่สุดค่ะ
สำหรับวันนี้ก็พอเท่านี้ก่อนนะคะ ติชมยังไงบอกกันได้ค่ะ หรืออยากอ่านแนวไหนลองบอกมาได้นะคะ
ขอบคุณที่ทนอ่าน
ฉลวย สวยกว่าคุณ
โฆษณา